xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์ศรีชัยนาศ กษัตริย์ราชวงศ์แรกของศรีวิชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


หนังสือ เซอจาราห์ ดัน ทามาดุน บังสา มลายู (Sejarah dan tamadun bangsa Melayu)
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ดาโต๊ะ หรือ ราชาโลกิตะวรมัน (ประมาณ พ.ศ.1246-1259) พระองค์อาจเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่นักประวัติศาสตร์มาเลเซียเช่น อาหมัด เจลานี ฮาลิมิ (Ahmad Jelani Halimi) ในหนังสือ เซอจาราห์ ดัน ทามาดุน บังสา มลายู (Sejarah dan tamadun bangsa Melayu) และนักประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย เช่น เอ็ม ดี มันซูร์ (M D Mansour) ในพงศาวดารมินังกระเบา (Sejarah Minangkabau) กล่าวว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศคือโลกิตะวรมัน โดยอ้างจากหนังสือ ปุศทกะ รายา รายา อิ ภูมิ นูซันตาราที่ระบุรายพระนามของกษัตริย์ศรีวิชัยตั้งแต่ต้นจนถึงปีพ.ศ.1631 เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นหลังจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยล่มสลายไปนานนับศตวรรษ ทำให้นักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียอย่างบุคชารี (Boechari) และซุกโมโน (Soekmono) ไม่มั่นใจในความแม่นยำของหนังสือเล่มนี้ ในยุคนี้ชาวมลายูในสมาพันธรัฐศรีวิชัยอาจเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนคาบสมุทรมลายูฝั่งทะเลอันดามันทั้งที่อยู่ในไทย มาเลเซียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน เช่น ตักโกละหรือตะกั่วป่า (哥谷罗 เก๊อ-กู่-หลัว หรือ กา-กุ๊ก-ลา) ตัน-ตัน อาจจะอยู่แถวมะริด-ตะนาวศรีและปัพพาละในเมียนมาร์ เป็นต้น อาจมีการทำสงครามกับเมืองมอญโบราณที่อยู่ในบริเวณนั้นเพื่อขยายอิทธิพล ในปี พ.ศ.1257 จักรพรรดิถังเสวียนจงมีราชโองการให้ข้าหลวงหรือผู้ว่าเมืองท่าท้องถิ่นดูแลการค้าต่างประเทศและตัดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขายทำให้ขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น

ดาโต๊ะ หรือ ราชาศรีอินทราวรมัน (ประมาณ พ.ศ.1259-1271) หรือที่เอกสารจีนเซ่อฝู่หยวนกุ๊ยเรียกว่า ซื่อ-ลี่-โต่ว-ป๊า-หมอ ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับอินเดีย จีน และคาบสมุทรอารเบีย ในปีพ.ศ.1259 พระองค์ได้ส่งราชบุตรกุมาระไปเป็นทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิถังเสวียนจง (พ.ศ.1255-1294) ในปี พ.ศ.1260 พระองค์นิมนต์พระวัชรโพธิ์จากศรีลังกาที่มาที่ศรีวิชัยให้นำพุทธศาสนามหายานไปจีน อัซรา อัซยุมาร์ดี (Azra Azyumadi) นักประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ได้ศึกษาหนังสืออัล-อิฆึด อัล-ฟาริด (สร้อยคอพิเศษ) เขียนโดยอีบึน อบึด รับบิห์ (พ.ศ.1403-1483) นักวิชาการจาก อัล-อันดาลูซ (แคว้นอันดาลูเซียในสเปนปัจจุบัน) ระบุว่าในปีพ.ศ.1261 กษัตริย์อัล-ฮินด์ส่งทูตนำพระราชสาส์นกราบทูลกาหลิบ อูมาร์ อิบึน อับดุล อาซิซ แห่งราชวงศ์อุมัยยัด (พ.ศ.1260-1262) สันนิษฐานว่ากษัตริย์อัล-ฮินด์นี้น่าจะเป็นพระองค์ซึ่งเป็นราชาศรีวิชัย กาหลิบอูมาร์พระราชทาน ซันจิหรือทาสผิวดำผู้หญิงจากซันจ์เป็นของขวัญกลับมาสมาพันธรัฐศรีวิชัยให้พระองค์ โดยกล่าวกันว่าพระราชสาส์นนี้ถูกเก็บเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มาดริด ในสเปน และปีพ.ศ.1267 พระองค์ได้ส่งราชบุตรกุมาระเป็นทูตไปจีนถวาย “เฉิงจื่อ” ที่เพี้ยนมาจากซันจิในภาษาอาหรับที่ได้รับพระราชทานมาจากกาหลิบอูมาร์เป็นเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิถังเสวียนจง มีการสลักจารึกโซโจเมร์โต (พ.ศ.1268) ในเกาะชวาเป็นภาษามลายูโบราณไม่ใช่ภาษาชวาโบราณที่แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์ไศเลนทร์เป็นชาวมลายูบนเกาะชวาที่อาจจะอพยพไปจากเมืองใดเมืองหนึ่งบนเกาะสุมาตราหรือแหลมสมุทรมลายูที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและเริ่มมีอิทธิพลในเกาะชวา พระองค์อาจจะเริ่มส่งคนไปตั้งถิ่นฐานแถบโกตาเกลังงีบนแหลมมลายูเพื่อกระชับการควบคุมช่องแคบมะละกาให้ดีขึ้น

