xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เงินเฟ้ออเมริกากับลัทธิเคนเนเชียนทางทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


โจ ไบเดน
เปิดฉากสัปดาห์นี้...ตรงกับวันจันทร์ที่ 31 ม.ค. หรือตรงกับวันสิ้นเดือนมกราคมแบบพอดิบ พอดี แต่ยังไงๆ คงหนีไม่พ้นต้องแวะไปแถว “แนวรบยุโรปตะวันออก” กันอีกนั่นแหละทั่น!!! ด้วยเหตุเพราะผู้นำมหาอำนาจสูงสุด อย่าง “ผู้เฒ่าโจ ไบเดน”ในฐานะประธานาธิบดีอเมริกัน ว่ากันว่า...ระหว่างเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ ทางโทรศัพท์กับผู้นำยูเครน “นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี” (Volodymyr Zelensky) ประมาณช่วง 20 นาทีเมื่อวันพฤหัสฯ สัปดาห์ที่แล้ว (27 ม.ค.) ท่านได้แอบซุบซิบ แอบกระซิบ กันแบบอีท่าไหนก็มิอาจทราบได้ แต่ก็ได้กลายเป็นข่าวคราวระดับดังกึกก้องไปทั่วทั้งโลก ว่าท่านได้แจ้งเตือนต่อผู้นำยูเครนถึงวัน ว. เวลา น. ว่ากองทัพรัสเซียน่าจะ “บุกยูเครน”ภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้อยู่แล้วแหงมๆ...

คือคงไม่ใช่แค่ข่าวเมค แบบจาก “แหล่งข่าว”หรือจาก “รายงานข่าว”แต่เพียงเท่านั้น เพราะขนาดโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ คุณ “Emily Horne” เธอก็ได้ออกมายืนยันเอาไว้ในแนวนี้ หรือบอกว่าประธานาธิบดีอเมริกันรายนี้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ ที่กองทัพหมีขาวจะบุกประเทศยูเครนภายในเดือนกุมภาพันธ์ หรืออีกแค่ไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนจะจริง-ไม่จริง จะเป็นไปตามการฟันธงและฟันเฟิร์ม ของ “ผู้เฒ่าโจ”หรือไม่ เพียงใด อันนั้น...ก็คงต้องรอรัก-รอลุ้น เอาเองก็แล้วกัน แต่สำหรับผู้นำยูเครน อย่าง “นายเซเลนสกี” แล้ว กลับดูจะไม่ได้ออกอาการ “หูแหก-ตาแหก” กับข่าวล่า-มาเรือ หรือกับ “คำเตือน” ของผู้นำอเมริกาในเรื่องนี้มากมายสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม...กลับเริ่มแสดงออกถึงความหงุดหงิด งุ่นง่าน ต่อการตีปี๊บ ตีฉิ่ง ตีฉาบ ของบรรดานักการเมืองอเมริกันและสื่อกระแสหลักฝ่ายตะวันตก ในการป่าวประโคม โหมกระพือ ว่าประเทศยูเครนหนีไม่พ้นต้องถูกกองทัพรัสเซียบุกแหลกแล้วแหกค่าย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ...

เพราะไม่ว่าจะบุก-ไม่บุก บุกเมื่อไหร่ หรือตอนไหน...แต่ ณ ทุกวันนี้ ถ้าว่ากันตามคำพูด คำจา ของผู้นำยูเครน ด้วยเหตุเพราะการโหมกระพือข่าวคราวในลักษณะดังกล่าว ถึงกับทำให้บรรดา “นักลงทุน”ทั้งหลาย ถอนการลงทุนออกไปจากประเทศยูเครนไปแล้วไม่น้อยกว่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ หรือเป็นข่าวคราวที่ก่อให้เกิด “ความไม่สมดุล”ขึ้นภายในประเทศ โดยไม่ว่าจะจริง-ไม่จริงก็แล้วแต่ อดีตดาวตลกผู้จับพลัด จับผลูขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครนรายนี้ เลยหนีไม่พ้นต้องออกมาปรามๆ เอาไว้อย่างเป็นเรื่อง-เป็นราว ประมาณว่า... “จากกระแสข่าวคราวทุกวันนี้ ทำให้ดูเหมือนประเทศเราได้เข้าสู่สงครามเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับบรรดาทวยทหารกำลังเดินทัพอยู่ตามถนนสายต่างๆ และผู้คนต้องเผ่นกระเจิดกระเจิงหนีไปโน่น-ไปนี่ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย และทุกวันนี้เรายังไม่ได้เห็นการยกระดับสถานการณ์ใดๆ ที่นอกเหนือไปจากเท่าที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แม้ทหารรัสเซียอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมเคยคาดการณ์ เคยบอกกล่าวมานานแล้ว ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วเอาเลยก็ว่าได้...”

