xs
xsm
sm
md
lg

ต้องการล้มล้างไม่ใช่แค่ปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษาชี้ชัดแล้วว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพวกที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แท้จริงแล้วมีจุดมุ่งหมายที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แปลความได้ว่า พวกเขากำลังกระทำการเป็นกบฏต่อราชอาณาจักรนั่นเอง

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 หรือเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นความผิด แต่ถ้อยคำและการแสดงออกของพวกเขานั่นแหละที่สะท้อนว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงมากกว่าการปฏิรูป

พวกเขาพูดไม่ผิดหรอกว่า “ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง” โดยความหมายทางภาษา แต่การกระทำที่พวกเขากระทำให้ปรากฏต่างหากว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างไร เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำการกระทำของทั้งสามและเครือข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมา

เชื่อว่า พวกเขาต้องออกมาโต้แย้งว่าการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรา 112 และการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเป็นความผิดได้อย่างไร เช่นเดียวกับที่พวกเขากล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาตามความผิดมาตรา 112 หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จริงๆ ไม่ใช่เพราะถ้าเราไปดูข้อกล่าวหากันจริงๆ แล้วจะเห็นว่า พวกเขาถูกดำเนินคดีเพราะมีเนื้อหาที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทจาบจ้วงต่อพระมหากษัตริย์นั่นเอง

เราจะเห็นว่า พวกเขาแสดงตนชัดแจ้งที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่นข้อเสนอ 10 ข้อที่รุ้ง ปนัสยา ผู้อาสานำความคิดที่มีผู้อยู่เบื้องหลังเขียนให้เธอนำขึ้นไปอ่านบนเวทีเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เช่นที่ว่า พระมหากษัตริย์มีส่วนในการหายตัวไปของคนจำนวนหนึ่ง หรือการปราศรัยของมายด์ ภัสราวลีที่ก้าวล่วงกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ อย่างรุนแรงหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถ้อยคำแบบนี้แม้กล่าวหาบุคคลธรรมดาก็ยังมีความผิด

หรือข้อเสนอที่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพในการรับเงินบริจาคที่เป็นสิทธิของผู้ให้และผู้รับ ตลอดจนการเสนอห้ามให้มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นข้อเรียกร้องหลายข้อยังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรทางการเมืองที่ขึ้นต่อรัฐสภา และมีสถานะที่ต่ำต้อยกว่านักการเมืองอาชีพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นและศรัทธา เช่นพระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภา

รวมไปถึงข้อเสนอที่ทำให้พระมหากษัตริย์ถูกโดดเดี่ยวโดยไม่มีหน่วยราชการในพระองค์และยกเลิกองคมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นมือไม้ในการทำงานเพื่อประชาชน ดังที่เราจะเห็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๑๐ ทุกคนต้องทำงานอย่างหนักผ่านข่าวพระราชสำนัก

หากจะว่าไปแล้วข้อเรียกร้องของพวกเขามุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐแต่แฝงเร้นไว้ใต้ข้ออ้างที่ว่า เพื่อ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และพบว่าหลายข้อนั่นแหละที่ดึงให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นองค์กรหนึ่งทางการเมือง บั่นทอนความเป็นพระประมุขของรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถูกมัดมือมัดเท้าให้อยู่ในวงจำกัด โดยอ้างรูปแบบของพระมหากษัตริย์ชาติอื่น

ทั้งที่เราเห็นและว่าการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย และเป็นเสาหลักที่พึ่งพิงศรัทธาและเชื่อมั่นของสังคมไทยที่มากกว่านักการเมือง

ข้อเรียกร้องในการแก้ไขมาตรา 112 นั้นผมคิดว่าเป็นความคิดที่รับฟังได้ แต่ไม่ใช่ในบรรยากาศที่มีการชุมนุมด่าทอพระมหากษัตริย์อยู่บนถนนอย่างมากมาย แล้วเมื่อมีผู้ถูกดำเนินคดีมากเพราะมีคนทำผิดมาก ก็ไปกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของตัวบทกฎหมาย

