xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์โคตมะหรือเกียวดัม (瞿昙ฉู่-ทั่น) เครือรัฐที่เป็นใหญ่ก่อนศรีวิชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

พงศาวดารซ่งชู้ ในยุคหลิวซ่งใต้ (พ.ศ.963-1022) กล่าวว่า เมืองมลายูชื่อว่า กัน-ดา-ลิ (干陀利กัน-ถัว-ลี่) เริ่มส่งบรรณาการไปจีนในปีพ.ศ.984 กัน-ดา-ลิถูกบันทึกในไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 และไท่ผิงหวนหยู่จี๊ เล่มที่ 176-179 ในระหว่างปีพ.ศ.997-1007 กษัตริย์ที่ชื่อว่าศรีวรันเรนทราส่งทูตชื่อ ฮินดู รุทราไปจีน มาชุมดาร์และซูซูกิสันนิษฐานว่ากัน-ดา-ลิ ตั้งอยู่ที่เคดาห์ แต่วอลเตอร์และเซเดส์บอกว่าอยู่ที่เกาะสุมาตรา และเซเดส์เชื่อต่อไปว่าคือจัมบิ บูลเลล์เชื่อว่า กัน-ดา-ลิคือ ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี แต่กัน-ดา-ลิน่าจะเป็นคันดิสที่เป็นชื่อของอาณาจักรมินังกะเบาโบราณบนเกาะสุมาตรา

จากพงศาวดารเหลียงชู้ ในสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.1045-1094) ในปีพ.ศ.1045 กษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาพระนามว่าโคตมะ สุภัทระ หรือ เกียว-ดัม-ซิว-บวต-ตา-ลา (瞿昙修跋陁罗 ฉู่-ทั่น-ซิ่ว-ป๊า-ถัว-หลัว) ส่งราชบุตรนามว่าวิชัยวรมันไปยังราชสำนักเหลียง ดังนั้นราชวงศ์นี้จึงเรียกว่าโคตมะ พระองค์ทำเป็นผู้เคร่งในพระพุทธศาสนาในพระราชสาส์นที่ส่งไปยังจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ ในปี พ.ศ.1062 พระเจ้าวิชัยวรมันในฐานะกษัตริย์ได้ส่งบรรณาการไปจีน และในสมัยราชวงศ์เฉินในปีพ.ศ.1106 ได้ส่งบรรณาการไปอีกซึ่งบันทึกในพงศาวดารเฉินชู้ ท๊งเตี๋ยนบรรยายว่าประชาชนของเมืองนี้คล้ายคลึงกับประชาชนของจามปาและพนมโดยอาจเป็นชาวออสโตรเนเซียน พงศาวดารหมิงสือ เล่มที่ 324 บันทึกว่าจักรพรรดิถังไท่จงส่งทูตไป กัน-ดา-ลิ ในปีพ.ศ.1190 และชื่อ กัน-ดา-ลิ (คันดิส) เปลี่ยนเป็น พุท-เจย (วิชัย) ในปีพ.ศ.1193 ในรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง ซึ่งน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นปาเล็มบังในภายหลัง โดยที่อิบึน มัสยิดนักเดินเรือผู้มีชื่อเสียงชาวอาหรับระบุว่าท่าเรือชื่อซิงคิล คันดาริที่อยู่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราในหนังสือ ฮาวิยะห์ อัล-อิทิซาร์ ในปีพ.ศ.2005 อาจจะเป็นคันดิสก็ได้ ทากากุสุเชื่อว่าท่านอี้จิงไปถึงวิชัยซึ่งเป็นเมืองเดียวกับจิ่วกัง ในบันทึกหยิงไหย่เฉิงหลั่น (瀛涯胜览) ของหม่าหวน เมืองนี้อาจมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6

