xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน การก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัย เส้นทางการค้าในสมัยราชวงศ์ศรีชยนาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน



โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ศรีวิชัย ทวารวดีและเจนละเจริญขึ้นมาหลังจากฟูนันเสื่อมลง จารึกสิทธิยาตราระบุว่าสมาพันธ์รัฐศรีวิชัยที่ก่อตั้งที่ปาเล็มบังในปีพ.ศ.1226 ควบคุมกิจกรรมการค้าในช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้โดยควบคุมการค้าเครื่องหอม พระพุทธรูปและพระเครื่องจากอินเดียไปจีนแทนที่ราชวงศ์โคตมะ พระภิกษุจีนเดินทางไปอินเดียโดยเรือของชาวออสโตรเนเซียนที่มาค้าขายตามเมืองท่าของจีน ราชวงศ์โคตมะและต่อมาคือศรีวิชัยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลแทนฟูนันตั้งแต่ก่อตั้งเพราะเรือพาณิชย์สะดวกที่จะแวะในช่องแคบมะละกามากกว่าปากแม่น้ำโขงเมื่อความรู้เรื่องการเดินเรือได้พัฒนาขึ้น ฟูนัน (พนม) อาจจะไม่มีกำลังทางเรือแต่เมืองมลายูต้องส่งบรรณาการให้พนมเพราะต้องใช้เมืองท่าออกแอวเป็นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ราวพุทธศตวรรษที่ 11 ศูนย์กลางการค้าในเอเชียอาคเนย์ย้ายจากออกแอวของฟูนันแถวปากแม่น้ำโขงมายังช่องแคบมะละกา (ปาเล็มบัง) ทำให้ฟูนันเสื่อมลง เจนละที่โค่นฟูนันลงไม่มีกำลังทางเรือ ทำให้ศรีวิชัยสร้างเครือข่ายทางการค้าและค้าขายกับเจนละ เรือสินค้าจากเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ เช่นอาหรับ เปอร์เซียและอินเดียังคงผ่านช่องแคบมะละกาไปค้าขายกับจีนที่เป็นตลาดหลัก ดังนั้นจีนจึงเป็นปลายทางของสินค้าจากเอเชียตะวันตก เอเชียใต้และอุษาคเนย์ จากนั้นศรีวิชัยขยายเครือข่ายไป จัมบิ เกาะบังกา เกาะลัมพุง จนส่งออกสินค้าไปจีนที่เมืองท่ากว่างโจวและฉวนโจว และค้าขายกับราชวงศ์อุมัยยัดที่ดามัสกัส ขยายไปมะริด-ตะนาวศรี ติดต่อกับอุมัยยะห์ที่ดามัสกัส และขยายไปที่โกตาเกลังงี (ใกล้สิงคโปร์-ยะโฮร์) ทะรุมะนครที่ช่องแคบซุนดา และเคดาห์ รักตมฤติกา (เซียก-ทั่ว) ลังกาสุกะ มีการค้นพบเหรียญอับบาซิยะห์ในแหลมมลายู (ทวาราวดี) ที่แสดงการติดต่อระหว่างทวารวดีผ่านศรีวิชัยไปตะวันออกกลาง เมื่อมีกบฏต่างๆเกิดขึ้นในจีนทำให้เรือจากตะวันออกกลางผ่านศรีวิชัยไปจีนน้อย ต่อมาศรีวิชัยผูกมิตรกับราชวงศ์ไศเลนทร์บุกยึดตามพรลิงค์ ไชยา ขยายไปบาตังแถวเพคาลองกันและมะธะรัม เริ่มส่งทูตจากมะธะรัมไปจีนแทนปาเล็มบัง โจมตีเจนละ ฮานอยและจามปาขยายเครือข่ายการค้าไปกัมพูชาและยังติดต่อการค้ากับทวารวดี พยายามคุมช่องแคบมะละกาและซุนดารวมทั้งอ่าวไทยเพื่อประโยชน์ทางการค้า

จากพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมาพันธรัฐศรีวิชัยศรีวิชัยเป็นเจ้าแห่งเครือข่ายการค้าทางทะเลในชายฝั่งอุษาคเนย์ที่เชื่อมจีนกับอินเดียโดยใช้เรือแบบโครงกรอบไม้คู่เพื่อกันไม่ให้เรือโคลง ตามภาพแกะสลักนูนต่ำในบรมพุทโธ รูปของเรือนี้แสดงเครือข่ายการค้าโบราณในมหาสมุทรอินเดียที่เชื่อมระหว่างอุษาคเนย์ เกาะมาดากัสการ์และแอฟริกาตะวันออกที่เรียกว่า เส้นทางอบเชย (Cinnamon Route) สมาพันธรัฐศรีวิชัยใช้เรือแบบนี้ในการค้าขายระหว่างเกาะและเป็นกองเรือโจมตีในยุทธนาวีโดยชาวออสโตรเนเซียนใช้เรือแบบนี้สำหรับการอพยพในทะเลมานานแล้วและเดินเรือข้ามหาสมุทรอินเดียและอุษาคเนย์ ตามปกติสมาพันธรัฐศรีวิชัยกระจุกตัวอยู่ที่ช่องแคบมะละกาและซุนดา ในเกาะสุมาตรา คาบสมุทรมลายูและชวาตะวันตก มามัลลาปุรัม (มหาพลีปุรัม) และ ทัมราลิปติเป็นเมืองท่าทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียที่สำคัญในยุคศรีชัยนาศ พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียชอบมาแวะที่เมืองท่าคายาลปฏินัมและเรียกว่าเมืองนี้ว่า คายาล ส่วนเส้นทางเดินเรือของพระภิกษุชาวจีนคือ เจี้ยวจื้อ-ออกแอว-กันดาริ-นาควารี-ศรีลังกา

การก่อตั้งราชวงศ์ศรีชยนาศตามเอกสารจีน

ในบันทึกหนานไห่ ในเดือน 11 พ.ศ.1214 พระภิกษุอี้จิงเดินทางกับคณะราชทูตของจักรพรรดิถังเกาจงจากกว่างตง (กวางตุ้ง)ประเทศจีนโดยเรือของพวกเปอร์เซีย ผ่านอาณาจักรฟูนัน (พนม) มายังเมืองวิชัย (ปาเล็มบัง) โดยเรียกที่นี่ว่าซิต-ลี่-พุท-เจย (室利佛逝ซื่อ-ลี่-โฝ-ซื่อ) และอาศัยอยู่เป็นเวลา 6 เดือนก่อนที่จะเดินทางต่อผ่านเมืองเคดาห์ ผ่านหมู่เกาะคนเปลือยนิโคบาร์ (นาควารี) และเดินทางต่อไปที่อินเดีย เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา พระภิกษุอี้จิงบันทึกไว้ว่า พุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองในเมืองศรีวิชัย ชาวมลายูในยุคนั้นส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ได้ติดต่อกับพ่อค้าอาหรับมุสลิมที่เดินทางผ่านเพื่อไปยังประเทศจีน พระภิกษุอี้จิงแวะเคดาห์ 2 ครั้งคือ พ.ศ.1216 และ พ.ศ.1230 พระภิกษุอี้จิงมาถึงบริเวณนี้ก่อนที่ฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศจะเริ่มรวบรวมเมืองมลายูต่างๆเพื่อก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปีพ.ศ.1226 ท่านไม่ได้แวะทุกเมืองตามที่บันทึกเอาไว้แต่ได้รับข้อมูลจากเมื่องอื่นๆผ่านการสนทนากับสหธรรมิก พ่อค้าและคนในท้องถิ่น ดังนั้นพระภิกษุอี้จิงเขียนถึงบารุส มลายู และมุขะอาซิน (เบนยัวซิน) ตอนกลับมาจากอินเดียถึงศรีวิชัยในปีพ.ศ.1230 ท่านบอกว่ามลายูขึ้นกับศรีวิชัยแล้วและพระศากยะกีรติที่อยู่ที่ศรีวิชัยสอนคัมภีร์หัสดาศาสตราให้พระภิกษุอี้จิง อี้จิงกล่าวถึงนาคปฏินัมว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา จากแผนที่ของทากากุสุและวีทลีย์เชื่อว่าเรือของท่านแล่นตรงจากพนมไปปาเล็มบัง

