xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายไหนจะยึดครองประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความแตกแยกที่แบ่งคนไทยออกมาเป็นสองขั้วไม่ว่าเราจะเรียกว่าเสื้อแดง เสื้อเหลือง ฝ่ายเอาระบอบทักษิณ ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายปฏินิยมกษัตริย์ ฝ่ายนิยมกษัตริย์ เราต้องยอมรับว่า ทั้งสองฝ่ายมีคะแนนนิยมคือมีฐานมวลชนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนขั้วไปฝั่งไหนก็ได้

ทั้งสองฝั่งมีมวลชนในประมาณที่ใกล้เคียงกันคือประมาณ 14-15 ล้านเสียง ผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเอาเฉพาะพรรคใหญ่ๆ ฝั่งเสื้อแดง เพื่อไทยได้ 7,881,006 คะแนน อนาคตใหม่ 6,330,617 คะแนน เสรีรวมไทย 824,284 คะแนน ในขณะที่ฝั่งเสื้อเหลือง พลังประชารัฐได้ 8,441,274 คะแนน ประชาธิปัตย์ได้ 3,959,358 คะแนน ภูมิใจไทยได้ 3,734,459 คะแนน ชาติไทยพัฒนา 783,689 คะแนน

จะเห็นว่าสองฝั่งอาจมีฐานมวลชนที่ไม่แตกต่างกันนัก แต่อย่าลืมพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคที่สวิงขั้วได้ คืออาจเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งไหนก็ได้

ทีนี้มาดูการเลือกตั้งในเขต กทม.จากผลการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว ต้องยอมรับว่า กทม.แม้จะเป็นเมืองของชนชั้นกลางและเป็นเมืองของคนที่มีการศึกษา แต่กลับถูกยึดครองด้วยมวลชนเสื้อแดงไปแล้ว เพราะมี ส.ส.จากฝั่งรัฐบาลคือจากพรรคพลังประชารัฐจำนวน 12 คน แต่เป็น ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่เดิมฝั่งละ 9 คนรวมเป็น 18 คน

ดังนั้นใครคิดว่า กทม.ไม่ใช่พื้นที่ของคนเสื้อแดง ฝ่ายระบอบทักษิณ ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องคิดใหม่ ไม่ต้องพูดถึงฝั่งธนที่พรรคอนาคตใหม่กวาดที่นั่ง ส.ส.ไปเกือบหมด หรือแม้แต่ฝั่งพระนครในพื้นที่ที่แม้ไม่ได้รับเลือกตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ก็มีคะแนนเบียดมาแบบสูสีมากเกือบทุกพื้นที่

นั่นแสดงว่ามีคนรุ่นใหม่ที่นิยมพรรคอนาคตใหม่เดิมหรือพรรคก้าวไกลในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งสะท้อนถึงผลการเลือกตั้งว่าฝ่ายไหนจะคว้าชัย

หากจะว่าไปแล้วการเข้ามาเป็น ส.ส.กทม.ของพรรคพลังประชารัฐนั้น เพราะคนกทม.ฝั่งหนึ่งต้องตัดสินใจเลือกในเชิงยุทธศาสตร์คือทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเลยแล้วมาลงคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ ไม่เช่นนั้นแล้ว กทม.อาจจะถูกยึดครองโดยอีกฝั่งทั้งหมด

ผลการลงคะแนนในกทม.ครั้งที่แล้วนั้น พลังประชารัฐได้ 791,893 คะแนน อนาคตใหม่ 804,272 คะแนน เพื่อไทย 604,699 คะแนน ประชาธิปัตย์ 474,820 คะแนน และอื่น ๆ 426,596 คะแนน

จะเห็นว่าฝั่งพรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคประชาธิปัตย์คะแนนจะน้อยกว่า พรรคเพื่อไทยรวมกับอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่คือพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดใน กทม.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

คะแนนเสียงที่เราเห็นนี้สะท้อนไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ฝั่งเสื้อแดงมีการเปิดตัวชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่อำพรางมาลงเลือกตั้งในนามอิสระ แต่เป็นที่รับรู้กันว่ามีพรรคเพื่อไทยหนุนหลัง ตัวแทนของพรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ที่ยังไม่เปิดตัว ในขณะที่อีกฝั่งนั้นมีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นางสาวรสนา โตสิตระกูลในนามอิสระ และที่มีข่าวว่าจะลงสมัครแน่ๆ ก็คือนายสกลธี ภัททิยกุล และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ชัชชาตินั้นนอกจากได้คะแนนเสียงจากฝั่งเพื่อไทยแล้ว การพรางตัวเหมือนเป็นคนกลางของเขาก็ได้ผลด้วย ทำให้อาจได้คะแนนจากฝั่งตรงข้ามไปไม่น้อย ไม่ต้องพูดเลยว่า ทำไมผลการสำรวจทุกครั้งคะแนนของนายชัชชาติถึงนำห่างคนอื่นไปหลายช่วงตัว

