xs
xsm
sm
md
lg

รายใหญ่ประเมินหุ้นไทยปีขาล ดัชนี 1,800 จุด-หวั่นเฟด & โอมิครอนกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักลงทุนรายใหญ่” มองตลาดหุ้นไทยปี 2565 ฟื้นตัว เชื่อมั่นธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณคุ้มเข้มสร้างผลกระทบระยะสั้น ขณะ “โอมิครอน” ตลาดรับรู้ไปมากแล้ว คาดไม่รุนแรงเหมือนระลอกก่อน แม้ตัวเลขยอดติดเชื้อจะสร้างความผันผวนต่อเนื่อง สิ้นปีมีลุ้น 1,800 จุด หวังเงินทุนจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามา พร้อมการท่องเที่ยวฟื้น ดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัดเจน หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน และสื่อสารปีนี้น่าจะโดดเด่น

หลังจากเริ่มปีใหม่ (2565) ด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 2 วันทำการแรกของปี (4-5 ม.ค.)จนดัชนีหลักทรัพย์ขึ้นมาถึงระดับ 1,676.79 จุด ในวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยก็เผชิญกับแรงกดดันแรกจากการประกาศเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก้าวกระโดดขึ้นมาทะลุหลัก 5,000 ราย ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 1,653.03 จุด หรือลดลง 23.76 จุด ก่อนที่จะกลับมารีบาวนด์ในวันถัดมา (7 ม.ค.) 4.59 จุด ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,657.62 จุด ส่งท้ายสัปดาห์แรกของปี 2565

ภาพรวมทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจึงถูกให้น้ำหนักไปที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่ารอบก่อนหน้า ซึ่งอาจสร้างความผันให้ตลาดทุน หนำซ้ำยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญอย่างการประกาศคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า สรุปแล้วตลาดหุ้นไทยในปี 2565 จะยังสวยหรูเหมือนกับที่ใครต่อใครคาดการณ์ไว้ในช่วงท้ายปีที่ผ่านมาหรือไม่

"เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง" นักลงทุนรายใหญ่ด้านเทคนิค แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในเรื่องของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนเชื่อว่าตลาดรับรู้เรื่องนี้มาพอสมควรแล้ว ดังนั้น การที่ดัชนีปรับตัวลงมากในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะมาจากรายงาน การประชุมเดือน ธ.ค.ของ เฟด ซึ่งระบุว่า อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประเด็นนี้ส่วนตัวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตาม

“โอมิครอน จากข้อมูลทั่วโลกพบว่าอาการไม่ค่อยรุนแรง อีกทั้งวัคซีนที่มีการฉีดกันอยู่สามารถช่วยลดอาการที่รุนแรงได้ ขณะเดียวกัน เรื่องยาที่มีอยู่เชื่อว่าพอช่วยรักษาได้ ตอนนี้เริ่มมีการพูดกันว่าทุกคนอาจติดแล้วพอหายป่วยอาจเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นในช่วงนี้น้ำหนักไปอยู่ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าปกติ เพราะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องเข้ามาควบคุม และส่งผลให้ตลาดตกใจ อย่างไรก็ตาม สำหรับโอมิครอนยังน่ากังวลอยู่บ้าง หากเกิดกรณีแพร่ระบาดและมีอาการรุนแรง ได้รับผลกระทบในวงกว้าง”

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในช่วงนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี ดังนั้น จึงมีแรงเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรออกมา แต่โดยรวมยังอยู่ในทิศทางบวก และเพิ่งย่อตัวลงเมื่อเฟดออกมาส่งสัญญาณเรื่องดอกเบี้ย โดยก่อนหน้าที่เฟดจะประกาศออกมา ดัชนีดาวโจนส์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ ดังนั้นพอความกังวลระยะสั้นลดลง เชื่อว่าตลาดยังเป็นขาขึ้นอยู่ แต่รอบนี้จะเริ่มเห็นแรงเทขายทำกำไรออกมาตลอดทาง

“ภาพรวมถ้าดัชนีไม่หลุดแนวรับสำคัญ 1,630 จุด ถือว่ายังอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าหลุดลงไปถึงระดับ 1,570 จุด ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะตลาดอาจปรับตัวลงแรง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในปี 2565 “เสี่ยป๋อง”  ให้น้ำหนักไปที่หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสารน่าจะมีความโดดเด่นในปีนี้ และถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี นักลงทุนต้องหันมาพิจารณาหุ้นในกลุ่มรับการเปิดประเทศ อย่าง กลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก หรือที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ และมีความน่าสนใจเข้าลงทุน

ก่อนหน้านี้ “เสี่ยป๋อง” มีมุมมองตลาดหุ้นไทยปี 2565 ว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวจากปี 2564 ตามกราฟสัญญาณเทคนิค โดยคาดว่าปีนี้มีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะลุ 1,800 จุด เนื่องจากคาดว่าจะมีนโยบายใหม่ๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอีก ประกอบกับสัญญาณกราฟเทคนิคไม่ได้เลวร้าย โดยมองว่าหากภายใน 2 สัปดาห์ สัญญาณกราฟเทคนิคยังไม่หลุด 1,625 จุด มองว่าระยะสั้นดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่หากกราฟเทคนิคหลุดตอนนั้นนักลงทุนควรลดพอร์ตลงทุนลงบ้าง แต่หากภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ดัชนีหลุด 1,577 จุด ตอนนั้นนักลงทุนควรปรับลดพอร์ตลงทุนลง 50% เพราะมีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นจะพักฐาน

ปี 65 ปีแห่งการฟื้นตัว

ขณะที่อีกหนึ่งนักลงทุนรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงอย่าง "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยปี 2565 ว่า น่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว สะท้อนจากปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยบ้างแล้ว โดยในส่วนของตลาดหุ้นนั้นจะมองภาพอนาคตก่อน ทำให้ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะขาขึ้นชัดเจน หลังจากปี 2564 ถือเป็นปีที่ตลาดตกถึงพื้น และเชื่อว่าต่อไปไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว หลังจากรัฐบาลจำเป็นต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศแตะระดับหมื่นรายต่อวัน ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆติดลบถ้วนหน้า

ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนสำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้แนะนำลงทุนในหุ้นแบบรายตัว เพราะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมปรับขึ้นเต็มมูลค่าแล้ว อีกทั้งยังมีแต่ธุรกิจที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) โดยต้องเลือกหุ้นที่ธุรกิจมีความแน่นอน ราคายังถูกกว่าตลาด และมีเงินปันผลที่ดี และต้องเป็นธุรกิจต้องไม่สามารถถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี

“ตลาดหุ้นไทยปี 2565 จะเป็นปีของการฟื้นตัวจากปี 2564 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 1% โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3-4% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันดัชนี และการเติบโตของผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน SET50  จึงประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1,800 จุด หรือสามารถทำนิวไฮตลอดกาลได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ และมีโอกาสทำผลตอบแทนได้ในระดับ 11% ถือว่าเป็นระดับของการฟื้นตัวขึ้นมาก แต่ยังมีปัจจัยกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในสหรัฐฯ และจะเป็นปัจจัยที่กระทบตลาดหุ้นไทยด้วย”

หุ้นเติบโตตามตามวัฏจักร ศก.ขยับ

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) แสดงความเห็นว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหมายถึง อัตราการเติบโตของ GDP ในระดับที่มีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับตัวขึ้น การเพิ่มภาษีขึ้นบ้างเพื่อสร้างสมดุลให้ฐานะการเงินของรัฐบาล และสุดท้ายคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลงจากปี 2564

นั่นเพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะชะลอตัว ซึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโต 4.5% ในขณะที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังปี 2565 โดย IMF ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโต 5.1% จากการเปิดประเทศได้มากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวขึ้น แต่การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ให้ความเห็นว่า บล.ไทยพาณิชย์ประเมิน “มองบวกอย่างระมัดระวัง” โดยปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเติบโต 3.6-4.0% จากที่ติดลบ 6.1% ในปี 2563 และเติบโต 1.0% ในปี 2564 และคาดว่าการส่งออกปี 2565 จะเติบโต 2% นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 8 ล้านคน ด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากจีดีพีที่เติบโตดีขึ้น

“SCBS ประเมินผลตอบแทนของ SET Index ได้ที่ 5% ภายในสิ้นปี 2565 และ 8% เมื่อรวมเงินปันผล ในกรณีเลวร้ายหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือ 2.6% (กรณีเลวร้ายที่สุด) ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเติบโตใกล้ 0%”

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำให้เน้นหุ้นเติบโตที่ราคาสมเหตุสมผล โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ หุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโตได้ดีตามวัฏจักรเศรษฐกิจและการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ได้แก่ KBANK, AMATA, ZEN, LH และ GULF และ หุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจของโลกยุคใหม่ ได้แก่ DELTA, ADVANC, ONEE, SECURE และ XPG

ดัชนี 1,800 จุด ยังเป็นเป้าหมาย

สอดคล้องกับ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ยังเป็นช่วงขาขึ้นตามการฟื้นของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่ากลับมาเติบโต 4% จากการเปิดประเทศและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของตลาดทุนและตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดีขึ้นจนกำไรเติบโต 12% และดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นตาม โดยมองว่ามีโอกาสขึ้นไปปิดที่ 1,800 จุด ตามเป้าหมายเดิม

"การฟื้นตัวนี้ภาคท่องเที่ยวต้องฟื้น นักท่องเที่ยวต้องกลับมา และโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็หวังว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่จนต้องล็อกดาวน์อีกรอบ และในการเปิดประเทศ กิจการต่างๆอย่างผับ บาร์ ที่ยังปิดให้บริการนั้นต้องกลับมาดำเนินการตามปกติด้วย รวมไปถึงภาครัฐกระตุ้นด้วยมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและนำไปสู่การจ้างงาน"