ในบันทึกต้าถังท่านอี้จิงได้พบกับพระภิกษุ 56 รูปในระหว่างการจาริกแสวงบุญซึ่งใช้เส้นทางต่างกันจากจีนไปอินเดีย บางรูปเดินทางทางบกเช่นเดียวกับท่านฝาเสี่ยนและซวนจ้าง บางรูปเดินทางทางทะเลโดยใช้เส้นทางต่างกันขึ้นอยู่กับต้นหนเรือและแวะท่าเรือต่างกัน เช่นลังกาสุกะและเคดาห์บนแหลมมลายู กา-ลิงในชวา นิโคบาร์ ศรีวิชัยและบารุสบนเกาะสุมาตรา เส้นทางเหล่านี้ได้แก่ ฉางอัน-เจี่ยวจื้อ-สังกาสุกะ หรือ ฉางอัน-กว่างโจว-พนม-ลังกาสุกะ-นิโคบาร์ หรือฉางอัน-เจี่ยวจื้อ-กา-ลิง-บารุส-ศรีลังกา เป็นต้น เพราะท่านอี้จิงกล่าวถึงลังกาสุกะในชื่อลัง-แก-กิวในบันทึกต้าถังและหนานไห่หลายครั้ง บูคารีคาดว่าท่านอี้จิงน่าจะแวะเมืองท่าอื่นในเกาะสุมาตรา แต่บันทึกต้นฉบับภาษาจีนไม่เคยกล่าวถึงนาฬิกาแดดหรือเงาศรีษะคนตามที่บูคารีกล่าวถึง

ฮิซะโมริ วาดะได้ศึกษาบรรณานุกรมของ ชินถังซู้ ซ่งสือ ถงจื้อและฉงเหวินจงมู่ และพบเรื่องการเดินทางสู่ดินแดนป่าเถื่อนทะเลใต้ของต้าซี่ (達奚) เขียนเป็น 1 ม้วนและอธิบายย่อๆเกี่ยวกับทะเลใต้และวาดะพบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกนี้ในหนังสือหยูไห่ว่าบันทึกนี้ได้เขียนในศักราชซ่างหยวน พ.ศ.1213-1218 ว่าต้าซี่ เป็นผู้ว่าของถังโจวได้เดินทางไปต่างประเทศในสมัยที่ดำรงตำแห่งในศาลต้าหลี่ โดยไป 36 เมืองตั้งแต่เซียก-ทั่ว (รักตมฤติกา) ถึงเกียนนาและอธิบายเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับทูตราชวงศ์ถังที่เดินทางไปยังทะเลใต้ก่อนการก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัย การเดินทางนี้บ่งชี้ว่าเมืองรักตมฤติกาและวิชัยเป็นคนละเมืองกัน ดังนั้นรักตมฤติกาจึงไม่ใช่ปาเล็มบังตามที่คุวาตะสันนิษฐาน เซ่อฝู่หยวนกุ๊ย (册府元龟) บันทึกเกี่ยวกับทูตในปี พ.ศ.1244 พ.ศ.1253 พ.ศ.1267 พ.ศ.1270 และพ.ศ.1284 ฟูจิตะเชื่อว่า ซิต-ลี่-พุท-เจย คือศรีวิชัย ดังนั้นการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างจีนกับศรีวิชัยในระหว่างปีพ.ศ.1213-1218 แสดงว่ามีการติดต่อทางการทูตอยู่ก่อนปีพ.ศ.1226 จากบันทึกของท่านอี้จิง พงศาวดารซินถังชู้และการศึกษาของวาดะแสดงให้เห็นว่าศรีวิชัยเป็นเมืองมาก่อนที่ฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัย ราชวงศ์โคตมะที่ปกครองรักตมฤติกาและคันดิสที่เปลี่ยนชื่อเป็น (ศรี) วิชัยตั้งแต่ปีพ.ศ.1193 ในบริเวณที่เป็นเมืองปาเล็มบังในปัจจุบัน ซุกโมโนและบูคารีเชื่อว่าท่านศรีชยนาศยกทัพมาจากมินังกะ ตัมวันมาพิชิตปาเล็มบังที่ปกครองโดยผู้อื่นจากจารึกเกดูกันบูกิต ท่านศรีชยนาศฉลองเทศกาลวิสาขบูชาในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.1225 (แบบมหายาน) ก่อนจะขึ้นเรือจากมินังกะยกทัพในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.1225 และเอาชนะศัตรูที่ปาเล็มบังในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.1225 บูคารีเชื่อว่าท่านยกทัพมาจากมัวร่าตากุสที่อยู่ใกล้วัดพุทธเพื่อบวงสรวงก่อนยกทัพแต่มีความเป็นไปได้ที่ท่านจะยกทัพจากลัมพุงที่อยู่ใกล้ทะรุมะนครบ้านเกิดของพระชายาของท่าน ดังนั้นท่านยกทัพมาจากที่อื่นเพื่อมาพิชิตศรีวิชัยเพื่อก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ศรีวิชัยในช่วงนี้อาจส่งทูตไปยังกาหลิบมัววิยะห์แห่งราชวงศ์อุมัยยัด (พ.ศ.1204-1223) จากพ.ศ.1166-1208 เรือสินค้าอาหรับและเปอร์เซียยังคงแล่นผ่านศรีวิชัยไปจีน