ดาโต๊ะ หรือ ราชารุทระวิกรามัน (ประมาณพ.ศ.1271-1285) หรือที่เอกสารจีนเซ่อฝู่หยวนกุ๊ยเรียกว่า หลิว-เถิง-เว่ย-กุง อาจจะเป็นราชบุตรกุมาระพระราชโอรสของมหาราชาศรีอินทราวรมันที่เคยเป็นทูตไปจีนมีตำแหน่งเรียกว่า โห-มิ-โตหรืออมะตะ พระองค์ส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิถังเสวียนจง (พ.ศ.1255-1294) ในปีพ.ศ.1271 นักเดินเรือชาวอาหรับและเปอร์เซียที่เดินทางมายังสมาพันธรัฐศรีวิชัยในยุคนี้ส่วนใหญ่มาจากอิหร่านและภาคใต้ของอิรักในปัจจุบัน เรื่องเล่าปราฮยันกัน (Carita Parahyangan) เป็นประวัติศาสตร์อาณาจักรซุนดาทางตะวันตกของเกาะชวา อินโดนีเซียตั้งแต่พทธศตวรรษที่ 13-21 กล่าวว่าราไคสัญชัยได้ยกกองทัพเรือจากมะธะรัมเข้าโจมตีสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่เมืองปาเล็มบัง มลายู (จัมบิ) และบารุสเกาะสุมาตราในปีพ.ศ.1275 เป็นเวลา 3 ปีโดยกล่าวว่าราไคสัญชัยต่อสู้กับราชาสังศรีวิชัยซึ่งอาจหมายถึงพระองค์ แล้วจึงยกทัพกลับเมืองเกอลาห์ในเกาะชวาหรืออาจจะเป็นเคดาห์ที่มีชื่อจีนว่ากา-หล่า (迦罗เจี้ย-หลัว) ในพงศาวดารเหลียงชู้ ราไคสัญชัยอาจจะเอาชนะเมืองศรีวิชัยได้บางเมืองแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หวังกงอู่สันนิษฐานว่าราชวงศ์ไศเลนทร์น่าจะเข้ามาเป็นพันธมิตรหลังจากพ.ศ.1275 และมุ่งความสนใจไปที่การค้าในเกาะชวาแต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน มีชาวมลายูจากศรีวิชัยอาศัยอยู่ที่กว่างโจวในราชวงศ์ถังจนถึงปีพ.ศ.1285 พระองค์อาจจะขยายอิทธิพลขึ้นเหนือยึดกลันตันกับซื่อ-ถู (เซี้ยก-ทั่ว)

เอกสารอ้างอิง
Azyumardi, Azra. 2006. Islam in the Indonesian World: An Account of Institutional Formation. Jakarta: Mizan Pustaka.

Ekajati, Edi Subardi. 2005. Pustaka Rajya Rajya i Bhumi Nusantara: Polemik Naskah Pangaran Wangsakerta. Jakarta: Pustaka Jaya.

Iguchi Masatoshi 井口正俊. 2015. Javanese Essay: The History and Culture of a South Country. Leicestershire, UK: Matador.

Miksic, John Norman. 2010. The A-Z of Ancient Southeast Asia. Lanham, Maryland: Scarecrow Press.

Miksic, John Norman. 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.



กำลังโหลดความคิดเห็น