xs
xsm
sm
md
lg

NZ จะเข้าร่วม AUKUS หรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

กลุ่มพันธมิตร AUKUS (อ่านว่า ออคัส ซึ่งเสียงของคำก็คล้ายๆ กับคำว่า ออกัสต์-August ซึ่งเป็นเดือนสิงหาคมนั่นเอง) ที่ได้รวมตัวกันมาประมาณ 1 ปี โดยพี่ใหญ่ได้แก่ สหรัฐฯ และตามมาด้วยสหราชอาณาจักร ส่วนน้องเล็กก็คือ ประเทศที่ใหญ่โตอยู่ Down Under หรือใต้โลกได้แก่ ออสเตรเลีย ซึ่งความตกลงนี้เกิดขึ้นในสมัยของไบเดน อดีตนายกฯ บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ และอดีตผู้นำพรรคลิเบอร์รัลของออสเตรเลียคือ นายกฯ สกอตต์ มอร์ริสัน

ข้อตกลงออคัสนี้ ทำให้อุณหภูมิของแปซิฟิกใต้ร้อนขึ้นมาอย่างพรวดพราด เพราะกิจกรรมที่เปิดทางให้ทั้ง 3 ประเทศมารวมกลุ่มกัน ก็คือ การติดตั้งกองเรือดำน้ำปรมาณูให้กับออสเตรเลีย ประเทศที่มั่งคั่งอยู่ตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นประเทศที่อยู่ทั้งใน G20 และในกลุ่ม Five-Eyes ด้วย เป็นกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ-ซึ่งก็เกิดออกมาจากอังกฤษทั้งหมด นั่นคือ-สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

กลุ่ม Five-Eyes หรือทั้ง 5 ดวงตานี้ นอกจากจะพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แล้ว ก็จะมีความตกลงร่วมกันในด้านความมั่นคงและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง (รวมทั้งการหาข่าวกรองด้วยกัน)

ดังนั้น เมื่อกลุ่มพันธมิตรออคัสเกิดขึ้น ทำให้หลายคนจับตาดูว่า นิวซีแลนด์-ที่มีดินแดนอยู่ตอนใต้ของแปซิฟิก และติดกับออสเตรเลีย-จะเข้าร่วมกับกลุ่มออคัสหรือไม่

ในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดอย่างเป็นทางการที่เมืองซานดิเอโก ของกลุ่มออคัสเมื่อ 17 มีนาคม 2022 โลกได้เห็นรายละเอียดของการรวมกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมหลักคือ การจัดซื้อกองเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์ โดยออสเตรเลียซึ่งเรือนี้จะผลิตโดยสหรัฐฯ และอังกฤษ (เพราะอังกฤษเป็นประเทศเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐฯ เจ้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอังกฤษ) และในระยะต่อไป ทางออสเตรเลียก็จะสามารถผลิตเรือดำน้ำนิวเคลียร์ได้เอง โดยจะมีบริษัทโรลส-รอยซ์ของอังกฤษเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งออสเตรเลียก็จะสร้างงานในประเทศด้วยจะมีทีมงานสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์เองได้

นอกเหนือจากการขายและการผลิตเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในข้อตกลงนี้ ยังจะมีอีกเสาหนึ่งก็คือ ความร่วมมือกันด้านเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง เช่น ควอนตัม, เอไอ เป็นต้น

หลังการประชุมสุดยอดที่ซานดิเอโกระหว่างปธน.ไบเดน นายกฯ ริชี ซูนัค และนายกฯ อัลบานีส ได้มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ

จีนโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การจัดตั้งกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นี่เป็นการทำให้แปซิฟิกใต้เริ่มมีการจัดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ และจะทำให้เกิดการแข่งขันในประเทศต่างๆ ทั้งในแปซิฟิกใต้และตลอดทั้งเอเชียที่จะแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์มาไว้ปกป้องตนเองบ้าง

จะทำให้เกิดดินแดนแปซิฟิกใต้ที่เป็นเขตที่สงบสวยงาม จะกลายเป็นดินแดนที่เริ่มเครียดมากขึ้นนั่นเอง

ซึ่งก่อนหน้านั้น หมู่เกาะโซโลมอนก็ได้หันไปรับรองประเทศจีนแทนที่จะเป็นประเทศที่เคยมีสถานทูตไต้หวันตั้งอยู่ และทำให้สหรัฐฯ เกิดความกังวลว่า จีนกำลังแผ่อิทธิพลไปยังเขตแปซิฟิกใต้ และน่าจะพยายามตั้งฐานทัพของจีนในหมู่เกาะโซโลมอนด้วย

