xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : พันธมิตร ‘AUKUS’ เปิดแผนเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ต้าน ‘จีน’ สยายอิทธิพลในอินโด-แปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย USS North Dagota (SSN 784) ระหว่างปฏิบัติการฝึกทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ปี 2013 (แฟ้มภาพ)
สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียประกาศแผนจัดหาฝูงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แคนเบอร์ราภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าโครงการ 368,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สูงสุดในประวัติศาสตร์แดนจิงโจ้ ขณะที่จีนออกมาเตือน 3 ชาติซึ่งรวมตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหาร “ออคัส” (AUKUS) ว่ากำลังเดินบนเส้นทางที่ “ผิดพลาดและอันตราย” และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธ

รัฐบาลออสเตรเลียแถลงเมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.) ว่ามีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ สูงสุด 5 ลำ หลังจากนั้นจะผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และอังกฤษ ภายใต้แผนซึ่งจะช่วยให้ตะวันตกสามารถคานอิทธิพล “จีน” ในเอเชีย-แปซิฟิกได้มากขึ้น

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ย้ำว่าออสเตรเลียซึ่งเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร AUKUS กับวอชิงตัน และลอนดอนเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว “จะไม่ได้รับอาวุธนิวเคลียร์” ผ่านทางโครงการนี้แน่นอน

กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการครอบครองเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งเคลื่อนไหวได้เงียบและสามารถหลบหลีกการตรวจจับของข้าศึกได้ดีขึ้น จะทำให้ออสเตรเลียก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มมหาอำนาจแถวหน้าที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการต่อต้านอิทธิพลทางทหารของจีน

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในงานแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า “แถลงการณ์ร่วมล่าสุดของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย สะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 2 ชาติไม่ได้ใส่ใจความกังวลของประชาคมโลก และกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งความผิดพลาดและอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตัวเอง”

หวัง ยังวิจารณ์ 3 ชาติตะวันตกว่าจงใจกระพือการแข่งขันด้านอาวุธ และมองว่าข้อตกลงนี้ “เป็นตัวอย่างชั้นดีของแนวคิดยุคสงครามเย็น (Cold War mentality)”

“การจำหน่ายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ (ให้ออสเตรเลีย) เข้าข่ายเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายนิวเคลียร์ ซ้ำยังเป็นการละเมิดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty - NPT)”

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยืนยันว่า ทาง IAEA จะดำเนินการตรวจสอบจนแน่ใจว่าโครงการนี้จะไม่ก่อความเสี่ยงแพร่กระจายนิวเคลียร์

ด้านรัสเซียซึ่งกำลังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ออกมาตำหนิกลุ่มชาติตะวันตกว่าจงใจ “จุดชนวนการเผชิญหน้า” ขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก

“ด้วยการสร้างกลไกอย่าง AUKUS บวกกับการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สู่เอเชีย โลกแองโกลแซ็กซอนกำลังวางเดิมพันเพื่อนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี” เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุ

คำประกาศของทั้ง 3 ชาตินี้มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (13) ที่ฐานทัพเรือในเมืองแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า อเมริกา “เป็นผู้ปกป้องเสถียรภาพในอินโดแปซิฟิกมายาวนานหลายทศวรรษ” ซึ่งโครงการพันธมิตรเรือดำน้ำนี้ “จะยิ่งส่งเสริมแนวโน้มให้เกิดสันติภาพต่อไปในอีกหลายทศวรรษหน้า”

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่จะถูกจัดหาให้ออสเตรเลีย คาดว่าจะติดตั้งขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลซึ่งถือเป็น “อาวุธป้องปราม” ที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่าโครงการซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลาหลายสิบปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายรายเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะ 10 ปีแรก และช่วยสร้างงานในออสเตรเลียได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ตำแหน่ง

อัลบานีส ย้ำว่า ออสเตรเลียถือเป็นประเทศที่ 2 ของโลกตามหลังอังกฤษที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทรัพย์สินนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ เปิดการแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ณ ฐานทัพเรือในเมืองแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 13 มี.ค.
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ให้ข้อมูลว่าสหรัฐฯ จะจำหน่ายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย (Virginia) ที่ติดอาวุธแบบดั้งเดิม 3 ลำให้ออสเตรเลียนับจากนี้ไปจนถึงทศวรรษ 2030 และอาจเพิ่มจำนวนเป็น 5 ลำหากมีความจำเป็น

หลังจากนั้น อังกฤษและออสเตรเลียจะร่วมกันพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ชั้น SSN-AUKUS ซึ่งจะเป็นการออกแบบโดยอังกฤษ ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และ “สนับสนุนด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในฐานอุตสาหกรรมของทั้ง 3 ประเทศ” ซัลลิแวน ระบุ

เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์ (Collins) ที่ออสเตรเลียกำลังจะปลดระวาง เรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียถือว่ามีความยาวมากกว่ากันเกือบเท่าตัว และสามารถบรรทุกลูกเรือได้มากถึง 132 นาย

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพเรืออังกฤษจะได้รับเรือดำน้ำ SSN-AUKUS ที่มีเทคโนโลยี “ล้ำสมัย” ภายในปลายทศวรรษ 2030 ส่วนออสเตรเลียจะได้รับในช่วงต้นทศวรรษ 2040 โดยระหว่างนั้นทหารเรือ วิศวกร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของออสเตรเลียจะร่วมฝึกกับเจ้าหน้าที่อเมริกาและอังกฤษ และเรือดำน้ำของอังกฤษและอเมริกาจะแวะเทียบท่าในออสเตรเลียเป็นประจำ

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้ออกมาวิจารณ์สหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนว่าเป็นโต้โผนำชาติตะวันตกพยายาม “ปิดล้อมและกดดันจีนทุกทาง” ในขณะที่วอชิงตันออกมาโต้กลับว่า ปักกิ่งสร้างความวิตกกังวลให้หลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกด้วยการข่มขู่รุกรานไต้หวัน

“สิ่งที่เราเห็นก็คือจีนได้กระทำการยั่วยุอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดระยะเวลา 5-10 ปีภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ระบุ

“สิ่งที่เราทำคือความพยายามปกป้องและธำรงไว้ซึ่งระบบปฏิบัติการในอินโด-แปซิฟิก”

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้นสามารถดำอยู่ที่ระดับความลึกได้นานเป็นเดือนโดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ และยังถูกตรวจจับได้ยากกว่าเรือดำน้ำทั่วไปด้วย ปัจจุบันยังไม่มีรัฐภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) อื่นใดที่ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ยกเว้น 5 ชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส
กำลังโหลดความคิดเห็น