ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ใช่แต่สมัยนี้เท่านั้นที่คำว่า “คนรุ่นใหม่” จะถูกนำมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เมื่อหลายสิบปีก่อนคำคำนี้ก็ถูกพูดถึงอยู่ก่อนแล้ว
เท่าที่สำรวจและเปรียบเทียบดูแล้ว พบว่า ถ้าเป็นไปในแง่นิยามของคำว่า คนรุ่นใหม่ จะไม่ค่อยต่างกันทั้งสมัยนี้และสมัยก่อน คือมักจะจับเอาวัยขึ้นมาก่อน ว่าควรอยู่ในช่วงวัยรุ่นขึ้นไปจนถึงวัยสามสิบกว่า บางที่อาจไปไกลถึงสี่สิบก็มี
ถัดจากวัยก็จะเป็นเรื่องของความคิดความอ่าน ว่าคนที่เป็นคนรุ่นใหม่มักจะมีความคิดที่ใหม่ๆ แสดงให้เห็นอยู่เสมอ และโดยมากแล้วมักเป็นความคิดที่ทันสมัยและแปลกแตกต่างจากคนทั่วไป แต่จะเป็นที่ยอมรับหรือเหมาะกับสังคมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้น ความคิดของคนรุ่นใหม่จึงอาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมเสมอไป ถึงแม้ความคิดนั้นอาจจะเป็นความคิดที่ดีก็ตาม
และที่ว่าไม่เป็นที่ยอมรับนั้นโดยมากมักเป็นความคิดทางการเมือง ถ้าเป็นความคิดทางธุรกิจการค้าแล้วสามารถเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้คนรุ่นเก่าไม่สู้จะขัดขวางเหมือนในอดีต ด้วยอาจปล่อยวางให้คนรุ่นใหม่ (ที่อาจเป็นลูกหลานของตน) ว่ากันไป และยอมรับความจริงว่าตนแก่เกินกว่าที่จะมายุ่งกับเรื่องพวกนี้อีก สู้ใช้ชีวิตยามชราอย่างสงบสุขเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเองดีกว่า
จึงมีคำพูดของคนรุ่นเก่าให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “ปล่อยให้เด็กๆ มันทำไป”
ผมรู้จักคำว่า “คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น โดยรู้จักจากการอ่านหนังสือ ซึ่งเริ่มจากหนังสือเกี่ยวกับหนังและเพลงก่อน แต่เป็นหนังสือที่อยู่นอกกระแสของหนังสือในแนวเดียวกันนี้ค่อนข้างมาก และในแนวที่ผมอ่านนี้เองที่ผมพบคำว่า คนรุ่นใหม่ เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ผมควรกล่าวด้วยว่า นอกจากคำนี้แล้วก็ยังมีอีกคำที่ใช้แพร่หลายไม่แพ้กันคือคำว่า คลื่นลูกใหม่
ถ้าเป็นหนังสือแล้วมักเป็นหนังสือที่เขียนโดยปัญญาชนและศิลปิน ส่วนเรื่องที่เขียนนั้นมีตั้งแต่บทความ เรื่องสั้น เรื่องยาว หรือกวี ที่สะท้อนสังคมในขณะนั้น ไม่มีเนื้อหาประโลมโลกในแบบรักๆ ใคร่ๆ หรือสายลมแสงแดด ถ้าเป็นหนังก็จะเป็นหนังในกลุ่มของเปี๊ยกโปสเตอร์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ยุทธนา มุกดาสนิท เพิ่มพล เชยอรุณ คิด สุวรรณศร เป็นต้น
ทั้งหนังสือและหนังในกลุ่มนี้มีมาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสียอีก เฉพาะหนังสือมีที่ตีพิมพ์ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เวลานั้นราคากระดาษยังไม่แพงเท่าทุกวันนี้ ผมจึงมีปัญญาซื้อหามาอ่านได้ง่าย ยิ่งหลัง 14 ตุลาฯ ด้วยแล้ว หนังสือพวกนี้ก็ยิ่งออกมามาก เวลานั้นคำว่า คนรุ่นใหม่ จึงเป็นคำที่มีความ “ขลัง” อยู่ในตัว
ถึงแม้จุดเด่นของความเป็นคนรุ่นใหม่ในเวลานั้นจะแยกไม่ออกจากจุดยืนทางการเมืองก็ตาม แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นกฎตายตัว ว่าคนรุ่นใหม่จะต้องมีจุดยืนทางการเมืองเช่นนั้นเช่นนี้ มีก็แต่พวกฝ่ายซ้ายเท่านั้นที่มักจะคาดหวังจากสังคม
เหตุดังนั้น หากมองโดยภาพรวมแล้ว คำว่า คนรุ่นใหม่ เมื่อสี่ห้าสิบปีก่อนจึงเป็นคำที่ใช้กันค่อนเปิดกว้าง และใช้กับบุคคลทุกคนที่มีผลงานที่ “ใหม่” ทั้งความคิดและการนำเสนอ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีจุดยืนทางการเมืองเช่นใด
