อเมริกา-อังกฤษ-ออสเตรเลีย เปิดรายละเอียดแผนจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แดนจิงโจ้ในช่วงตั้งแต่ต้นทศวรษ 2030 โดยอ้างว่าเพื่อค้านอิทธิพลจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้านปักกิ่งตอบโต้ 3 ชาตินี้ที่รวมตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหาร “ออคัส” ว่ากำลังทำให้เกิดความเสี่ยงในการแข่งสะสมอาวุธ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสามประเทศยุติแนวคิดสงครามเย็นและทฤษฎีเกมที่มุ่งผลแบบใครชนะกินรวบทั้งหมด
การประกาศของ 3 ชาตินี้มีขึ้นในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ที่ฐานทัพเรือในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ของอเมริกา โดยมีประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพ ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ
ไบเดนกล่าวว่า อเมริกาเป็นผู้ปกป้องเสถียรภาพในภูมิภาคที่เคยรู้จักกันมานมนานในนามเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งพวกเขากำลังเรียกชื่อเสียใหม่ว่า อินโด-แปซิฟิก นี้ มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษแล้ว และบอกว่าโครงการพันธมิตรเรือดำน้ำนี้ จะส่งเสริมแนวโน้มสันติภาพต่อไปอีกหลายทศวรรษ
ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า ออสเตรเลียที่เข้าร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหาร “ออคัส” กับวอชิงตันและลอนดอนขึ้นมาเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว จะไม่ได้รับอาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่ได้ขัดแย้งกับจุดยืนไม่เป็นประเทศนิวเคลียร์ซึ่งยึดถือมายาวนานของแดนจิงโจ้
อย่างไรก็ดี จากโครงการนี้ ซึ่งออสเตรเลียจะด้รับเรือดำน้ำเดินเครื่องด้วยพลังงานจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้เคลื่อนไหวได้เงียบและสามารถหลบหลีกการตรวจจับของข้าศึกได้ดีขึ้นมาก จะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำไม่กี่ประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีก้าวหน้านี้ และกลายเป็นด่านหน้าของความพยายามที่นำโดยอเมริกาในการตอบโต้การขยายกองทัพของจีน
ด้านสุแน็กขานรับว่า เป็นครั้งแรกที่กองเรือดำน้ำของสามประเทศร่วมมือกันในย่านเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อให้ภูมิภาคนี้เสรีและเปิดกว้างนานนับสิบปี
ขณะที่ อัลบานีสกล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในด้านศักยภาพทางกลาโหมของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ คาดว่า เรือดำน้ำภายใต้ข้อตกลงนี้จะติดตั้งขีปนาวุธร่อนที่สามารถโจมตีเป้าหมายจากระยะไกลเพื่อป้องปรามผู้โจมตี
รัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่า โครงการนี้จะมีต้นทุนเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีแรกและสร้างงานราว 20,000 ตำแหน่ง
ผู้นำแดนจิงโจ้สำทับว่า ออสเตรเลียจะเป็นประเทศที่สองหลังจากอังกฤษ ที่ได้เข้าถึงความลับด้านนิวเคลียร์ทางนาวีของอเมริกา
ทางด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน เผยว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ อเมริกาจะขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งอาวุธตามแบบชั้นเวอร์จิเนีย จำนวน 3 ลำให้แก่ออสเตรเลีย และอาจเพิ่มเป็น 5 ลำหากต้องการ
ซัลลิแวนเสริมว่า หลังจากนั้นอังกฤษและออสเตรเลียจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งอาวุธตามแบบชั้นใหม่ที่ชื่อว่า ชั้น เอสเอสเอ็น-ออคัส ซึ่งออกแบบโดยอังกฤษ ใช้เทคโนโลยีของอเมริกา และลงทุนจำนวนมหาศาลในฐานอุตสาหกรรมของทั้งสามประเทศ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกายังเผยว่า กองทัพอังกฤษจะได้รับเรือดำน้ำเอสเอสเอ็น-ออคัสปลายทศวรรษ 2030 และออสเตรเลียได้รับต้นทศวรรษ 2040 โดยในระหว่างนั้นทหารเรือ วิศวกร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของออสเตรเลียจะร่วมฝึกกับเจ้าหน้าที่อเมริกาและอังกฤษ และเรือดำน้ำของอังกฤษและอเมริกาจะแวะเทียบท่าในออสเตรเลียเป็นประจำ
อเมริการะบุว่า ออคัสสะท้อนภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในอินโด-แปซิฟิกที่ไม่ได้มาจากจีนต่อไต้หวันและทะเลจีนใต้เท่านั้น แต่ยังมาจากรัสเซียที่มีการซ้อมรบร่วมกับจีนและเกาหลีเหนือด้วย
ทางด้านเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงตอบโต้ว่า ออคัสทำให้เกิดความเสี่ยงในการแข่งสะสมอาวุธ พร้อมกล่าวหาอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ บ่อนทำลายความพยายามในการงดแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์
เหมายังเรียกร้องให้ทั้งสามประเทศยุติแนวคิดสงครามเย็นและทฤษฎีเกมที่มุ่งให้ผู้ชนะกินรวบเดิมพันทั้งหมด แทนที่จะหวังให้ประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งหันมายึดมั่นข้อผูกพันระหว่างประเทศโดยสุจริตใจ และพยายามมากขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
นอกจากนั้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังกล่าวหาอเมริกาเป็นแกนนำตะวันตกในการตีกรอบควบคุม ปิดล้อม และกดขี่จีนรอบด้าน
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)