เอกสารอ้างอิง
มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี พ.ศ.๒๕๓๐. อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา. กรุงเทพ: อรุณวิทยา.

Azyumardi, Azra. 2006. Islam in the Indonesian World: An Account of Institutional Formation. Jakarta: Mizan Pustaka.

Boechari. 2012. Melacak Sejarah Kuma Indonesia Lewet Prasasti (Tracing Ancient Indonesian History through Inscription). Jakarta: Kepustakaan Populer Gramedi.

Dalayan, Duraiswamy. 2019. "Ancient Seaports on the Eastern Coast of India: The Hub of the Maritime Silk Route Network." Acta via Serica 4 (1): 25-69.

Fujita Toyohachi 藤田丰八. 2015. Zhongguo nanhai gudai jiaotong congkao 中国南海古代交通丛考 [Studies on ancient Chinese Relation with the Nan Hai] Translated from 东南交沙史研究 南海篇. Translated by He Jianmin 何健民. Taiyuan: Shanxi People's Publishing House 山西人民出版社.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Wada Hisamori 和田久徳. 1950. "唐代の南海遣使 [A Chinese Embassy to the Southern Seas Countries in the Middle of Seventh Century]." Toyo Gakuho 东洋学报 (Journal of the Research Department of the Toyo Bunko) 33 (1): 64-74.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.

Wheatley, Paul. 1961. The Golden Khersonese: Studies in the Historical Geography of Malay Peninsula before AD1500. Kuala Lampur: University of Malaya Press.

Yijing 义净. 1966 (1896). A Record of the Buddhist Religion as Practised in India and the Malay Archipelago (AD671-695) Entitled Nanhai jigui neifazhuan 南海寄归内法传. Translated by Takakusu Junjiro 高楠顺次郎. Delhi: Munshiram Manoharlal.

Yijing 义净. 1995 (1986). Chinese Monks in India: Biography of Eminent Monks Who Went to the Western World in Search of the Law during the Great Tang Dynasty Entitled Datang xiyu qiufa gaosengzhuan 大唐西域求法高僧传. Translated by Latika Lahiri. Delhi: Motilal Banasidass.

Zhang Jingting. 2019. "The Buddhist Sangha life in the Seventh Century: Study Based on "A Record of the Inner Law Sent Home from the South Sea of Yijing." Doctoral Thesis, Mahachula Buddhist University, Ayutthaya.



กำลังโหลดความคิดเห็น