ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ฯ มั่นใจอสังหาฯ ปี 65 ขยายตัวอย่างต่ำ 10% ชี้ 5 ปัจจัยบวก 1.มาตรการรัฐ 2.จีดีพี ขยายตัว 3-4% 3.อาการผู้ติดเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง 4.ดอกเบี้ยยังต่ำ 5.ราคาบ้านยังไม่ปรับขึ้น ดีมานด์อั้นสะสมกว่า 2 ปี หนุนตลาดโตต่อเนื่อง เผยแผนลงทุนปี 65 เปิดตัว 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 8,500 ล้านบาท รับรู้รายได้ 7,200 ล้านบาท เติบโต 10%
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 65 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3-4% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดกาแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในปีนี้โควิด-19 ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศบ้างเล็กน้อย ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากผลกระทบโควิด-19 และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน โดยมี 5 ปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดรวมในปีนี้ คือ 1.มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 65 การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2.การขยายตัวของจีดีพี 3-4% ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ เกิดการจ้างงาน และการหมุมเวียนเงินในระบบเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค 3.ความรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาการไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ทำให้ผุ้บริโภคไม่กังวล และไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ผู้บริโภคออกมาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
4.อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับขึ้นถึง 3 รอบ แต่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินสำรองในระบบของประเทศไทยยังมีอยู่จำนวนมาก และ 5.ราคาขายที่อยู่อาศัยยังไม่ปรับขึ้น ประกอบกับดีมานด์สะสมที่มีจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการชะลอตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดยังมีดีมานด์อั้นสะสม และจะตัดสินใจซื้อในปีนี้
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการลลิลฯ กล่าวว่า “แม้สภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะอุตสาหกรรมในปี 65 ยังไม่เอื้ออำนวยนัก แต่ลลิลฯ เชื่อมั่นในแผนกลยุทธ์ การบริหารงาน และความเชี่ยวชาญในตลาดแนวราบ ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของลลิลฯ เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและก้าวไปสู่การเป็น National Housing Company และเป็น 1 ใน 5 แบรนด์ในใจของผู้บริโภคเมื่อต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบระดับราคา 2-8 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่ม 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับปี 65 ไว้ที่ 8,500 ล้านบาท และมีเป้ายอดรับรู้รายได้ที่ 7,200 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า 10%
“สำหรับสถานะการเงินของลลิลฯ ในปีนี้มีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 0.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่านอกจากนี้ ลลิลฯ ยังมีกระแสเงินสดสำรองเพื่อรองรับการขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ อีกกว่า 1,000 ล้านบาท โดยในปี 65 นี้ลลิลฯ ได้เตรียมงบซื้อที่ดินไว้ 1,100-1,300 ล้านบาท และพร้อมจะปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายชูรัชฏ์ กล่าว
ติงรัฐฯอย่าหลงเทคโนโลยี-ตามก้นฝรั่ง ทิ้งภูมิปัญญาไทย
นายไชยันต์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางการลงทุนในต่างจังหวัดนั้น ลลิลฯไม่ได้มองข้ามตลาดต่างจังหวัดไป เพราะที่ผ่านมายังคงพิจารณาการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และมีการสะสมที่ดินใน3จังหวัด อีอีซี ไว้บ้าง แต่ต้องชะลอแผนการพัฒนาออกไปเพราะ ต้องรอให้โครงการที่รัฐลงทุนเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต เช่น เอไอ รถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่เดินเครื่องการผลิตได้ ทำให้กำลังซื้อของแรงงานในตลาดไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะต้องรอการลงทุนอีกระยะหนึ่ง
ส่วนแผนการรับมือควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19นั้น ลลิลฯเตรียมมาตรการป้องกันไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคัดกรองพนักงาน บุคลากร และแรงงานในไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งลลิลฯเตรียมพร้อมทั้งระบบคัดกรองและป้องกันรวมถึงแก้ไข ซึ่งบริษัทมีการเตรียมยารักษาไว้สำหรับแรงงาน โดยใช้ยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายและได้ผลดี ทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน เช่น ในเรือนจำ และไซต์งานก่อสร้าง
“อยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า ควรจะมีการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 และสมุนไพรไทย ดีว่าทุ่มเม็ดเงินซื้อยารักษาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง รัฐบาลควรจัดสรรเม็ดเงินบางส่วนมาลงทุนวิจัยพัฒนาสมุนไพรไทย ในการรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่า เพื่อรักษาคนในประเทศและต่อยอด สามารถทำตลาดส่งออกไปขายในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากเป็นการส่งออกนำเม็ดเงินเข้าประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างงานในประเทศ ดีกว่าเน้นการลงทุนเทคโนโลยี เอไอ หรือ รถยนต์อีวี เพียงด้านเดียว เพราะอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ใช้แรงงานน้อย แต่ใช้เครื่องจักรทำงานเป็นหลัก เมื่อเทียบกับการพัฒนาสมุนไพรไทย ที่สร้างงานให้คนไทยได้มากกว่า”.