พูดง่ายๆ ว่า...การอาการ “หูแหก-ตาแหก”ของนักการเมืองและสื่อตะวันตก รวมทั้งตัวประธานาธิบดีอเมริกันอีกด้วย ชักจะกลายเป็นตัวสร้างผลกระทบให้กับ “เศรษฐกิจยูเครน”ยิ่งกว่าการบุก-ไม่บุกของกองทัพรัสเซีย ที่ยังไม่รู้จะออกหัว ออกก้อย ออกหมู่ ออกจ่า ออกสารวัตรกันจริงๆหรือไม่ เมื่อไหร่และตอนไหน??? แต่ก็นั่นแหละ...ในฐานะที่ยูเครนได้กลายเป็น “ไพ่” ใบสำคัญของคุณพ่ออเมริกาไปแล้ว ในการยั่วยวนกวนส้นตีนหมีขาวให้ต้องหงุดหงิด งุ่นง่าน ขึ้นมาตามลำดับ ผู้นำอเมริกาเลยต้องพยายามหันไปปลอบขวัญ ปลอบอก ปลอบใจ ด้วยการประกาศว่ากำลังคิดจะส่ง “ความช่วยเหลือพิเศษ”ให้กับยูเครนทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร โดยขั้นแรกจะส่งเงินประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ไปให้กับการพัฒนาและความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน นอกเหนือไปจากที่เคยส่งเงิน ส่งอาวุธ ส่งรถถัง ฯลฯ ไปช่วยประเทศนี้มาก่อนหน้านั้น...

อย่างไรก็ตาม...สำหรับประเทศรัสเซียช่วงนี้ นอกเหนือไปจากความผิดหวังจากการปฏิเสธของคุณพ่ออเมริกาและนาโต ต่อ “ข้อเสนอ”ของรัสเซีย ที่ต้องการให้เกิดมุมจบแบบแฮปปี้ เอนดิ้ง ด้วยการสร้าง “หลักประกัน”และยุติการ “ขยายตัว” ของอเมริกาและนาโตมายังปากประตูหน้าบ้านของรัสเซีย แต่ก็ยังไม่ถึงกับมีอะไรขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมากมายนักในแง่ของ “การทหาร”มีแต่แค่ความพยายามเดินหน้าใน“การเจรจา”โดยเฉพาะการนั่งโต๊ะจับเข่าจับหัวหน่าว ระหว่างตัวแทน 4 ฝ่ายคือรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ตามแบบฉบับ “Normandy Four”ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับแต่ช่วงวันพุธที่แล้ว (26 ม.ค.) โดยจะสามารถก่อให้เกิดข้อยุติ เกิดจุดลงตัว หรือไม่? อย่างไร? ก็ยังยากที่จะคาดเดาได้ แต่ก็อย่างที่ผู้นำรัสเซีย ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ท่านได้ออกมาเน้นเอาไว้แล้วนั่นแหละว่า... “ไม่ควรมีประเทศใด ที่พยายามจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับความมั่นคงของตัวเอง โดยปล่อยให้ประเทศอื่นเป็นผู้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแห่งความเสียหาย...”