จากพงศาวดารสุยชู้ จักรพรรดิสุยหยางตี้ส่งทูต ช่างจุ้น(常骏) เป็นทูตไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีพ.ศ.1150-1153 โดยลงเรือที่กว่างโจวผ่านจามปาไปยังเมืองเซียก-ทั่ว (赤土ซื่อ-ถู) แปลว่าดินแดงหรือทนาห์ เมราห์ในภาษามลายู และลา-ชัท (囉刹หลัว-ช้า) พร้อมกับผ้าไหม 500 ม้วน พวกเขามองเห็นลังกาสุกะอยู่ ทางทิศตะวันออกคืออาณาจักรปา-รา-รา ทางตะวันตกคือปา-รา-สะ ทางใต้คือ กา-หล่า-ตัน ทางเหนือติดทะเล ราชวงศ์ที่ปกครองคือโคตมะ เป็นราชวงศ์เดียวกับที่ปกครองคันดิสซึ่งพงศาวดารเหลียงชู้และสุยชู้ใช้อักษรจีนตัวเดียวกันคือ (瞿昙ฉู่-ถัน) ในการบันทึก กษัตริย์คือ ลี-ฮก-ตา-เซ็ก (利富多塞หลี่-ฟู่-ตั้ว-เสอ) และเจ้าชายคือ น่า-เซีย-เกีย (那邪迦หน่า-เซี่ย-เจีย) โดยมีเส่งเจี้ย (僧祗เซิ้ง-จื๊อ) เป็นเมืองหลวงแล้วขากลับได้นำเจ้าชายตามคำขอของพราหมณ์ประจำเมืองไปยังประเทศจีนด้วยโดยเดินทางกลับจีนไปขึ้นบกที่เจียวจื้อโดยเดินเรือจากกว่างโจวไป 100 วันทางตะวันออก เจี่ยตันกล่าวว่าเซียก-ทั่วอยู่ที่ยะโฮร์และมีธรรมเนียมเหมือนกับทวาราวดี ยามาโมโต้สันนิษฐานว่าคือสิงคโปร์ คุวาตะเชื่อว่าคือปาเล็มบังและสนับสนุนทฤษฎีของเซเดซ์ หันเจิ้นหัวและอาหมัดเชื่อว่าเซียก-ทั่วตั้งอยู่บริเวณกลันตัน อาหมัดเชื่อว่าชาวออสโตรเอเชียติกจากพนมตั้งเมืองนี้เพราะใช้เวลา 10 วันจากจามปาไปเซียก-ทั่ว แต่หวังกงอู่สันนิษฐานว่าเมืองนี้น่าจะอยู่ใกล้ๆกับทะเลสาบสงขลาบริเวณ อ.สทิงพระและอ.สิงหนคร จ.สงขลาและจ.พัทลุงที่อยู่ทางทิศเหนือของลังกาสุกะเมืองนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.443 จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 11

สวีหยุนเฉียวและซูซูกิกล่าวว่าเซียก-ทั่วตั้งอยู่ที่สงขลาเพราะสวีหยุนเฉียวเคยอาศัยอยู่ที่ปัตตานีตั้งแต่ปีพ.ศ.2476-2479 และซูซูกิเคยไปแถวนั้นเลยเห็นตรงกันกับหวังกงอู่เกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองนี้ซึ่งอาจจะตั้งอยู่แถวแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่ อ.สทิงพระเพราะทางเหนือติดทะเล ผู้บังคับเรือชื่อพุทธคุปตะสลักจารึกตามแบบพุทธศาสนามหายานในพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นภาษาสันสกฤตพบที่เซอเบรัง เปไรที่ฝั่งตรงข้ามเกาะปีนังซึ่งอธิบายถึงสถูปทรงกลมสวมด้วยฉัตร 7 ชั้นกล่าวว่าได้เดินเรือจากรักตมฤติกาแปลว่าดินแดงหรือเซียก-ทั่วโดยขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองในการเดินเรือ โดยเขาเดินเรือมาจากรักตมฤติกาทางชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูมุ่งหน้าไปสิงคโปร์แล้วเลี้ยวขวาขึ้นไปทางเหนือในช่องแคบมะละกาแล้วอาจจะพบสภาพอากาศที่เลวร้ายเลยจอดที่เคดาห์แล้วสลักจารึกก่อนที่จะเดินเรือไปต่อ


