xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 65 ดูแลลูกหนี้และเสถียรภาพสถาบันการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 65 ดูแลลูกหนี้ และภาคธุรกิจ เร่งปรับโครงสร้างเพื่อลดหนี้ และเพิ่มวงเงินสินเชื่อ ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ-ปรับหนี้ จี้ติดแบงก์ทำให้ได้ตามเป้า พร้อมกำกับดูแลให้มีเสถียรภาพ เกาะติด 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เดินหน้าฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีความเปราะบาง ขณะที่หลุมรายได้ที่หายไปของคนไทยน่ากังวลมากขึ้นจากการยืดเยื้อของวิกฤต โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว บริการที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น โจทย์หลัก และหน้าที่หลักของ ธปท.คือ จะทำอย่างไรให้การฟื้นตัวช้าๆ และเปราะบางที่เป็นอยู่ไปต่อได้ไม่สะดุด 

จากการประเมินสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้สะดุดได้มีอยู่ 4 ความเสี่ยงหลัก ความเสี่ยงแรกคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่ ธปท.ประมาณการไว้ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มาเร็วและไปเร็วภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์โอกาสที่เศรษฐกิจสะดุดจะมีไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม หากการระบาดลากยาวออกไป หรือมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความรุนแรงมากกว่าเกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่ ธปท.คาดการณ์่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก อาจจะกระทบให้เศรษฐกิจสะดุดได้

ความเสี่ยงที่ 2 คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาด้านเสถียรภาพราคา โดยจากการประมาณการของ ธปท.อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงาน และราคาอาหาร และสินค้าบางประเภท แต่ยังไม่ได้สูงขึ้นในภาพรวม หรือเป็นการเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าในเร็วๆ นี้ ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากเกิดปัญหาเสถียรภาพราคา หรืออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจนเกินกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ธปท.มีเครื่องมือที่จะเข้าไปดูแล แต่ยังไม่จำเป็นในขณะนี้

ความเสี่ยงที่ 3 เป็นความกังวลเเกี่ยวการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยยอมรับว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ความสามารถของลูกหนี้และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะแย่ลง และกลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้ ธปท.ได้เตรียมการเพื่อแก้ปัญหา และใช้มาตรการรองรับไม่ให้กระทบของเสถียรภาพของระบบการเงิน และเศรษฐกิจโดยรวม และ 4 ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยส่วนแรกคือ ความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดพันธบัตร ซึ่งจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการไทย 

ด้านสถียรภาพต่างประเทศ ไทยยังมีความแข็งแกร่งมากกว่าหลายประเทศ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับที่ดี หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองต่างประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้น การระดมทุนของผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ 90% ยังเป็นการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ 10% เป็นการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรและส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ซึ่งรับความเสี่ยงได้มากกว่า ขณะที่การขยายตัวต่ำลงของเศรษฐกิจจีนกระทบไทยไม่มากเนื่องจากจีนเน้นการเติบโตจากภายในมากขึ้น และไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวออกมาในช่วง 2 ปีของโควิด

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า จากความเสี่ยงที่มี ธปท.มีหน้าที่หลักในการดูแลให้ระบบสถาบันการเงินยังทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ช่วยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น เอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินอีก 100,000 ล้านบาท ที่จะปล่อยเพิ่มได้ ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ให้สินเชื่อไปแล้วประมาณ 37,000 ล้านบาท

ธปท.ดูแลไม่ให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลออกโครงการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งยืดหยุ่นให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้หลายครั้ง เปลี่ยนเงื่อนไขได้ หากสถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยนไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหนี้ยังคงผ่อนส่งหนี้ต่อไปได้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการรวมหนี้ เอาหนี้ดอกเบี้ยต่ำที่มีหลักประกันมารวมกับหนี้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยรวมที่ลูกหนี้ต้องส่งได้ และในช่วงปลายเดือนนี้จะออกโครงการร่วมทุนการจัดการหนี้เสียระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อให้สามารถดูแลหนี้เสียได้ดีขึ้น

“หากพิจารณาในขณะนี้ มาตรการที่ธปท.ออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้เพียงพอแล้ว แต่จุดที่สำคัญคือ การเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติ และผลจริงต่อลูกหนี้ โดยในปีนี้ ธปท.จะไม่เน้นจุดพลุออกมาตรการมากๆ แต่จะเน้นให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติได้จริง โดยจะมีการตั้งเป้าหมายการปรับหนี้ระยะยาว มาตรการรวมหนี้ และผลของมาตรการอื่นๆ ให้ธนาคารพาณิชย์ และติดตามให้เป็นไปตามเป้าหมายจริง ซึ่งข้อดีคือธนาคารพาณิชย์ของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะดำเนินการ แต่ต้องตั้งใจทำจริงจัง และหากมีปัญหาหรืออุปสรรค หลักการของ ธปท.คือ จะยืดหยุ่นไม่ยึดติด สามารถเปลี่ยนแปลงมาตรการหรือกฎเกณฑ์ให้เป็นไปตามสถานการณ์ ตอบโจทย์การแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าหากทำ 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันจะสามารถประคองลูกหนี้ต่อไปได้ ในช่วงโอมิครอนระบาด เพื่อรอให้มาตรการด้านอื่นๆช่วยให้รายได้คนไทยกลับมา”


กำลังโหลดความคิดเห็น