เราพูดคุยกันได้เช่น ข้อเสนอให้มีการแก้มาตรา 112 เป็น 2 ส่วน คือ แยกดูหมิ่น หมิ่นประมาท ออกมาจากการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มาเป็นมาตรา 112/1 คือ ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ต้องระวางโทษจำคุก แต่ต้องลดโทษจำคุกจากคดีอาฆาตมาดร้าย 3-15 ปีลงมา หรือเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดต่อการแสดงความคิดโดยสุจริต

รวมทั้งข้อเสนอที่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองก่อนจะเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมปกติตามลำดับชั้น หากเรากลัวว่า เมื่อเป็นคดี 112 แล้ว ตำรวจและอัยการมักจะสั่งฟ้องเพื่อปัดให้พ้นตัวไปก่อน

เราจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าศาลมักจะตัดสินให้มีความผิดหรือศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาตามมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป เพราะในหลายปีมานี้มีหลายคดีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง หรือให้ตำรวจออกหมายเรียกก่อนเมื่อไปขอหมายจับ และมีหลายคดีที่ศาลให้ประกันตัว รวมไปถึงคดีของคนหนุ่มสาวที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในตอนนี้ศาลก็เคยให้ประกันตัวมาก่อนหลายครั้ง แต่กลับทำผิดเงื่อนไขของศาลจึงไม่ได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา

ส่วนข้อเรียกร้องให้เอามาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคงเพื่อให้กฎหมายมาตรา 112 มีสภาพไม่ต่างกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั้น ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะประมุขของรัฐก็ต้องถูกปกป้องตามรูปแบบของรัฐ พระมหากษัตริย์กับคนธรรมดาเป็นการแบ่งแยกตามอำนาจหน้าที่ คนละเรื่องกับข้อเรียกร้องที่ต้องทำให้คนเท่ากัน ดังนั้นพระมหากษัตริย์จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องกล่าวหาใครด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

แต่หากถามว่า การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นควรจะเป็นคดีทางแพ่งหรือไม่ ในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 นั้นผมไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลที่ว่าพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขของรัฐไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เห็นด้วยในการดูหมิ่น หมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไปควรจะเป็นเพียงคดีความทางแพ่ง เพราะการกระทำผิดต่อกันของประชาชนเป็นเรื่องกระทบของคนสองคนไม่ได้เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม

ยอมรับว่าความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขาไม่ได้เคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อราชวงศ์ และต่อตัวพระมหากษัตริย์อีกต่อไป ความคิดนี้ไม่ใช่ความผิด พวกเขามีเสรีภาพและเราไม่ควรไปบังคับเขา แต่ถ้าเขาแสดงออกหรือเรียกร้องทำให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ของมัน แม้ว่าคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้พวกเขาจะไม่ยอมรับก็ตาม

พิสูจน์แล้วว่าข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนและถูกจับกุมคุมขังนั้นไปไกลกว่าการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย พวกเขาต้องการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยอ้างสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ ในขณะที่การแสดงออกของพวกเขาบนท้องถนนในโซเชียลมีเดียนั้น มีแต่ถ้อยคำที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทหยาบคายและแสดงออกถึงความมุ่งหมายที่จะล้มล้างมากกว่าการปฏิรูป ซึ่งไม่มีวันที่จะทำให้ข้อเรียกร้องและการพูดคุยเพื่อหาทางออกมาบรรจบกันได้

ปิยบุตร แสงกนกกุล มักบอกว่า ข้อเรียกร้องของเขานั้นเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ต่อให้ได้ในสังคมไทยที่มีพลวัต มีความท้าทายเกิดขึ้น แต่การแสดงออกที่แท้จริงของคนหนุ่มสาวที่ปิยบุตรและพวกหนุนหลังนั้นกลับมีท่าทีที่ก้าวร้าวรุนแรงและมีจุดมุ่งหมายไปไกลกว่า แท้จริงความคิดที่ซ่อนเร้นของปิยบุตรนั้นอาจมีมากกว่าที่แสดงออก แต่อำพรางไว้ด้วยชั้นเชิงเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมาย

และบัดนี้คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดเผยความจริงนั้นแล้วว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น