ส่วนเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเชื่อว่าจะไหลกลับเข้าสู่ไทย โดยมีจุดขายหลัก คือการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวเป็นตัวดึงดูดสำคัญ อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงเกิดโควิด-19 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวกลับขึ้นมาแล้วประมาณ 40% แต่ตลาดไทยปรับขึ้นมาไม่ถึง 5% จึงมีความน่าสนใจมากพอสมควรในสายตาต่างชาติ โดยคาดว่าจะกลับเข้ามาเดือนละ 10,000 ล้านบาท หรือทั้งปีประมาณ 100,000 ล้านบาท

ดัชนีเติบโตต่อเนื่องถึงปี 2566

ด้าน “ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในหุ้นไทย ปี 2565 สิ่งที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งจะทำให้มุมมองของนักลงทุนต่างชาติออกมาเป็นบวกต่อภาพการลงทุน ซึ่งหากสามารถเดินเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวได้ก็อาจมีผลทำให้เม็ดเงินต่างชาติกลับเข้ามา ขณะเดียวกัน ที่ล้อไปกับภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับเข้ามาในครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งผนวกกับเรื่องการเลือกตั้ง น่าจะทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น และมีโอกาสทำนิวไฮได้ในปี 2566

"ถ้าเป็นไปตามคาดตลาดหุ้นไทยจะเริ่มน่าสนใจมากขึ้น เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาหลังการเลือกตั้งเสร็จ พร้อมกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัดเจน เม็ดเงินฟันด์โฟลว์จะเริ่มกลับเข้ามาหนุนดัชนีหุ้นไทยทำนิวไฮ"

โดยในปี 2565 บลจ.ทาลิส ยังให้ความสนใจในหุ้นขนาดกลางและเล็กต่อ เพราะนักลงทุนที่เทรดตลาดหุ้นไทยวันนี้ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และรายย่อยจะเทรดหุ้นขนาดกลางและเล็กเป็นหลัก ผิดกับนักลงทุนรายใหญ่หรือต่างประเทศที่เข้ามาเทรดหุ้นใหญ่ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น เม็ดเงินฟันด์โฟลว์จะยังไม่กลับเข้ามามากในปี 2565 ดังนั้นหุ้นที่ไปต่อจึงอยู่ในกลุ่มขนาดกลางและเล็ก

วัคซีนที่ทั่วถึงช่วยลดวิกฤต

สอดคล้องกับมุมมองของ “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด ซึ่งแสดงความเห็นว่า ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยมีมาตรการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 65% ยังไม่นับรวมประชากรที่รับเข็ม Booster เข็มที่ 3 นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ประชาชนสามารถกลับมาใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น

เนื่องจากข้อมูลการศึกษาของต่างประเทศบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดยหากติดเชื้อจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้มองว่าโอกาสที่รัฐบาลจะกลับไป Lock down อีกครั้งมีน้อย ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ประมาณ 3-5% ในปี 2022 และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี

"ปัจจัยหลักที่ยังให้น้ำหนักเพื่อติดตาม เพราะยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุน คือ ตัวเลขแนวโน้มเงินเฟ้อในต่างประเทศ เนื่องจากจะส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก และส่งผลต่อกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถ้าธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าตลาดคาดการณ์ มองว่าจะกระทบต่อบรรยากาศตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ในทางกลับกัน ถ้าเฟดทยอยปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ ตาม dot plot ที่เปิดเผยออกมาในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งตลาดตอบรับประเด็นดังกล่าวไปพอสมควร มองว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ลักษณะ Sideway up"

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนสูงในดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยทิศทางราคาน้ำมันยังคงเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน และส่งผลต่อการพิจารณาปรับกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในระยะถัดจากนี้

ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ยังคงอยู่ในภาวะผันผวน แต่มี downside risk ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ upside ยังขึ้นอยู่กับความยั่งยืนในการเปิดเมือง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่ Valuation ของหุ้นไทยที่ค่อนข้างตึงตัวจากคาดการณ์ Forward PE ในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 17 เท่า ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ประมาณ 14.38 เท่า แต่อัตราการจ่ายเงินปันผลยังอยู่ในระดับที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.72% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค 2.60%

“บลจ.วรรณ มองเป้าหมายดัชนี SET Index ในปีนี้อยู่ที่ 1,770 จุด (คาด EPS เพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% จากปี 2564) ภายใต้สมมติฐานจากปัจจัยต่างประเทศ คาดเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 4-5% ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงธนาคารกลางสำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ถึงสิ้นปี 65 นี้ ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นการระบาดในวงจำกัดและไม่รุนแรง โดยประชากรมากกว่า 50% ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่ลดประสิทธิผลของวัคซีน ดังนั้น การลงทุนยังคงแนะนำลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ และหุ้นที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้”



เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ด้านเทคนิค

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนหุ้นคุณค่า


กำลังโหลดความคิดเห็น