วาดะ ฮิซะโมริได้ศึกษาบรรณานุกรมของ ชินถังซู้ ซ่งสือ ถงจื้อและฉงเหวินจงมู่ และพบเรื่องการเดินทางสู่ดินแดนป่าเถื่อนในทะเลใต้ของต้าซี่เขียนเป็น 1 ม้วนและอธิบายย่อๆเกี่ยวกับทะเลใต้และวาดะพบรายละเอียดในบันทึกหยูไห่(玉海)ว่าหนังสือเล่มนี้ได้เขียนในพ.ศ.1217-1218 ว่าต้าซี่ (達奚) เป็นผู้ว่าของถังโจวได้เดินทางไป 36 เมืองตั้งแต่เซียก-ทั่ว (รักตมฤติกา)ถึงเกียน-นาและอธิบายเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ว่ามีอยู่ก่อนการก่อตั้งศรีวิชัย ซึ่งหมายความว่าจีนยังติดต่อกับเมืองนี้ในสมัยราชวงศ์ถังหลังจากที่ฉางจุ้นมาเมืองนี้ในสมัยราชวงศ์สุยในปีพ.ศ.1150-1153 ดังนั้นเมืองนี้ไม่ได้หายไปจากเอกสารจีนตามที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เข้าใจ ลา-ชัทน่าจะเป็น รักษสา เซเดส์กล่าวว่าธรรมเนียมในราชสำนักเป็นแบบศาสนาพราหมณ์ซึ่งไม่ต่างจากยุคหลังในภูมิภาคนี้แต่เป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการดี ร่ำรวยด้วยทองและกษัตริย์มักจะสละราชสมบัติเพื่อบวชพระในบั้นปลายชีวิต การแต่งงานทางการเมืองกับเมืองข้างเคียงเป็นเรื่องปกติ ประชาชนของรักตมฤติกาสร้างกำแพงป้องกันตัวเองไม่เหมือนกับปัน-ปัน พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์อยู่ร่วมกันและมีการวาดรูปพระโพธิสัตว์บนกำแพง

โบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องกระเบื้องถูกค้นพบมากในบริเวณสทิงพระที่อยู่ระหว่างจ.นครศรีธรรมราชกับจ.สงขลา เมืองรักตมฤติกาและคันดิสไม่ใช่เมืองเดียวกันแต่ปกครองด้วยราชวงศ์เดียวกันเพราะเอกสารไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 และไท่ผิงหวนหยู่จี๊ เล่มที่ 176-179 บันทึกว่า กัน-ดา-ลิและเซียก-ทั่วเป็นคนละเมืองกัน ราชวงศ์โคตมะอาจเป็นใหญ่ในช่องแคบมะละกาและควบคุมเครือข่ายการค้าในภูมิภาคนี้ก่อนสมาพันธรัฐศรีวิชัยและหลังการล่มสลายของพนม ชาวออสโตรเนเซียนมักจะตั้งสถานีการค้าด้วยการอพยพคนดังนั้นราชวงศ์โคตมะอาจจะอพยพประชาชนจากคันดิสในเกาะสุมาตราไปตั้งถิ่นฐานที่รักตมฤติกาในแหลมมลายูเพื่อขยายเครือข่ายการค้า เรือสินค้าจากพนมจำเป็นต้องแวะที่รักตมฤติกาบนแหลมมลายูก่อนที่จะบ่ายหน้าไปที่ช่องแคบมะละกาเพื่อแวะที่คันดิส ราชวงศ์โคตมะที่รักตมฤติกาอาจจะเป็นสาขาที่มาจากคันดิสซึ่งเป็นใหญ่ในระหว่างที่พนมเสื่อมและกา-ลิง เจนละและศรีวิชัยเจริญขึ้นมา ฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศอาจจะเป็นผู้โค่นล้มราชวงศ์นี้เพื่อก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยก็เป็นได้

