xs
xsm
sm
md
lg

"ไอติม" อ้างยกเลิก ม.112 ไม่ใช่บ่อนทำลาย เปรียบพระมหากษัตริย์สับเซตประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
"พริษฐ์ วัชรสินธุ" หลานอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ อ้างยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่บ่อนทำลาย หลายประเทศโทษไม่ต่างหมิ่นประมาทคนธรรมดา ยก 3 เหตุผล อ้างพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสับเซตของระบอบประชาธิปไตย แต่หลักใหญ่ใจความต้องคุ้มครองเสรีภาพ ชี้พรรคการเมืองที่ค้านไม่แก้ ผลักไสไล่ส่งให้กลายเป็นปฏิปักษ์

วันนี้ (6 พ.ย.) เฟซบุ๊ก "พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu" ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความหัวข้อ "ข้อเสนอยกเลิก ม.112 ไม่ใช่การบ่อนทำลาย แต่คือหนทางรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" สาระสำคัญก็คือ หลังจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎรยกเลิก 112" รณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อยื่นข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ต่อรัฐสภา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมโดยรวมพร้อมที่จะถกเถียงประเด็นละเอียดอ่อน และพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีปัญหามายาวนาน นำไปสู่การแสดงจุดยืนต่างๆ ของพรรคการเมือง ทั้งพรรคที่ประกาศสนับสนุน และพรรคที่ประกาศจุดยืนไม่แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น

"นอกจากปัญหาของตัวกฎหมายและการบังคับใช้แล้ว ควรทำความเข้าใจร่วมกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรา 112 กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายพรรคการเมืองที่คัดค้านการแก้ไข 112 มักให้เหตุผลว่าเพราะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเปรียบเสมือนการผลักไสไล่ส่งให้ฝ่ายที่รณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์นี้อันตรายมากต่อการสร้างความเข้าใจผิดกับสังคม เกี่ยวกับปัญหาของมาตรา 112 และอันตรายต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ 1. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสับเซต (subset) ของระบอบประชาธิปไตย คำว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคำขยายเพื่อบอกว่าใครคือประมุขของประเทศ แต่สาระสำคัญอยู่ที่ประเทศต้องปกครองด้วยประชาธิปไตย ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท การมีกฎหมายใดๆ ที่เป็นการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต จึงเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย

2. การยกเลิกมาตรา 112 เป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้มีการยกเลิกมาตรา 112 ประเทศจะไม่ตกอยู่ในจุดที่หลุดออกจากกรอบ เพียงแต่จะมี 3 อย่างที่เปลี่ยนแปลงไป จากการที่พระมหากษัตริย์จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปแทน การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยสุจริต หรือการแสดงความเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ตามที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนโทษในการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะลดจากจำคุก 3-15 ปี มาเป็น 0-2 ปี เท่ากับโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ไม่ผิดวิสัย เนื่องจากหลายประเทศ เลือกที่จะไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วสำหรับบุคคลธรรมดา ในขณะที่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่ก็มีฐานโทษที่ไม่สูงกว่า 0-2 ปี ส่วนผู้ที่มีสิทธิกล่าวโทษร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหาย (พระมหากษัตริย์) หรือตัวแทนของผู้เสียหาย (สำนักพระราชวัง) เท่านั้น ก็ไม่ผิดวิสัยเช่นกัน แต่หากใครกังวล ทางออกหนึ่ง คือ ระบุเพิ่มเติมในกฎหมายหมิ่นประมาทได้ โดยไม่ต้องคงไว้ซึ่งมาตรา 112 ว่า หากผู้เสียหายคือพระมหากษัตริย์ ให้มีผู้รับผิดชอบการฟ้องร้องที่ชัดเจน เช่น ญี่ปุ่นกำหนดให้เป็นนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล หากวิเคราะห์ใจความสำคัญของข้อเสนอยกเลิก 112 จะสอดคล้องกับหลักสากลของหลายประเทศ

3. การรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องโอบรับคนเห็นต่าง มิใช่ผลักไสจนไร้ทางเลือก หากฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 มองว่าเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และเพื่อปกป้องเสถียรภาพ เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นวิธีการที่ดีกว่าการคงกฎหมายที่มีปัญหาอย่างมาตรา 112 ไว้เหมือนเดิม

"การดึงดันผลักไสให้ทุกคนที่อยากเห็นการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นผู้ไม่หวังดี ล้มล้าง จาบจ้วง ทั้งที่เขาไม่ได้มีความต้องการแบบนั้น มีแต่จะส่งผลเสียต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะจะยิ่งเพิ่มการใช้กฎหมายเข้าปราบปรามคนที่เห็นต่าง ลดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย และทำให้ช่องทางในการหาฉันทามติเพื่อออกจากวิกฤตการเมืองรอบนี้แคบลงไปเรื่อยๆ การยกเลิกมาตรา 112 จึงไม่ใช่การบ่อนทำลาย แต่กลับเป็นหนทางหนึ่งเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายพริษฐ์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น