รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ระบุประเทศของเขาไม่ได้ให้คำสัญญากับสหรัฐฯ ว่าพวกเขาจะสนับสนุนพันธมิตร แลกเปลี่ยนกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตโดยอเมริกา ในกรณีที่ความขัดแย้งใดๆ เกี่ยวกับไต้หวันปะทุขึ้นในอนาคต ตามรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และผู้นำออสเตรเลียกับสหราชอาณาจักร แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า ออสเตรเลีย จะจัดซื้อเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงกองเรือดำน้ำให้มีความทันสมัย ท่ามกลางความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิก
บรรดาชาวออสเตรเลียที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงดังกล่าว เชื่อว่าสหรัฐฯ คงจะไม่ยอมจัดหาเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียของตนเองมากถึง 5 ลำให้ออสเตรเลีย โดยปราศจากคำรับประกันใดๆ และมีความเป็นไปได้ว่าคำรับประกันเหล่านั้นจะถูกใช้ประโยชน์ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ที่แยกตัวออกไปตามหลังสงครามกลางเมืองปี 1949 เป็นภาระหน้าที่ต้องดึงเข้ามารวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่ ในนั้นรวมถึงการใช้กำลังหากมีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลีย บอกว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้ให้คำรับประกันกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน "แน่นอนว่าไม่ และผมไม่สามารถพูดอะไรได้ชัดเจนกว่านั้น" มาร์เลส ให้สัมภาษณ์กับรายงาน อินไซเดอร์ส ของสถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
"ผมขอพูดให้ชัดว่า วินาทีที่ธงถูกชักขึ้นบนเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียลำแรกในบรรดาเรือดำน้ำเหล่านั้น ในชวงต้นทศวรรษที่ 2030 วันนั้นคือช่วงเวลาที่เรือดำน้ำจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสมบูรณ์ของรัฐบาลออสเตรเลีย ไม่มีใครได้ข้อยกเว้น แน่นอนว่านี่คือพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้น" เขากล่าว
ออสเตรเลีย เหมือนกับสหรัฐฯ คือใช้นโยบายคลุมเครือ ไม่ยอมพูดอย่างชัดเจนว่าจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรหากไต้หวันถูกโจมตี ในขณะที่ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ใช้สนธิสัญญากลาโหมทวิภาคีฉบับหนึ่งร่วมกันมาตั้งแต่ปี 1951 ซึ่งผูกมัดให้พวกเขาต้องปรึกษาหารือกันหากอีกฝ่ายถูกโจมตี แต่ไม่ได้กำหนดพันธสัญญาให้พวกเขาต้องเข้าปกป้องอีกฝ่าย
พอล คีตติง และ มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในพวกที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับหนทางในการธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของออสเตรเลีย ในขณะที่ออสเตรเลียกลับกลายต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีและบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ภายใต้ข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำ
ข้อตกลง Aukus ซึ่งตั้งชื่อตามออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ โหมกระพือปฏิกิริยาขุ่นเคืองจากจีน ซึ่งกล่าวหา ออสเตรเลียกำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่ผิดพลาดและเป็นอันตราย
มาร์เลส กล่าวว่าในขณะที่เรือดำน้ำอาจถูกใช้ในกรณีที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น แต่เจตนาหลักของเรือดำน้ำเหล่านี้ คือปกป้องเส้นทางการค้าอันสำคัญผ่านทะเลจีนใต้และส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค "แน่นอนว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีศักยภาพปฏิบติการได้ในบริบทของสงคราม แต่ความตั้งใจเบื้องต้นของออสเตรเลีย คือช่วยเราสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค"
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)