ขณะที่นายกฯ อังกฤษบอริส จอห์นสัน กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสภาฯ ถึงการลักลอบจัดงานเลี้ยงคริสต์มาสที่ทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ในช่วงคริสต์มาสปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 กำลังออกฤทธิ์หนักหน่วง และนายกฯ บอริส เองก็เพิ่งหายจากติดโรคโควิดอาการปางตาย
และเป็นช่วงที่รัฐบาลของเขาเองได้ออกกฎเข้มที่ห้ามมีการอยู่ร่วมกันเกิน 2 คนในที่สาธารณะ
และมีชาวอังกฤษเป็นจำนวนกว่าหมื่นคนที่ถูกจับ และปรับเมื่อฝ่าฝืนกฎเข้มนี้
อาทิตย์นี้ ก็มีข้อมูลหลักฐานลับโผล่ออกมาอีกถึงการลักลอบจัดงานเลี้ยงฤดูใบไม้ผลิของปี 2020 ที่สวนดอกไม้ของทำเนียบเลขที่ 10 เช่นกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่อากาศแจ่มใสวันที่ 20 พฤษภาคม ท่ามกลางกฎแม้ห้ามอยู่เกิน 2 คนในที่สาธารณะ ผู้คนแทบทั้งหมดต้อง Work From Home และไม่ออกมาเดินในที่สาธารณะตามกฎเข้มของรัฐบาล
ทางสถานี ITV ได้เผยแพร่ทวิตเตอร์ของเลขาคู่ใจของนายกฯ บอริส ได้เขียนทวิตเตอร์ถึงเหล่าคนทำงานใกล้ชิดนายกฯ บอริส จำนวนมากถึงกว่า 100 ราย...ในนั้นมีผู้บริจาครายใหญ่ให้แก่นายกฯ บอริส ด้วย...โดยชักชวนให้มากินเลี้ยงฉลองฤดูใบไม้ผลิที่แสนหวานสดชื่นที่สวนของทำเนียบ...ในคำเชิญของเลขาคนโปรดของบอริส บอกด้วยว่า... อย่าลืมเอาเหล้ามาเองด้วย!
สถานีโทรทัศน์ของอังกฤษ เขาทำงานแบบสืบสวน และคงมีมือดีที่ส่งภาพประกอบงานเลี้ยงนี้มาให้เผยแพร่...
ข่าวงานเลี้ยงช่วงใบไม้ผลินี้ กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มในสภาฯ และทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอังกฤษที่ประชาชนเคยมอบให้...ได้ลดลงอย่างมาก (จากโพล) และถึงกับเมื่อมีเลือกตั้งซ่อมเมื่อเร็วๆ นี้ ในตอนกลางของเกาะ ซึ่งเป็นถิ่นของพรรคอนุรักษนิยมมาเป็นเวลาร้อยกว่าปี...ปรากฏผู้สมัครของพรรคอนุรักษนิยมก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งซ่อมในเก้าอี้ที่ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมเคยครองแล้วมาลาออกกลางคัน! แต่ที่สำคัญคือ ผู้ได้รับเลือกกลับกลายเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรค LibDem ซึ่งเป็นพรรคที่เคยเสนออย่างเข้มข้นให้อังกฤษยังคงอยู่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงข้ามกับของบอริส จอห์นสัน ที่เสนออย่างแข็งกร้าวให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
คะแนนนิยมของนายกฯ บอริส และของพรรคอนุรักษนิยมขณะนี้ลดลงอย่างมาก และตามหลังพรรคฝ่ายค้าน (พรรคแรงงาน) โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคแรงงานคนใหม่กำลังมีคะแนนความน่าเชื่อถือสูงกว่าบอริสมาก
ข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติกมาทางฝั่งสหรัฐฯ อาทิตย์นี้มีการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภา เพื่ออนุมัติแต่งตั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (หรือ Fed) ซึ่งรัฐบาลโดย ปธน.ไบเดนได้เสนอชื่อของประธาน Fed คนเดิมคือ Jerome Powell ซึ่งถ้าผ่านการเห็นชอบอนุมัติจากคณะกรรมาธิการชุดนี้แล้ว ก็จะต้องไปผ่านเสียงอนุมัติเห็นชอบจากวุฒิสภาเต็มคณะด้วย
ในการพิจารณาครั้งนี้ ส.ว.หญิงคนดังของคณะกรรมาธิการชุดนี้คือ อลิซาเบธ วอร์เรน แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้แสดงจุดยืนจะขัดขวาง และลงมติไม่ให้การสนับสนุนประธานเจอโรม เพราะบอกว่า ภายใต้การนำของประธานเจอโรมนั้น เกิดข้อครหาถึงความไม่โปร่งใสจากการกระทำที่สร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของ Fed ในฐานะคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของชาติ
มีเรื่องฉาวโฉ่ที่เปิดเผยถึงกรรมการ Fed ถึง 3 คนที่ได้ทำการซื้อขายหุ้นที่ตนถืออยู่ในช่วงหุ้นดิ่งหนักเมื่อเกิดการระบาดของโควิดในต้นปี 2020 และต่อมาคนเหล่านี้มีส่วนรู้เห็นหรือลงคะแนนให้ Fed ออกนโยบายการเงินที่เพิ่มสภาพคล่องอย่างมากมายมาพยุงเศรษฐกิจ คือ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมหาศาล และรัฐบาลจะได้เงินมาบริหารประเทศนั่นเอง ที่เรียกว่า QE (ย่อมาจาก Quantitative Easing)
กรรมการ Fed สองคนแรกคือ ประธานภูมิภาคของ Fed ประจำเขตเมืองดัลลัส (รัฐเทกซัส) ชื่อ Robert Kaplan...อีกคนคือ ประธานภูมิภาคของ Fed ประจำเขตเมืองบอสตัน (รัฐแมสซาชูเซตส์) ชื่อ Eric Rosengren ทั้งคู่รีบเทขายหุ้นที่ถืออยู่ (เป็นหุ้นรายยักษ์เช่น Amazon, และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเช่น ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก เป็นต้น) ในช่วงที่หุ้นเหล่านี้กำลังเริ่มจะดิ่งจากความโกลาหลเมื่อโควิดเริ่มระบาดในสหรัฐฯ ช่วง Q1 ของปี 2020
เป็นการขายขณะที่ราคาหุ้นก่อนดิ่งได้ราคาสูงมาก เหมือนนกรู้ถึงสถานการณ์หุ้นจะดิ่ง
ต่อมาทั้งสองคนก็ร่วมประชุม Fed และผลักดันนโยบายให้ Fed เพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมหาศาลต่อเดือน เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ เพื่อพยุงการปลดคนงานในช่วงการล็อกดาวน์...และทำให้หุ้นวิ่งกลับมาทำนิวไฮวันแล้ววันเล่า...พวกเขาได้กำไรกันเป็นล้านๆ เหรียญ
นสพ.ชั้นนำเช่น นิวยอร์ก ไทมส์ และวอชิงตัน โพสต์ ได้นำเอาประวัติการซื้อขายหุ้นของทั้งสองมาเปิดโปง รวมทั้ง ส.ว.อลิซาเบธ วอร์เรน ก็โวยวายขึ้น จนทั้งสองได้ลาออก พร้อมกับประธานเจอโรม ก็ได้ทำการสอบสวน ปรากฏว่า การกระทำของทั้งคู่อยู่ในบริเวณสีเทา เพราะกฎ (ที่มีรูโหว่) ของ Fed ห้ามกรรมการ Fed ซื้อขายหุ้นของตน เฉพาะถ้าเป็นหุ้นของสถาบันการเงินเหล่านั้น; พวกกลุ่มเทคโนโลยีกลับไม่มีกฎห้าม ซึ่งประธานเจอโรมก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎให้รัดกุมยิ่งขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ (ตามปกติกรรมการ Fed จะไม่ซื้อขายหุ้นของตนที่มีมาก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยจะมอบหุ้นของตนให้กับกองทุน Blind Trust เป็นผู้บริหาร เพราะเกรงผลประโยชน์จะทับซ้อน...ส่วนใหญ่จะมอบหุ้นทั้งหมดออกไปชั่วคราวขณะตนดำรงตำแหน่งกรรมการ Fed... แต่สองคนนี้ก็ทำเฉพาะหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน... คือยังคงซื้อขายหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยตรง!!)
ความกดดันต่อกรรมการ Fed สองคนนี้สูงมาก จนได้ลาออกไปอย่างเงียบๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว
สำหรับคนที่ 3 ที่โดนเช่นเดียวกัน เป็นถึงรองประธาน Fed ทีเดียว ชื่อ Richard Clarida มีหลักฐาน (เปิดโปงโดยนิวยอร์ก ไทมส์) ว่า ในวันที่ 24 ก.พ. 2020 ขณะที่หุ้นเริ่มจะดิ่ง เขาได้รีบเทขายหุ้นด้วยราคางาม แต่พอ Fed ออกนโยบาย QE 3 วันหลังจากนั้น เขาได้รีบเข้าซื้อหุ้นในช่วงก่อนที่หุ้นจะพุ่ง (ด้วยราคาที่ถูกมาก) โดยได้รู้ข้อมูลภายในจากการประชุม Fed ถึงการออกนโยบาย QE
เขาประกาศลาออกเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคมนี้เอง ทั้งๆ ที่เขาจะหมดวาระในวันที่ 31 มกราคม
เป็นเหตุการณ์ที่ Fed เองก็หละหลวม ไม่อุดรูโหว่ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารนโยบายการเงินของชาติ
ไม่ต่างอะไรกับการบริหารอย่างไม่โปร่งใสของรัฐบาลอังกฤษเช่นกัน