xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหมออสซี่เสียงหลง “ไม่เคยรับปาก” อเมริกาผ่านข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ AUKUS ช่วยปกป้อง “ไต้หวัน” สื่อจิงโจ้ชี้พลาดอาจลามถึงประเทศถึงขั้นนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียแถลงวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) ว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ AUKUS แคนเบอร์ราไม่เคยรับปากจะช่วยวอชิงตันใช้กำลังทหารปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน ยืนยันไม่ได้เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนเปิดช่องให้อเมริกาสามารถขอความช่วยเหลือทางการทหาร กลัวพลาดสงครามนิวเคลียร์อาจลามเข้าแผ่นดินดาวน์อันเดอร์ หลังก่อนหน้ากลาโหมออสซี่เคยเสนอตัวให้รายงานสรุปข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำ AUKUS กับ ปธน.สี จิ้นผิงรับรู้

รอยเตอร์รายงานวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) ว่า รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ริชาร์ด มาร์เลส (Richard Marles) ออกมาเปิดเผยว่า ไม่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนแน่นอนในประเด็นซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง AUKUS มูลค่า 368 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (246 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

มาร์เลส กล่าวปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อคำถามผ่านสถานีโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ของออสเตรเลียวันนี้ (19) ที่ว่า ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้วอชิงตันสามารถใช้ผูกมัดแคนเบอร์ราให้เข้าร่วมการปกป้องไต้หวันจากจีนด้วยปฏิบัติการทหารหรือไม่

เขากล่าวว่า “ไม่ใช่แน่นอน และไม่ใช่สิ่งที่แสวงหา” พร้อมกันนี้ ยังกล่าวยืนยันว่า “มันไม่ใช่ข้อตกลงแบบต่างตอบแทนต่อออสเตรเลียจากสนธิสัญญานี้”

รอยเตอร์รายงานว่า ภายใต้ข้อตกลง AUKUS ที่เห็นเพื่อนบ้านเอเชียต่างแสดงความยินดี แต่ทว่า ปักกิ่งกลับมองว่าเป็นการเพิ่มกำลังทางนิวเคลียร์ภายในภูมิภาคที่จีนกำลังแผ่อิทธิพล

สปุตนิก นิวส์ของรัสเซียรายงานว่า มาร์เลสซึ่งนั่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียยังออกมาปฏิเสธที่จะประเมินอนาคตของความขัดแย้งข้ามช่องแคบไต้หวันที่มีสหัฐฯ และจีนเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะวิตกว่าความขัดแย้งที่เป็นสงครามอาจลุกลามไปจนถึงออสเตรเลีย

สื่อออสเตรเลียชื่อดังหลายแห่งต่างเฝ้ารายงานถึงประเด็นความขัดแย้งไต้หวันโดยมีความวิตกว่า ออสเตรเลียอาจถูกทำให้กระโจนเข้าสู่สงคราม เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์รายงานบทความพิเศษเชิงวิเคราะห์ว่า "ภายใน 72 ชั่วโมงแรก : สงครามไต้หวันจะลามเข้าสู่ออสเตรเลียอย่างรวดเร็วได้อย่างไร"

ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียของนายกรัฐมนตรีแอนโธนีส อัลบานีส ในวันอังคาร (14) 1 วันหลังนายกฯ ออสซี่ร่วมอยู่ในพิธีเปิดข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ AUKUS ในสหรัฐฯ ร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก ออกมาเปิดเผยว่า ฝ่ายออสเตรเลียได้เสนอต่อปักกิ่ง สำหรับรายงานสรุปในรายละเอียดข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำ AUKUS ร่วมกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ให้รับรู้ สปุตนิก นิวส์รายงานวันที่ 14 มี.ค.ว่า แต่ทว่ากลับไม่ได้รับคำตอบจากปักกิ่งแต่อย่างใด

ท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่ออกมาแสดงความวิตกต่อความขัดแย้งไต้หวันสะท้อนถึงความวิตกภายในออสเตรเลียที่ต่างหวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งอาจกลายเป็นสงครามใหญ่ในภูมิภาคถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์ตีพิมพ์ประจำวันศุกร์ (17) ส่งเสียงยืนยันว่า ออสเตรเลียเคยปฏิเสธต่อ “วอชิงตัน” มาอย่างยาวนานเกี่ยวกับไต้หวัน และการตอบ YES ออกไปในเวลานี้จะยิ่งเร่งให้เกิดนิวเคลียร์โจมตีเร็วยิ่งขึ้น

ในบทบรรณาธิการกล่าวว่า ในอดีตกองทัพออสเตรเลียเคยร่วมรบทั้งในเวียดนาม อัฟกานิสถาน และอิรักกับชาติที่มีกองกำลังศักยภาพต่ำกว่า แต่ในความขัดแย้งไต้หวันที่กำลังคุกรุ่นโดยมีการประชันกันทางอากาศและทางทะเลระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งอยู่ในเวลานี้ จะทำให้เป็นครั้งแรกออสเตรเลียจะเผชิญหน้ากับชาติมหาอำนาจทางนิวเคลียร์

และการเข้าร่วมความขัดแย้งประเด็นไต้หวันจะเหมือนกับเป็นรอยด่างทางประวัติศาสตร์ให้ออสเตรเลียในการสืบค้นต่อไปในอนาคตเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลย์ ในการด่วนกระโจนเข้าร่วมสงครามอิรักกับสหรัฐฯ และสุดท้ายกลายเป็นว่าหลักฐานอาวุธมหันตภัยร้ายตามที่ทำเนียบขาวอ้างนั้นไม่มีอยู่จริง

บทบรรณาธิการชี้ว่า “ความผูกพันอันเกินขอบเขตของข้อตกลงเรือดำน้ำ AUKUS ของพวกเราที่ทำไปนั้นดูเสมือนสหรัฐฯ จะส่งข้อความออกมาให้รู้ว่า พวกเรานั้นกำลังลงนามเข้าสู่สงคราม”

หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์กล่าวว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่าการออกมาประลองกำลังระหว่างสหรัฐฯ และจีนนี้มีโอกาสต่ำสุดที่จะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ระหว่างกัน

บทบรรณาธิการยังอ้างว่า มีนักการทูตฝรั่งเศสให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ปักกิ่งอาจใช้เป้าหมายทดแทน (surrogate target) เป็นต้นว่า โจมตีไปที่เกาะกวมอาณานิคมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายทดแทนต่อการโจมตีแผ่นดินใหญ่อเมริกาที่จะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมารุนแรงลดลงจากการตัดสินใจนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น