และแน่นอนที่สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดน เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพันธมิตรออคัสนี้ เพื่อขยายอิทธิพลไปถึงเขตแปซิฟิกใต้ เพื่อปิดล้อมอิทธิพลของจีน (ที่กำลังขยายเข้าไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในเขตแปซิฟิกใต้นี้)

หลังการประชุมสุดยอดที่ซานดิเอโกได้ผ่านไปไม่ถึง 1 อาทิตย์ มีการเดินทางของนายKurt Campbell ตำแหน่งผู้ประสานงานเขตอินโด-แปซิฟิก ประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ของสหรัฐฯ) และเป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ (สมัยปธน.โอบามา) ได้เดินทางมาพบกับรมต.กลาโหมของนิวซีแลนด์ Andrew Little เพื่อเสนอให้นิวซีแลนด์เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรออคัส ซึ่งได้ประกาศไว้ที่ซานดิเอโกว่า พันธมิตรออคัสเปิดให้มีประเทศที่สนใจเข้าร่วมได้เป็น AUKUS+นั่นเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อ Free+Open Pacific หรือมหาสมุทรแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี ทั้งน่านน้ำและน่านฟ้า (ไม่ใช่ให้ประเทศใด-เช่น จีน-มาถมทะเลและประกาศจัดตั้งฐานทัพอยู่กลางมหาสมุทรเช่น บริเวณสการ์โบโรห์ทางตะวันตกของเกาะฟิลิปปินส์ เป็นต้น)

Andrew Little รัฐมนตรีกลาโหมนิวซีแลนด์
รมต.กลาโหมนิวซีแลนด์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงการที่นายKurt Campbell เข้ามาเสนอให้นิวซีแลนด์เข้ากลุ่มออคัส

ซึ่งรมต.กลาโหมนิวซีแลนด์ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า นิวซีแลนด์มีหลักการว่า จะเป็นประเทศ “ปลอดนิวเคลียร์” จึงไม่สามารถเข้าร่วมกับกลุ่มออคัสได้

แต่นอกจากเสาหลักของออคัสคือ ร่วมสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์แล้วยังมีเสารองของออคัสคือ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่จะเสริมสมรรถนะของกองทัพนิวซีแลนด์ให้แข็งแกร่งขึ้นคือ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีควอนตัม, เอไอ เป็นต้น ซึ่งในเสารองของออคัส ทางนิวซีแลนด์สนใจจะศึกษารายละเอียดเพื่อเข้าร่วม

ขณะเดียวกัน รมต.ต่างประเทศนิวซีแลนด์ก็คือ Nanaia Mahuta ก็เพิ่งเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของปักกิ่ง เธอกล่าวอย่างหนักแน่นว่า ปักกิ่งกังวลมากกับข้อตกลงออคัสที่จะติดตั้งเรือดำน้ำปรมาณูในเร็วๆ นี้ ที่จะทำให้แปซิฟิกใต้เป็นดินแดนแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์หรือเป็นเขตแข่งขันด้านการรบด้วย

Nanaia Mahuta รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์
ปักกิ่งได้แถลงชัดว่า คัดค้านการรวมกลุ่มความมั่นคงของออคัส ที่ทำให้แปซิฟิกใต้ร้อนแรงไปด้วยอาวุธปรมาณู!

ยังมีเสียงจากอดีตนายกฯ หญิงคนแรกของนิวซีแลนด์ Helen Clark ได้ออกมาประกาศชัดว่า ไม่มีประโยชน์ใดๆ สำหรับนิวซีแลนด์ที่จะไปเกี่ยวข้องกับออคัส

พอๆ กับอดีตนายกฯ พรรคแรงงานของออสเตรเลีย Paul Keating ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ออสเตรเลียยินยอมซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ และอังกฤษ และรวมกลุ่มกันปิดล้อมจีนในเขตแปซิฟิกใต้

เขาบอกว่า จีนเป็นมิตรที่ดีของออสเตรเลียมาตลอด และออสเตรเลียไม่ควรเลือกข้างอยู่กับสหรัฐฯ โดยจัดตั้งกลุ่มออคัสเพื่อปิดล้อมจีนด้วย!


กำลังโหลดความคิดเห็น