ผู้จัดการรายวัน 360 - ปิดท้ายปี 2564 ภาพรวมดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 189.38 จุดจากต้นปี ด้านสถาบันเทขายสะสม 7.73 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยนักลงทุนต่างชาติเทขาย 4.85 หมื่นล้าน โดยรายย่อยเข้าสะสม 1.12 แสนล้านบาท โดยรวมดัชนียังมีโอกาสไปต่อแม้สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มระบาดในประเทศ แต่ความผันผวนมีสูงจากโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การเจรจาการค้า และการเมืองทั้งในและนอกประเทศ
ตลาดหุ้นไทยปิดทำการซื้อขายวันสุดท้ายของปี 2564 (30 ธ.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.29 จุด หรือ 0.26% มาอยู่ที่ 1,657.62 จุด มูลค่าการซื้อขายสุทธิ 74,535.61 ล้านบาท และถ้าหากเปรียบเทียบกับต้นปี (4 ม.ค.2564) พบว่าดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 189.38 จุด หรือ 12.89% อย่างไรก็ตาม พบว่ามูลค่าการซื้อขายลด 14,672 ล้านบาท จากต้นปีที่มีมูลค่าซื้อขาย 89,208.19 ล้านบาท
ด้านภาพรวมการซื้อสุทธิแยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนทั่วไปซื้อสะสม 112,241.04 ล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสะสม 13,672.42 ล้านบาท โดยกลุ่มสถาบันขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 77,335.91 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศ ขายสะสม 48,577.55 ล้านบาท
โดยรวมทิศทางตลาดหุ้นไทยในวันสุดท้ายของปี 2564 แกว่งตัวในกรอบแต่ไม่ไปไกลมากนัก ขณะเดียวกัน วอลุ่มเทรดบางก่อนเข้าวันหยุดยาว แต่ยังยืนในแดนบวกได้ ถือว่าดีกว่าตลาดต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงท้ายปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นการโยกเม็ดเงินลงทุนหลังจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ เผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังกลับมาซื้อขายในช่วงต้นปี 2565 ประเมินว่าตลาดน่าจะยืนบวกได้หากการแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไม่รุนแรงมากขึ้น พร้อมแนะติดตามเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤตการณ์ในยูเครนที่รัสเซียกำลังเตรียมการบุกโจมตี
น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แสดงความเห็นถึงตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ว่า นักลงทุนจะต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน และปัจจัยการเมืองทั้งในประเทและต่างประเทศที่มองว่าจะโดดเด่นขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจนทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงยังต้องติดตามการเร่งปรับลด QE ของสหรัฐฯ ด้วย โดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,700-1,750 จุด คิดเป็น P/E 19-19.5 เท่า กำไรบริษัทจดทะเบียน 90 บาท/หุ้น คิดเป็น Earning Growth ประมาณ 6-7%
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แสดงความเห็นถึงตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ว่า ทิศทางตลาดช่วงต้นปีอาจเผชิญแรงขายจากกองทุน LTF บ้างแต่เชื่อว่าไม่มากนัก และยังได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่เริ่มใช้กันตั้งแต่เดือนแรกของปี รวมถึงมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากภาครัฐด้วย น่าจะสร้างสีสันได้ค่อนข้างมาก โดยประเมินทั้งปีที่ระดับ 1,722 จุด
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องระวังในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะพลิกกลับมาสู่ขาขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เกิดความผันผวนนโยบายการเงินได้มากขึ้น อีกทั้งต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะจีน และสหรัฐฯ ประกอบ ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ทั่วโลก และตัวเลขเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาหนักอยู่ หากเบาลงไปได้จะเป็นผลดีต่อการลงทุนได้มาก
ขณะที่ นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 13% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นแตะระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ 50,000 ล้านบาท หนุนด้วยปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีกว่าปี 2563
ส่วนสำหรับทิศทางปี 2565 มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีหน้ามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 1,800 จุด โดยมีแนวรับและแนวต้านระยะสั้นอาจอยู่ 1,580 จุด และ 1,650 จุด ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรคาดการณ์ ปี 2565 (P/E) และกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจอยู่ 18 เท่า และ 98 บาทต่อหุ้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ 96 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 และประกาศล็อกดาวน์
ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะขยายตัว 4.1% และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยโตต่อเนื่องจากปี 2564 หลังคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวกลับมา แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอนเข้ามากดดัน แต่ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางดัชนีอาจมีความผันผวน เพราะยังต้องเผชิญแรงกดดันหลายเรื่อง เช่น คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2565 เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% รวมถึงการเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2565
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.2565 อีกทั้งประเทศยุโรปอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 2565 และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศจีนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น ปัจจัยทั้งหมดล้วนทำให้กระแสเงินไหลเข้าออกภูมิภาคอาเซียนและเกิดการผันผวนมากขึ้น
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในปี 2565 แนะกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้พอร์ตมีความสมดุล ยืดหยุ่น และรับมือกับดัชนีที่อาจปรับตัวขึ้นลง โดยกลุ่มหุ้นเด่นคือ กลุ่มการบริโภค เพราะราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังปรับตัวขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้น CRC, CBG และ CPALL รวมถึงกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะคาดว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายปี 2565
นอกจากนี้ คือ กลุ่มด้านเทคโนโลยี Platform การบริหารข้อมูลด้านการตลาด และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นมากขึ้น จากการแข่งขันที่สูง รวมถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์ COVID-19 เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ และกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี โดยมองว่า ราคาน้ำมันดิบอาจไปได้ไม่ไกล หลังรัฐบาลทั่วโลกลงนามสนธิสัญญาลดคาร์บอน โดยราคาน้ำมันดิบปี 2565 อาจเฉลี่ยราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล