ผู้ว่าฯ ธปท.มั่นใจเงินเฟ้อปีนี้ไม่หลุดกรอบดูแล และปีหน้าจะปรับลดลง แม้ช่วงนี้หมูแพง-น้ำมันแพงก็ตาม ยอมรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press โดยระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น เชื้อ เนื้อหมู ราคาน้ำมันนั้น ธปท.มองว่าไม่น่าเป็นห่วง และยังเชื่อว่าทั้งปี 65 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ร้อยละ1-3%
อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากจนหลุดกรอบมีมาตรการที่พร้อมจะนำออกมาใช้ดูแล โดยปีนี้คาดเงินเฟ้อเฉลี่ย 1.7% ปีหน้าจะลดลงเฉลี่ย 1.4% ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง ไม่รวดเร็ว และฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกับในแต่ละกลุ่ม (sector) หรือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะของ K-shape โดยเศรษฐกิจไทยถือว่ายังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ซึ่งคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับในระดับก่อนเกิดโควิด-19 น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 1/66 โดยปีนี้คาดจีดีพีขยายตัว 3.4% ปีหน้าขยายตัว 4-5%
ทั้งนี้ ต้องจับตา 4 ปัจจัยที่อาจเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สะดุดได้ นั่นคือ 1.การระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่หากมีตัวอื่นมาเพิ่มเติม นอกเหนือ “โอมิครอน” ซึ่ง โอมิครอนนั้น มีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนักเนื่องจากแม้ระบาดง่ายแต่ไม่รุนแรง “มาเร็วไปเร็ว” ยกเว้นจะมีสายพันธุ์มาใหม่ที่กระทบการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2.อัตราเงินเฟ้อ 3.การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้หรือ NPL และ 4.ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่ราคาสินค้าขยับขึ้น เราจะไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation แต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวแม้ไม่สูง แต่เงินเฟ้อสูง อยู่ในกรอบไม่ได้สูง แต่สิ่งที่กระทบต่อชาวบ้านมีรายจ่ายเพิ่ม ทั้งที่รายได้จากการจ้างงานยังไม่กลับมา ซึ่งอาจกระทบหนี้ครัวเรือนที่ขณะนี้มีสัดส่วนสูง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้เงินสกุลดิจิทัลในการชำระเงินราคาสินค้า เนื่องจากมีความผันผวนสูง รวมถึงมีโอกาสถูกโจรกรรมข้อมูลได้ แต่ในด้านการลงทุนนั้นสามารถดำเนินการได้ และปัจจุบัน ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปถือในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากเป็นบริษัทลูกจะต้องมาขออนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี ยกเว้นในกรณีที่บริษัทลูกที่มีหน่วยงานกำกับอื่นดูแลแทน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)