คะแนนของการเลือกตั้ง กทม.ครั้งที่แล้วยังสะท้อนถึงผลการเลือกตั้งซ่อมในเขต 9 ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย ว่าถ้าคน กทม.ฝั่งเหลืองไม่ตัดสินใจลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์โดยเทคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งในฝั่งเดียวกันแล้ว ก็น่าจะพ่ายแพ้ให้กับอดีต ส.ส.คือนายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย

ทำไมคิดเช่นนั้นมาดูคะแนนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกัน ผมเอามาเฉพาะคนที่มีคะแนนเกิน 1 พันคะแนนขึ้นไป

พลังประชารัฐ นายสิระ เจนจาคะได้ 34,907 คะแนนได้รับเลือกตั้ง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย นายสุรชาติ เทียนทองได้ 32,115 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ นายกฤษณุชา สรรเสริญได้ 25,735 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพได้ 16,255 คะแนน พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายศักดิภัทร์ สวามิวัสดุ์ได้ 5,873 คะแนน พรรคเสรีรวมไทย นายปัณณธร รัตน์ภูริเดชได้ 2,593 คะแนน พรรคภูมิใจไทย นายบวรกิตติ์ สันทัดได้ 1,666 คะแนน

นายสุรชาตินั้นมีคะแนนเดิมอยู่แล้ว 32,115 คะแนน มีโอกาสได้คะแนนของพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ครั้งที่แล้วได้คะแนนมาเพราะนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์นำทีมประกาศว่าจะอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล และอาจได้คะแนนของพรรคเสรีรวมไทยด้วย แม้จะมีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลฝั่งเดียวกัน แต่คะแนนก็ไม่น่าจะตัดกันมากแม้ก้าวไกลจะเอาคนที่มีชื่อเสียงมากขึ้นเพราะเป็นดารามาลงสมัคร

แต่ไปดูอีกฝั่งหนึ่งมีทั้งภรรยาของนายสิระ พรรคกล้า โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และตัวแทนจากพรรคไทยภักดี ต้องหารกันจากฐานคะแนนเดิมของฝั่งนี้ แล้วแต่ละคนมีน้ำหนักที่ห้ำหั่นกันเสียด้วยไม่ว่าจะเป็นเมียของนายสิระ อรรถวิชช์ หรือตัวแทนพรรคไทยภักดีแม้จะเป็นคนที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนัก แต่ได้รับแรงหนุนจากหมอเหรียญทอง แน่นหนา เจ้าถิ่น หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล อาจารย์อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นกองหนุน คะแนนฝั่งนี้จึงน่าจะแข่งกันรุนแรงจนเบียดกันแล้วพากันแพ้นายสุรชาติในที่สุด

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นทางเดียวที่ใครคนใดคนหนึ่งในฝั่งนี้จะชนะเลือกตั้งก็คือ คนกรุงเทพฯ ฝั่งนี้ต้องเลือกในเชิงยุทธศาสตร์คือเทคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งแล้วทิ้งอีก 2 คนไปเลย ไม่เช่นนั้นก็จะพ่ายแพ้อีกฝั่งแน่ๆ

แต่ที่น่าหวั่นไหวก็คือ ถ้าพรรคไทยภักดีไม่ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แถมมีคะแนนน้อยเกินไปแล้วก็จะส่งผลเสีย เพราะพรรคไทยภักดีประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นพรรคนิยมกษัตริย์

ไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วคน กทม.เขต 9 จะคิดอย่างไร และอาจพลิกผันไปจากที่ผมคาดการณ์ไว้ทั้งหมด ก็หวังว่าพรรคจากฝั่งต่อต้านระบอบทักษิณจะชนะเลือกตั้งได้ แต่ถ้าถามตอนนี้ก็เชื่อว่าเพื่อไทยจะชนะ

แต่ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะสะท้อนผลการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนเริ่มเบื่อรัฐบาลเพราะอยู่มานาน แนวโน้มการเลือกตั้งอาจจะปรากฏผลที่หลายคนไม่คาดฝัน บางที กทม.และทั้งประเทศอาจจะแลนด์สไลด์กลายเป็นสีแดงและส้มถ้าไม่เตรียมรับมือกันเสียแต่วันนี้

การเลือกตั้งซ่อม กทม.ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งก็ยังต้องแข่งขันแย่งชิงคะแนนในฝ่ายเดียวกันหนัก ไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ยังไงประชาธิปัตย์ก็ต้องส่งตัวลงมาหารคะแนนฝั่งนี้ ลองหลับตานึกว่าสุดท้ายแล้วใครจะเป็นฝ่ายชนะ

เห็นได้ชัดว่าฝ่ายเสื้อเหลือง ฝ่ายนิยมกษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษนิยม ต่างแข่งขันช่วงชิงสร้างดาวกันคนละดวงอย่างไม่มียุทธศาสตร์ไม่มีใครยอมใคร ในขณะที่อีกฝั่งนั้นมีเอกภาพมากกว่า

ถ้าเป็นอย่างนี้สุดท้ายแล้วฝ่ายไหนจะยึดครองประเทศไทยก็เก็บไปคิดกันดู

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น