แต่พอหลัง 14 ตุลาฯ พวกฝ่ายซ้ายก็ไปกะเกณฑ์เอาว่า ใครจะเป็นคนรุ่นใหม่จะต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่ก้าวหน้าด้วย และที่เรียกว่า “ก้าวหน้า” นี้เป็นการเรียกโดยอ้อมเพื่อเลี่ยงคำว่า สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์
การให้ความหมาย คนรุ่นใหม่ ของฝ่ายซ้ายดังกล่าวทำให้คำว่า คนรุ่นใหม่ กลายเป็นคำที่มีความหมายคับแคบ และทำให้คนที่เคยมีผลงาน “ใหม่” จนได้รับการยกย่องว่าเป็นคนรุ่นใหม่ถูกกันให้ห่างออกไปจากแวดวง
และวิธีที่กันคนรุ่นใหม่ของฝ่ายซ้ายก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ว่า “ล้าหลัง” ไม่ “ก้าวหน้า” เหมือนงานในกลุ่มของตน ทั้งๆ ที่ผลงานของคนรุ่นใหม่ก่อน 14 ตุลาฯ เป็นงานในแนวเสรีนิยมที่ไม่ได้เลวร้ายตรงไหน
ซ้ำงานบางชิ้นก็สะท้อนจุดยืนที่รักความเป็นธรรมอีกด้วย ถึงจะไม่ใช่ “ซ้าย” ก็ตามที
แต่การกันเช่นนั้นไม่สู้ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะด้วยไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมา งานของคนรุ่นใหม่ก่อน 14 ตุลาฯ จึงยังคงถูกผลิตออกมา จนเมื่อ “ป่าแตก” และฝ่ายซ้ายต่างอกหักทยอยออกจากป่ากันเป็นทิวแถว การอยู่ร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ก่อน 14 ตุลาฯ จึงบังเกิด และไม่แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวาอีก
แต่จะด้วยการศึกษาหรือการอบรมบ่มเพาะภายในครอบครัวก็ตาม คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นต่างมีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ ความสุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน แต่บุคลิกภาพเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นส่วนบุคคล ที่คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นต่างก็มีกันเป็นปกติ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าถ้าเสนอสิ่งใดที่ “ใหม่” แล้วก็ต้องมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง
ความเชื่อมั่นนี้จึงมิใช่ความเย่อหยิ่ง ถึงแม้บางคนจะไม่ประสบความสำเร็จกับสิ่งใหม่ที่ตนนำเสนอก็ตาม
มาถึงปัจจุบันนี้ คำว่า คนรุ่นใหม่ ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง แรกๆ เมื่อสี่ห้าปีก่อนเป็นการพูดถึงในแวดวงธุรกิจ ที่คนรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านใหม่ๆ มาเสนอและประสบความสำเร็จ จนเมื่อปีสองปีที่ผ่านมาคำว่า คนรุ่นใหม่ ก็ถูกใช้ในบริบททางการเมือง
เนื่องจากผมไม่ค่อยคลุกคลีกับแวดวงธุรกิจ ผมจึงไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่ในแวดวงนี้มีนิสัยใจคอหรือบุคลิกภาพเช่นไร จึงกล่าวได้ไม่ค่อยถนัดนัก แต่ถ้าว่ากันเฉพาะแวดวงหนังซึ่งเป็นธุรกิจแบบหนึ่งแล้ว ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในแวดวงนี้เกิดขึ้นมากกว่าเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน
มากจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ผมจำได้หมดแทบทุกคน และได้แต่เฝ้ารอคอยหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้ด้วยความตื่นเต้น