แต่สิ่งที่น่าสังเกตและน่าคิดสะกิดใจเอามากๆ ก็คือท่ามกลางสีสันบรรยากาศ แห่งความเข้มขมึงตึงเครียด อย่างชนิดแทบไม่รู้ว่าจะลดราวาศอกลงไปในแบบไหน เมื่อไหร่ ผู้ที่ออกอาการ “กระดี้กระด้า”อย่างเป็นพิเศษ กลับได้แก่บรรดาผู้บริหารบริษัทผลิตอาวุธยุทธปกรณ์ ของคุณพ่ออเมริกาเขานั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท “Raytheon” “Lockheed Martin” “Aerospace”และ “Boeing”ฯลฯ ที่ต่างก็มีสัมปทาน มีสัญญิง สัญญา ในการผลิตอาวุธชนิดต่างๆ ป้อนให้กับกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอด ถึงขั้น “นายGreg Hayes” ซีอีโอ บริษัท “Raytheon”และ “นายJim Taiclet” ซีอีโอ บริษัท “Lockheed Martin”ออกมาปลุกกระตุ้น “นักลงทุน”ในช่วงวันเดียวกัน ถึง “อนาคตอันสดใส”ของบรรดาบริษัทเหล่านี้ โดยเฉพาะ “นายGreg Hayes” ที่ได้สรุปไว้ด้วยความตื่นเต้ลล์ล์ล์ ตื่นตา ตื่นใจ ประมาณว่า... “เพียงแค่ลองมองไปยังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เครื่องบินโดรนของพวกกบฏเยเมน ถล่มโจมตีสิ่งสาธารณูปโภคของประเทศยูเออี มองไปถึงความตึงเครียดในยุโรปตะวันออก ไปจนถึงทะเลจีนใต้ บรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นตัวสร้างแรงกดดันให้กับการใช้จ่ายในด้านกลาโหมที่มีแต่ต้องเพิ่มขึ้นๆ ดังนั้น...ผมจึงคาดหวังได้อย่างเต็มที่ ว่าเรากำลังได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้...”

นี่... แสบบ์บ์บ์ขนาดไหนก็ลองไปคิดดูเอาเองก็แล้วกัน แต่ก็คงไม่ถึงกับถือเป็นเรื่อง “แปลกแต่จริง”แต่อย่างใด เพราะอย่างที่ว่าเอาไว้แล้วนั่นแหละว่า การ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ของประเทศจักรวรรดิทุนนิยมอย่างคุณพ่ออเมริกานั้น มักต้องอาศัยกรรมวิธีแบบที่เรียกว่า “ลัทธิเคนเนเชียนทางทหาร”หรือ “Military Keynesianism” มาโดยตลอด ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 สงครามเย็น สงครามกับการก่อการร้าย ฯลฯ ชนิดถ้าไม่มีสงคราม ไม่มีการผลิตอาวุธออกมาป้อนกองทัพอเมริกันหรือเอาไว้เซ็งลี้ใครต่อใครขึ้นมาเมื่อไหร่ รัฐบางรัฐที่ถือเป็นตัวจักรแห่งอุตสาหกรรมประเภทนี้ อย่างเช่นรัฐแคลิฟอร์เนีย อาจถึงขั้น “เจ๊ง...กับ...เจ๊ง” เอาง่ายๆ...

แต่ก็นั่นแหละ...ถ้าว่ากันตามความคิด ความอ่าน ของอดีตนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ อย่าง “นายErnest Mandel”ที่เคยตั้งข้อสังเกต ข้อวิเคราะห์ เอาไว้ตั้งแต่หลายต่อหลายสิบปีที่แล้ว แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรายจ่ายทางทหารหรือด้วยอุตสาหกรรมอาวุธ มันอาจพอช่วยให้เกิดทางออก ทางรอด ในบางช่วง บางระยะ ได้จริงๆ ก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่สินค้าอย่างอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย มันออกจะผิดแผก แตกต่าง ไปจากสินค้าธรรมดาโดยทั่วไป คือไม่ได้เป็นตัว “ดูดซับพลังการซื้อ” ให้ลดน้อยถอยไปจาก “ตลาด”ถึงแม้พยายามสร้าง “ดีมานด์” หรือ “ความต้องการ”ด้วยความเข้มขมึงตึงเครียดแห่งการเผชิญหน้า ด้วยสีสันบรรยากาศแห่งสงครามเพียงใดก็ตามที แต่ในเมื่อสินค้าเหล่านี้มันไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย มีแต่หนักไปทางล้างผลาญ ทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่างให้ต้องพังพินาศย่อยยับยิ่งขึ้นไปอีก มันจึงอาจกลายเป็นตัวเร่งให้ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่กำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 40 ปีของอเมริกา กลายสภาพเป็น “ภาวะเงินเฟ้อถาวร”ได้ทุกเมื่อ!!! จริง-ไม่จริงก็ลองรอรัก-รอลุ้น กันได้นับตั้งแต่บัดนี้...




กำลังโหลดความคิดเห็น