สตาร์การดท์กล่าวถึงอาณาจักรที่ควบคุมน้ำของสทิงพระตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-18 การติดต่อกันทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างสทิงพระ อาณาจักรพระนครของมอญ-เขมรที่ปากแม่น้ำโขงและศรีวิชัยได้เจริญถึงขีดสุดในพุทธศตวรรษที่ 18-19 เมื่อค้าขายกับราชวงศ์ซ่ง จามปาและชวา โคเลสกล่าวว่า สทิงพระเป็นชา-ลิ-ถิง ในซ่งฮุ่ยเย่า ไช-ลิ-ถิงในชวา และหยิต-ลา-เท้ง ในจูฟ่านจื้อในฐานะที่เป็นเมืองในสมาพันธรัฐศรีวิชัย หลิ่งว่ายไต้ต่าบันทึกเป็นพุท-ลา-อันที่น่าจะเป็นพัทลุงมากกว่ากัวลาเบรังในรัฐตรังกานู อิงอร ปัทมดิศกล่าวว่าการเพาะปลูกข้าวที่สทิงพระมีมานานแล้ว เซียก-ทั่ว ถูกบันทึกในสุยชู้เล่มที่ 3 และ 82 ไท่ผิงหวนหยู่จี๊ เล่มที่ 176-179 ไท่ผิงยู่หลันเล่มที่ 787 และเหวินเซี่ยนท๊งเข่า เล่มที่ 331 แต่ซินถังชู้กล่าวถึง เซียก-ทั่วในหัวข้อลา-ชัท

เอกสารอ้างอิง
ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.๒๕๓๕. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.๒๐๐๐. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.

Ahmad, Abu Talib. 2014. Museums, History and Culture in Malaysia. Singapore: NUS Press.

Boeles, J. J. 1967. "A Note on the Toponym of the Ancient Kantoli in Peninsular Thailand." Journal of the Siam Society LV (2): 291-297.

Colless, Brian. 1989. "Satingpra in Sung Dynasty Records." Archipel 37: 31-42.

Fukami Sumio 深见纯生. 1999. "San-Fo-Qi, Srivijaya and the Historiography of
Insular Southeast Asia." In Commerce et Navigation en Asie du Sud-Est (XIVe-XIXe siècle)/Trade and Navigation in Southeast Asia, by Nguýên Thê Anh and Y. Ishigawa, 31-45. Paris and Tokyo: L'Harmattan and Sophia University.

Han Zhenhua 韩振华. 1954. "Gongyuan liuqishiji zhongyin guanxishiliao kaoshisanze: Poliguokao, Chituguokao Dandanguokao 公元六七世纪中印关系史料考释三则:婆利国考,赤土国考,丹丹国考." Xiamen Daxue Xuepao 夏门大学学报 (Journal of Xiamen University) 94-114.

Hsu Yun Tsiao, (Xu Yunqiao 许云樵). 1941. "A Study on Ch'ih-t'u or the Red Land." Nanyang Xuebao 南洋学报 (Journal of the South Seas Society) 2/3 (5): 1.

Ingon Patamadit. 1999. "La Rizeculture dans les Menuscrits de Ragesse traditionnelle à Sathing Phra dans le Sud de la Thaïlande." Aséanie,Sciences humaines en Asie du Sud-Est 4: 93-123.

Kuwata Rokuro 桑田六郎. 1971. "A Study of Ch'ih-t'u 赤土, an Ancient Kingdom in Southeast Asia." Memoirs of the Research Department of the Toyo Bunko 29: 31-56.

Stargardt, Janice. 1983. Satingpra 1: The Environment and Economic Archeology of South Thailand. International Series 158, British Archeological Reports (BAR), Studies in Southeast Asian Archeology, Singapore: ISEAS.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Wada Hisamori 和田久徳. 1950. "唐代の南海遣使 [A Chinese Embassy to the Southern Seas Countries in the Middle of Seventh Century]." Toyo Gakuho 东洋学报 (Journal of the Research Department of the Toyo Bunko) 33 (1): 64-74.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.

Wolters, Oliver Williams. 1967. Early Indonesian Commerce: A Study of the Origins of Srivijaya. Ithaca, NY: Cornell University Press.

Yamamoto Tatsuro 山本达郎. 1951. "Chi-Tu and Srivijaya." Wado Toyoshi Ronso 778-792.



กำลังโหลดความคิดเห็น