ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบจากวงเงินงบประมาณปี 2566 ที่ ครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนว่า รัฐบาลไทยยังคงทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องในปี 2566 ที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากยอดขาดดุลประมาณ 7.0 แสนล้านบาทในปีงบ 2565 อย่างไรก็ดี ระดับการขาดดุลดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และจะมีผลต่อแผนการก่อหนี้ของภาครัฐในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดคงค้างหนี้ในประเทศของภาครัฐในปี 2565 (ตามปีปฏิทิน) มีโอกาสแตะระดับ 9.90 ล้านล้านบาท หรือขยับขึ้นประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทจากยอดคงค้างในปี 2564 ในจำนวนนี้หลักๆ น่าจะเป็นการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรไทยในภาพรวมจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากคาดว่า ธปท. จะปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรของ ธปท. ในปี 2565 ลง และไถ่ถอนพันธบัตรบางส่วน ซึ่งจะส่งผลทำให้ยอดคงค้างพันธบัตรของ ธปท. มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีก 0.55 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 2.38 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยปล่อยสภาพคล่องคืนกลับเข้าสู่ตลาด และเปิดพื้นที่ให้กับปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามแผนการกู้เงินเพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวทางช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร แต่กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจขยับขึ้นในปี 2565 จากผลของ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ทิศทางขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ 2) ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะภาครัฐมีแผนจะออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปีของไทย อาจขยับสูงขึ้นแตะ 0.80% และ 2.20% จากระดับ 0.66% และ 1.90% ณ สิ้นปี 2564 ตามลำดับ ซึ่งการขยับสูงขึ้นต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีผลกระทบต่อเนื่องมายังงบกำไรขาดทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ ผ่านผลของการ mark to market มูลค่าพันธบัตร ธปท. และพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารพาณิชย์ถือครองอยู่ โดยปัจจุบันน่าจะมียอดคงค้างรวมที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท
สำหรับผลต่อสภาพคล่องในระบบนั้นคงต้องยอมรับว่า ปัจจัยการกู้เพิ่มของภาครัฐจะทำให้มีการทยอยใช้สภาพคล่องในระบบ แต่คาดว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อย (แม้ว่าขนาดการปรับขึ้นอาจจะไม่สูงเท่ากับในปี 2564) เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเติบโตในกรอบที่จำกัด ขณะที่ภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 ยังยืดเยื้อน่าจะทำให้ยังคงมีการกอดสภาพคล่องในรูปเงินฝากอยู่ โดยธนาคารพาณิชย์น่าจะยังไม่รีบระดมเงินฝาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และน่าจะไม่เร่งออกตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ (ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุน) เพิ่มขึ้น เพราะได้มีการเตรียมออกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2564 นอกจากนี้ ผลกระทบจากการกู้เงินภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 จะถูกบรรเทาลงผ่านการบริหารจัดการของ ธปท. ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดปริมาณการออกและทยอยไถ่ถอนพันธบัตร ธปท. บางส่วนด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในปี 2565 จะอยู่ที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจต้องระวังการเปลี่ยนทิศมาเป็นฝั่งไหลออก โดยเฉพาะตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE และเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มมากขึ้นด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การวัดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาล และ ธปท. ที่ธนาคารพาณิชย์ถือครองเพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสินทรัพย์สภาพคล่องมีความผันผวนตามการ mark to market ไปด้วยเช่นกัน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่า กนง.มีแนวโน้มยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายและความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดอย่างใกล้ชิด (เช่น มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้ง) เพราะอาจจะส่งผลทำให้ความเสี่ยงต่อกระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่แรงกดดันต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เป็นอย่างเร็ว โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนติดต่อกัน และหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มขยับขึ้นจริงจะส่งผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม โดยเฉพาะดอกเบี้ยประจำ 3-12 เดือน และ MLR ซึ่งจะเป็นบวกต่อ NIM ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เพราะธนาคารจะยังไม่รับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ปรับขึ้นดังกล่าวในทันที อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องติดตามสถานการณ์คุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะหากระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยยังไม่เข้มแข็งพอ