xs
xsm
sm
md
lg

ความร้อนแรงที่รออยู่ข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ขึ้นปีใหม่นอกจากการมาของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว หลายคนออกมาพูดถึงสถานการณ์ปีใหม่ว่ารัฐบาลจะเผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วงทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจนั้นแน่นอนอยู่แล้ว เสียงโอดโอยจากการทำมาหากินที่ยากลำบากของประชาชนระงมไปทั่วจากการเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ขึ้นปีที่สาม เครื่องช่วยหัวใจของภาวะเศรษฐกิจกำลังอ่อนล้าลงทุกวัน แม้รัฐบาลจะหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นก็ไม่รู้ว่าสายป่านจะยืดได้ยาวสักแค่ไหน

การเมืองนอกจากความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเองแล้ว ยังจะต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับสถานะที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งรวมกันได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นต่อกันหรือเว้นวรรคก็ตาม นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับการประท้วงของฝ่ายต่อต้านที่นับว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าฝ่ายการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอของพรรคพลังประชารัฐ วันนี้พรรคพลังประชารัฐแม้จะมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ดูเหมือนสภาวะทางร่างกายจะไม่ค่อยเป็นใจให้กับพล.อ.ประวิตรมากนัก ทว่าอำนาจในการบริหารพรรคกลับอยู่ในมือของธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งถูกพล.อ.ประยุทธ์ปลดจากตำแหน่ง เพราะคิดการใหญ่จะล้มรัฐบาลของตัวเอง

ลองคิดดูว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้จบครบสมัยหรือยุบสภาฯ เลือกตั้งกันใหม่ก็ตาม ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐชูพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อซึ่งน่าจะมีโอกาสมากกว่าใครในขณะที่ 250 เสียง ส.ว.ยังคงอยู่ แล้วเมื่อธรรมนัสเป็นขุนพลในการหาเสียงจะเป็นไปได้ไหมที่ธรรมนัสจะทุ่มเต็มที่ให้กับพรรคโดยไม่มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ส่วนพล.อ.ประยุทธ์จะยอมหรือที่ให้ธรรมนัสกลับมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของตัวเอง

แค่ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐก็เห็นว่ายุ่งเหยิงแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่า ภายใต้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะรักษาเสียงข้างมากไว้ได้ไหม ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้วจะทำอย่างไร ในขณะที่เสียงของ ส.ว.ถูกล็อกไว้ให้ยกมือหนุนพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

หรือสุดท้ายจะเป็นไปอย่างที่ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ บอกว่าแล้วทางออกคือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยต้องจับมือกันทั้งรัฐบาลโดยยอมให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อโดยพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงข้างมากได้บริหารกระทรวงสำคัญ ถ้าผลลัพธ์ออกแบบนี้มวลชนฝั่งที่เกลียดระบอบทักษิณจะยอมรับได้ไหม และมวลชนฝั่งระบอบทักษิณที่เกลียดเผด็จการทหารจะยอมรับได้ไหม สุดท้ายความวุ่นวายจะเกิดแล้วต้องรีเซ็ตประเทศไทยกันใหม่ไหม

แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็ต้องรอคอยให้ด่านหินของพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงวันไหนจบลงไปก่อน

เรื่องนี้อาจไม่ต้องรอนานไปถึงเดือนสิงหาคม เพราะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ไปยื่นร้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ กกต.ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ถ้า กกต.เห็นด้วยตามนี้การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความก็จะเร่งเร็วขึ้น

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า นับอายุตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกถึงเดือนสิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องจากลา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในอายุของรัฐบาลที่เหลืออยู่ เพราะถึงตอนนั้นพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจในการยุบสภาฯ แล้ว จะยอมให้ใครคนหนึ่งใน 2 ตัวเลือกของฝั่งรัฐบาลที่เหลือไหมคือ อนุทิน ชาญวีรกูล กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไปใช้บทเฉพาะกาลไปเลือกคนนอกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

แต่ถ้าศาลบอกว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ได้ถึงปี 2568 แต่ถ้าศาลบอกว่า นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งคือปี 2562 ก็อยู่ต่อไปได้อีกสมัยถึงปี 2570

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของฝ่ายกฎหมายรัฐสภานะครับที่บอกว่า การกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้

ผมคิดว่า ถ้าจะย้อนหลังเป็นโทษควรจะเป็นลักษณะความผิดทางอาญา แต่การเขียนกำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีไว้ไม่เกิน 8 ปี เป็นกฎหมายมหาชน เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของมหาชนซึ่งน่าจะใหญ่กว่าการตีความว่า กฎหมายนี้เป็นโทษโดยเฉพาะกับบุคคลใด แต่บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกับมหาชน

นอกจากนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ตอนหนึ่งว่า...

“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาถ้าพล.อ.ประยุทธ์หมดสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็คือ พรรคพลังประชารัฐจะยังอยู่ไหม แล้วถ้ายังอยู่จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นตัวเลย

นับจากนี้ไปถึงเดือนสิงหาคม ถ้าอายุในการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์จบลงแค่นี้เขาก็จะเหลือเวลาอยู่เพียง 8 เดือน การเมืองในปี 2565 นี้ก็จะต้องร้อนแรงมากขึ้นอย่างที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้

แต่ปัญหาของรัฐบาลก็ไม่ได้หนักหนาเท่ากับการชุมนุมประท้วงที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะดูเหมือนว่าฝ่ายต่อต้านจะมุ่งเน้นไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่ารัฐบาลมากขึ้น แต่ใช้เงื่อนไขความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของเผด็จการในการเป็นแรงส่งขึ้นไป พูดง่ายๆ ว่า การอยู่ในอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์นั่นแหละที่เป็นเงื่อนไขทำให้ฝ่ายต่อต้านหยิบมาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่นับว่าจะรุนแรงมากขึ้น

แม้ว่าม็อบจะดูเหมือนลดความร้อนแรงลงด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ร่อยหรอลงทุกวัน แต่เราต้องยอมรับว่าอณูของความขัดแย้งนั้นยังไม่ลดลง แต่มันแทรกซึมแผ่ซ่านไปทั่วสังคมในคนรุ่นใหม่เกือบทั้งเจเนเรชันที่เราไม่รับรู้เลยว่าจะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้นานแค่ไหน น่าตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะหาทางออกกับสถานการณ์นี้อย่างไรหรือยอมให้วันเวลาเท่านั้นที่จะกำหนดชะตากรรมของเรา

นอกจากสภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ มีการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีบนถนน ในโซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยความเชี่ยวกราก หลายคนไม่อำพรางหรือปกปิดชื่อของตัวเองอีกต่อไปในการวิพากษ์วิจารณ์ แถมปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า สื่อมวลชนหลักซึ่งค่อนข้างจะระมัดระวังไปถ่ายทอดความเห็นที่หมิ่นเหม่ผ่านเครื่องมือของตัวเอง ก็กล้าที่จะถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วสะท้อนความร้อนแรงของคนในสังคมไปพร้อมกับความอ่อนแอของฝ่ายอำนาจรัฐไปพร้อมๆ กัน

แค่การเผชิญกับสภาวะของโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงไปเมื่อไหร่ก็หนักหนาแล้ว เมื่อบวกกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ บวกกับการเมืองที่ระส่ำ ไม่รู้เหมือนกันว่านาวาที่ชื่อประเทศไทยจะผ่านสันดอนของปี 2565 ไปได้ไหม ไม่รู้ว่าประเทศจะบอบช้ำอย่างไร

ดูเหมือนปีเสือลำบากปีนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของชาติเรา

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น