พ้นไปจากนี้แล้วก็คือ คนรุ่นใหม่ในบริบททางการเมือง ถ้าเป็นบริบทนี้แล้วก็พอเห็นชัดขึ้นมาหน่อย โดยเฉพาะช่วงสองสามปีมานี้ ซึ่งผมเห็นว่า คนรุ่นใหม่รุ่นนี้ช่างต่างกับคนรุ่นใหม่ในสมัยก่อนอยู่หลายเรื่อง บางเรื่องผมเคยพูดถึงในคอลัมน์นี้ไปบ้างแล้ว คราวนี้ขอนำมาพูดซ้ำในอีกแบบหนึ่ง
**ความต่างในเรื่องแรกก็คือ ท่าทีที่ยัดเยียดความคิดให้คนอื่นว่าจะต้องคิดเหมือนตน ใครคิดไม่เหมือนตนจะถูกด่าทอเสียๆ หายๆ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ท่าทีเช่นนี้เป็นทั้งหญิงทั้งชายไม่ต่างกัน จนน่าสงสัยว่า คนพวกนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนจากใคร**
ถ้าจากครอบครัวก็ถือว่าน่าเศร้ามาก ว่าครอบครัวของคนรุ่นใหม่ยุคนี้เสื่อมได้ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ
ท่าทีดังกล่าวอาจดูคล้ายๆ กับฝ่ายซ้ายสมัยก่อนในแง่ของการยัดเยียด แต่ต่างกันตรงที่ฝ่ายซ้ายสมัยก่อนไม่ใช้คำหยาบมาด่าทอ คำด่าที่แรงที่สุดก็คือ ล้าหลัง ไดโนเสาเต่าล้านปี หรือศักดินา คำหลังนี้มีความหมายกำกวม ไม่รู้ว่าหมายถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ หรือหมายถึงคนที่ทำตนเป็นเจ้าขุนมูลนายกันแน่
ความต่างในเรื่องต่อมาคือ อ่านน้อย แต่เสพสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก เมื่อเป็นเช่นนี้คนรุ่นใหม่ยุคนี้จึงตกอยู่ในโลกเสมือนจริงมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง และคงด้วยเหตุนี้คนเหล่านี้จึงเชื่อว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนมีมวลชนให้การสนับสนุนอย่างมหาศาล
เชื่อทั้งๆ ที่เห็นอยู่ทนโท่ว่ามวลชนไม่ได้มากจริง ซ้ำยังร่อยหรอลงทุกที
จากเหตุนี้ ผมจึงไม่แปลกใจที่มีแกนนำคนหนึ่ง (ซึ่งขณะที่เขียนบทความนี้เขากำลังติดคุกอยู่) ให้สัมภาษณ์สื่อทีวีช่องหนึ่งว่า เขาเชื่อว่ามีคนที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์มากขึ้น พร้อมกับเอ่ยชื่อคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นักแสดงและผู้กำกับหนังชื่อดัง ว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ตอนที่ได้ฟังนั้นผมถึงกับอุทานออกมาว่า แกนนำคนนี้อาการหนักเอามากๆ หนักจนถึงกับละเมอเพ้อพกคิดเข้าข้างตัวเองลมๆ แล้งๆ หนักจนถึงขนาดยอมทิ้งครอบครัวมาเคลื่อนไหวจนติดคุก หนักคล้ายกับคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้ายสมัยก่อนที่เชื่อว่า มวลชนอันไพศาลอยู่ข้างตนทั้งที่ไม่เป็นความจริง
จะมีก็แต่ “มวลชนอวตาร” เท่านั้น
ความต่างข้อสุดท้ายคือ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ประกาศว่าตนเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นข้อที่ผมแปลกใจมากที่สุด ว่าคนเหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์ตรงไหน เพราะที่เห็นอยู่นั้นมันเสรีนิยม และถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้วในบางแง่มุมคนเหล่านี้เป็นเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ด้วยซ้ำไป
เสรีนิยมใหม่ที่เสรีแบบสุดลิ่มทิ่มประตูหรือ “ทะลุเพดาน” คิดอยากจะทำอะไรก็ทำ ถือว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพ โดยไม่คิดว่ายังมีคนเห็นต่างอีกมาก หรือเที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้ใครต่อใครด้วยท่าทีที่ก้าวร้าวและกร่าง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายจนติดคุกไปตามๆ กัน
คิดไปแล้วคนรุ่นใหม่จากที่กล่าวมายังแต่ความเสื่อมให้ตนเอง หาความเจริญไม่ได้เลย