คลื่นลูกใหม่ย่อมมาแทนคลื่นลูกเก่าเสมอ อันนั้นเป็นสัจธรรมแน่แท้ แต่เราจะบอกว่าคลื่นลูกเก่าไม่มีคุณค่าย่อมจะไม่ได้ เพราะคลื่นลูกเก่าก็ได้ทำหน้าที่ของมันผ่านห้วงเวลาเช่นที่คลื่นลูกใหม่กระทำในเวลาต่อมา และสุดท้ายแล้วคลื่นลูกใหม่ก็กลายเป็นคลื่นลูกเก่าเช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าคลื่นลูกเก่าหรือลูกใหม่ก็มีฐานะและความสำคัญไม่ต่างกัน จะต่างกันก็เพียงห้วงเวลาเท่านั้น
เราพูดไม่ผิดหรอกว่าคนรุ่นใหม่ย่อมเป็นอนาคตของโลกใบนี้ แม้การดับขัยก่อนหลังจะไม่ใช่เครื่องการันตีว่าคนรุ่นเก่าต้องจากไปก่อนคนรุ่นใหม่ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในโลกถ้านับวันเวลาในอนาคตที่โลกหมุนไปนานกว่าคนรุ่นเก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ก่อเกิดโดยคนรุ่นเก่าจะต้องเปลี่ยนไปเมื่อเวลาเปลี่ยนไปในทุกเรื่อง
อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่นั้นไม่เคยมองเห็นโลกที่คนรุ่นเก่าเคยมองเห็น ขณะที่โลกปัจจุบันต่างฝ่ายต่างมองเห็นเช่นเดียวกัน ส่วนอนาคตนั้นไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ยังมองไม่เห็น
การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่การเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนไปตามใจปรารถนานั้นถ้าเป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองแล้ว ข้อเรียกร้องเหล่านั้นจะสำเร็จได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ ดังนั้นข้อเรียกร้องที่คนรุ่นใหม่อยากจะได้ตามอำเภอใจย่อมยากจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
แน่นอนมีคนบอกว่าต้องรับฟังเสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เพราะพวกเขาคืออนาคต แต่ห้วงเวลาที่ทุกคนมีอยู่ทุกคนต่างมีฐานะเป็นปัจจุบันเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงของคนทุกรุ่นย่อมจะต้องเท่ากันหรือต้องรับฟังกันและกันนั่นเอง ความเห็นที่เป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองนั้นยิ่งจะต้องรับฟังกันและกันไม่ใช่ต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น
ลองมองย้อนกลับไป เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นความสูญเสียและโศกนาฏกรรมของชาติที่คนไทยลุกขึ้นมาทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง แต่เบื้องหลังของเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รับรู้กันเชิงประจักษ์แล้วว่า คนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นถูกแทรกแซงจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดังเช่นที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้านเรามาแล้ว
ถ้าวันนั้นบ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในวันนั้น ถามว่า วันนี้บ้านเมืองของเราจะมีสภาพเป็นอย่างไร บางคนอาจจะบอกว่าดีขึ้นก็ได้ ก็ต้องพิจารณาหาเหตุผลมาอธิบายให้ได้ว่ามันจะดีกว่าบ้านเมืองเราที่เป็นอยู่ในวันนี้ได้อย่างไร
มันเป็นคำตอบว่า ความคิดของคนรุ่นใหม่ในวันนี้อาจจะไม่ใช่เป็นความคิดที่ถูกต้องเมื่อวันเวลาผ่านไป
วันนี้คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งที่ออกมาบนท้องถนนต่างไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ คนรุ่นใหม่เหล่านั้นถูกเสี้ยมสอนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์นี่แหละเป็นหลักใจความสำคัญและหัวใจของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่พวกเขาอ้างว่าต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เปลี่ยนแปลงไปจากสถานะที่เป็นอยู่
แต่การแสดงออกของพวกเขาที่ปิดบังซ่อนเร้นไม่มิดก็คือ การแสดงออกที่หยาบคายท้าทายต่อระบอบของรัฐนั้นไปไกลกว่าการปฏิรูป การเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอีกหลายอย่างทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเช่นนี้ เพราะกลไกของรัฐและองคาพยพของรัฐย่อมจะต้องปกป้องระบอบของรัฐอยู่แล้ว และศาลชี้ให้เราเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน นั่นคือ การสะท้อนว่า ระบอบของรัฐ ความเป็นชาติและก่อตัวเป็นชาตินั้นย่อมมีประวัติศาสตร์และความเป็นมา
ถ้าถามว่าความคิดที่ไม่ยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นความคิดที่เกิดขึ้นโดยรวมของคนรุ่นนี้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่น่าจะกล่าวได้เช่นนั้น แต่ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่มีความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่มีความคิดในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อคนรุ่นใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามใช้ชั้นเชิงทางวิชาการเพื่อป้อนความคิดส่งผลกระทบในด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีอิทธิพลทางความคิดในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อคนรุ่นใหม่มากอีกคนหนึ่ง
ปิยบุตรบอกว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ ความล้าสมัยคือ 1. การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนคนเดียว 2. คนคนนั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3. การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน
ปิยบุตร บอกว่า เหตุที่หลายๆ ประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่ หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้
แต่ในความเป็นจริงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) มาแล้วตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่า พวกเขาต้องการเรียกร้องอะไรที่มากกว่านั้น จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจุดมุ่งหมายของพวกเขาออกมา
ระบอบประชาธิปไตยนั้นประชาชนเป็นใหญ่แน่แท้ แต่เราได้ยินพวกเขาพูดกันว่า คนเท่ากัน เหมือนจะให้เข้าใจว่า คนเราไม่ควรมีตำแหน่งแห่งหนและบทบาทที่ต่างกันซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการแบ่งกันทำงานตามหน้าที่ไม่ใช่เรื่องของชนชั้น ไม่เช่นนั้นแล้วระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีชนชั้นไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญก็คือ เราต้องทำให้ระบบสามารถตรวจสอบกันได้ และเคารพในบทบาทที่แตกต่างกัน และเราไม่อาจตัดทิ้งประวัติศาสตร์รากเหง้าของความเป็นชาติออกไปได้
ในขณะที่พวกเขาพยายามปฏิเสธสถาบันพระมหากษัตริย์ เราเห็นความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกเขาที่เพิ่งจะถูกคว่ำกลางสภาฯ เพื่อให้นักการเมืองเป็นศูนย์รวมของอำนาจในการตรวจสอบควบคุมทุกฝ่ายมีอำนาจเหนือศาลและองค์กรอิสระ เกือบทุกองค์กรต้องอยู่ใต้อาณัติของนักการเมือง เมื่อรวมกับความคิดที่เขาพยายามเสนอมาต่อเนื่องในข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คือ พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภา
แต่สิ่งที่เราเห็นและประสบต่อนักการเมืองมาตลอดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ นักการเมืองไม่อาจจะเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริง นักการเมืองที่ดีนั้นมีอยู่ แต่ภาพของนักการเมืองในสายตาของประชาชนเหมือนภาพที่ขมุกขมัวและขาดความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก และจำนวนไม่น้อยมาจากเครือข่ายอิทธิพลและการซื้อสิทธิขายเสียง
ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นได้ ตราบที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจต้องการให้เป็นไป แต่ย่อมไม่ใช่เสียงเรียกร้องเอาแต่ใจของใครฝ่ายเดียว ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตาม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan