xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยุคผลัดใบ : บทพิสูจน์คนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ในทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัว ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค ทำให้บรรดาผู้ที่นิยมชมชอบแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคนี้ มองเห็นอนาคตทางการเมืองของพรรคว่าสดใสขึ้น ซึ่งผิดไปจากก่อนหน้านี้บรรดาแฟนคลับของ ปชป.รู้สึกหดหู่และเหี่ยวเฉากับภารกิจทางการเมืองของ ปชป. ทั้งนี้ เนื่องจากว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ปชป.พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองภายใต้การนำและชี้นำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มาตลอด ทั้งนี้ น่าจะอนุมานเหตุปัจจัยที่ทำให้ ปชป.พ่ายดังต่อไปนี้

ในอดีตการเมืองไทยมีการต่อสู้ระหว่างการปกครองในระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ในการต่อสู้กับเผด็จการ และมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน ประกอบกับบทบาททางการเมืองส่วนใหญ่ ปชป.เป็นฝ่ายค้าน และสามารถทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านได้โดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน

แต่ต่อมาการเมืองไทยมิได้ต่อสู้กับระบอบเผด็จการเพียงอย่างเดียว แต่ต่อสู้กับพรรคการเมืองที่นิยมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน ประกอบกับปัญหาของประเทศได้เปลี่ยนไปจากปัญหาระบอบการปกครองเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต แต่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเข้ามามีบทบาทแทนที่

ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีศักยภาพภายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม เช่น พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร จึงได้รับความนิยมและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 และจากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกพรรคการเมืองแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคเฉพาะกิจตั้งขึ้นรองรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสืบทอดอำนาจต่อจากระบอบเผด็จการ ยังต้องเน้นนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม อันเป็นนโยบายดั้งเดิมของพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ

แต่ ปชป.ยังคงเป็น ปชป.ยุคเก่า ทำงานการเมืองแบบเก่า ไม่มีนโยบายเชิงรุกที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่มีการคิดนอกกรอบ จึงไม่มีนวัตกรรมทางการเมืองเมื่อเทียบกับการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองภายใต้การนำและการชี้นำของทักษิณ จึงทำให้ต่างพ่ายแพ้การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

แต่อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่ ปชป.เปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้เขียนเห็นว่าบรรดาแฟนคลับของ ปชป.ทั้งหลายคงจะมองเห็นการปรับตัวทางการเมืองในทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนว่าจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น อยู่กับเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ปชป.สามารถสรรหาคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนมีฝีมือ และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้มากพอที่เป็นพลังทางความคิดขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการได้หรือไม่

2. คนรุ่นเก่าใน ปชป.จะยอมลดบทบาท และหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยการนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

ถ้า ปชป.สามารถปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย ด้วยการนำสิ่งดีๆ จากภายนอกเข้ามาประยุกต์ให้เข้ากับอุดมการณ์ เฉกเช่นเติ้ง เสี่ยวผิง ได้นำแนวทางของมาร์กซ์มาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของจีน ซึ่งนักปราชญ์ในสมัยโบราณได้สืบทอดกันมา และบริหารประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงยุคของสี จิ้นผิง ในปัจจุบัน ภายใต้นโยบาย (Reform and Opening-up)

ถ้า ปชป.ทำได้ ก็จะกลับมาเป็นสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้อีกแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น