“อรรถวิชช์” เสนอตั้ง กก.ร่วมวางแนวทางบังคับใช้ ม.112 ย้ำจุดยืน ไม่แก้-ไม่ยกเลิก 112 เสี่ยงเกิดความขัดแย้งรุนแรง เตือนอย่านำสถาบันมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ค้านข้อเสนอ “ปิยะบุตร” แก้ให้เหลือแค่โทษทางแพ่ง ยิ่งไม่เท่าเทียม คนรวยได้เปรียบ
วันนี้ (6 พ.ย.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวในรายการมีเรื่อง Live หัวข้อ เลิก-แก้-ไม่แตะ “112” ผ่านช่อง Youtube Jomquan โดยมี รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ร่วมดีเบต โดย นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะหากยกเลิกไป มีแนวโน้มทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น และเมื่อดูคดีช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งประชาชนเป็นผู้ฟ้อง สะท้อนว่า ยังมีคนอีกจำนวนมาก ยอมไม่ได้กับการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเดินหน้ายกเลิกหรือแก้ไข จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ม็อบชนม็อบมีโอกาสสูงมาก ท้ายสุดอาจนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดเหตุอะไรแทรกในห้วงเวลาปีนี้ จนถึงเดือนสิงหาคมปีหน้า มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ
เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นโทษที่มีฐานความผิดกว้างตั้งแต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี จึงควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ควรมี “คณะกรรมการ” ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยองค์ประกอบอาจจะมาจากเจ้าหน้าที่ร่วมกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สามารถใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย
“อ.ปิยบุตร ไม่เคยโดน 112 แต่ลูกศิษย์อาจารย์ น้องๆ นักศึกษาโดนอยู่นะ ต้องช่วยเขาด้วย คนที่ผิดเต็มๆ ก็ต้องโดนกันไปตามกฎหมาย แต่กรณีที่ศาลเคยวางแนวทางไว้แล้ว ว่าไม่ฟ้อง ก็น่าจะต้องมาดูกันว่าสั่งไม่ฟ้องได้ในชั้นตำรวจอัยการ ซึ่งหากมีคณะกรรมการกลั่นกรอง คดีมันจบเร็วขึ้น วิธีการนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่หากยังดันให้แก้ไขยกเลิก ม.112 หักด้ามพร้าด้วยเข่า คงเป็นไปได้ยาก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงอยากให้คิดแบบหาทางออกให้ได้ นี่คือจุดยืนของผม” นายอรรถวิชช์ กล่าว
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ จะมีประเด็นแบ่งแยกคนออกเป็น 2 ฝ่ายทุกที แล้วคนก็จะเลือกตั้งความกลัว กับความเกลียด ยุคนี้ยิ่งหนักขึ้น ขอเลยว่า อย่านำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นแบ่งแยกทางการเมือง และตามที่ อ.ปิยบุตร ว่า กรณี ม.112 รวมถึงกรณีหมิ่นประมาทอื่นๆ ควรเป็นแค่เรื่องทางแพ่งเท่านั้น ใช้การปรับค่าสินไหมทดแทนการลงโทษทางอาญานั้น ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะการทำแบบนั้นยิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน คนรวยได้เปรียบ
“ถ้าเราเปลี่ยนมาตรา 112 คดีอาญาที่มีโทษจำคุก ให้เป็นแค่คดีแพ่ง แล้วจ่ายค่าสินไหมทดแทนกันไปแบบ อ.ปิยบุตร บอก ผมว่ายิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน แบบนี้คนรวยด่าใครก็ได้ ด่าแล้วไปจ่ายค่าสินไหมทดแทนเอา ผมว่ามันจะนำไปสู่สังคมแห่งความไม่เท่าเทียม” นายอรรถวิชช์ กล่าว
นายอรรถวิชช์ ย้ำด้วยว่า เมื่อดูเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพ มีอีกเรื่องที่ต้องดูคือเรื่องภราดรภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถึงจะมีทางออกของสังคม ความสำคัญคือการยึดมั่น การดำรงอยู่ของสถาบัน เป็นโจทย์ฝากไปถึงรัฐบาลที่ต้องทำให้คนในชาติเกิดความรู้สึกแบบนี้ ไม่ใช่ทำให้ห่างกันไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นบาดแผลของคนระหว่างรุ่น การแบ่งซ้ายขวาสุดขอบ จะนำไปสู่ความรุนแรงกันทั้งคู่ หาทางออกไม่ได้