คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
คราวที่แล้ว ผมได้นำนิทานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ใน Siam Observer ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคมถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2455 โดยพระองค์ทรงใช้นามปากกกาว่า “อัศวพาหุ” และมีคำอธิบาย “อัศวพาหุ” ว่าคือ ชาวสยามที่ได้ผ่านประสบการณ์เดินทางมา (a travelled Siamese)
นิทานที่ว่านี้อยู่ในบทความที่ชื่อว่า “การศึกษาและความไม่สงบในโลกตะวันออก” (Education and Unrest in the East) มีทั้งสิ้นสอง และนิทานนี้อยู่ในตอนที่หนึ่ง และถ้าข้อเขียนของ “อัศวพาหุ” เริ่มปรากฎสู่สาธารณะหลังวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2455 นั่นแปลว่าข้อเขียนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ที่คณะกบฏถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455
ถ้าพิจารณาช่วงเวลาของการเกิดกบฏและการเขียนคอลัมน์ภายใต้นามปากกา “อัศวพาหุ” สามารถตีความได้ว่า การเขียนคอลัมน์ดังกล่าวคือปฏิกิริยาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อการก่อการกบฏเมื่อต้นปี พ.ศ. 2455 และอย่างที่ทราบกันว่า คณะกบฏ ร.ศ. 130 ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจในการก่อการจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่รู้จักกันในนามของ “การปฏิวัติซินไห่” (Xinhai Revolution) ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ก่อนหน้ากบฏ ร.ศ. 130 เพียงหนึ่งปี
การปฏิวัติซินไห่เริ่มก่อหวอดมานานนับสิบปี และได้ถึงจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 ได้เกิดการลุกฮือทั่วประเทศ และคณะปฏิวัติได้ประกาศไม่ยอมรับราชวงศ์ชิง ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ทางฝ่ายราชสำนักได้หาทางแก้วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น โดยการตั้งให้ นายพลยวนซีไข ผู้นำทหารที่ทรงอิทธิพลในกองทัพเป็นนายกรัฐมนตรี และหวังให้เขาเจรจาต่อรองกับทางคณะปฏิวัติ
การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นในขณะนั้น ถือว่าเป็นความพยายามโดยกะทันหันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากทางฝ่ายราชสำนัก เพราะการมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะที่มีองค์พระจักพรรดิ เท่ากับการเริ่มเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงโดยกะทันหันนี้ก็เพื่อจะลดกระแสการปฏิวัติที่ต้องการจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
อันที่จริง ทางราชสำนักเองก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว นั่นคือ การเปลี่ยนการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญมาสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ก่อนหน้าวิกฤตการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 ได้เกิดกระแสการปฏิวัติมาก่อนหน้านั้นแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี นั่นคือ เริ่มต้นในราว พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) และทางราชสำนักจีนได้เริ่มเตรียมการให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นในปี พ.ศ. 2449 ที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ “การเตรียมการให้มีรัฐธรรมนูญ” (preparative constitutionalism) แต่ยังเห็นว่าเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่พร้อมที่จะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2449 แต่ก็ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ทางราชสำนักได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้สาธารณะทราบถึงการเตรียมตัวที่จะมีรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2449 ถือเป็นก้าวแรกของจีนในการเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเกิดการปะทุการปฏิวัติซินไห่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 กระบวนการการเตรียมเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ราชสำนักได้เตรียมไว้ก็ดูจะไม่ทันกาลเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังการแต่งตั้งให้ยวนซีไขเป็นนายกรัฐมนตรีสองวัน ราชสำนักได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญสิบเก้าหลักการ” (the constitutional Nineteen Creeds) โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ การสถาปนาการปกครองภายใต้ระบบความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีตามแบบของอังกฤษ และให้รัฐบาลราชวงศ์ชิงเป็นรัฐบาลภายใต้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิและขยายอำนาจให้แก่รัฐสภา กรอบของรัฐธรรมนูญสิบเก้าหลักการนี้เป็นไปตามการปกครองของอังกฤษ แต่เนื่องจากอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใช้ประเพณีการปกครองเป็นหลักการสำคัญ ดังนั้น เมื่อจีนใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร จึงจำเป็นจะต้องมีตัวแบบรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุนี้ ราชสำนักจีนได้ใช้รัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่นฉบับ พ.ศ. 2432 เป็นตัวแบบ ที่ประกอบไปด้วยมาตราทั้งหมด 23 มาตรา
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยไปเป็นระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ภายใต้วิกฤตการณ์การเมืองที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง โดยหวังจะให้คณะปฏิวัติยอมประนีประนอมกับทางราชสำนักที่ได้ทำการปฏิรูปตัวเองและปฏิรูประบอบการปกครองไปแล้ว ดังนั้น จึงขออย่าได้ถึงกับปฏิวัติล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่การเจรจาระหว่าง ยวนซีไข นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลจีนภายใต้ระบอบการปกครองใหม่กับฝ่ายคณะปฏิวัติไม่เป็นผล ฝ่ายกองกำลังคณะปฏิวัติในหนานจิงที่นำโดย ซุนยัดเซน ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมหลายฝ่ายขึ้นชั่วคราว และไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ของราชสำนัก
ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2455 รัฐสภาได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้น นั่นหมายความว่า ได้ประกาศยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระจักรพรรดิของจีน
และข่าวการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนหรือการปฏิวัติซินไห่ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งเข้ามาในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกัน การก่อตัวของคณะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือกบฏ ร.ศ. 130 ก็ได้เริ่มปรากฏชัดเจนในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังมีข้อมูลว่า คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้า ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์ ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์ ร้อยตรีปลั่ง บูรณโชติ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์ ร้อยตรีหม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร สังกัดโรงเรียนนายสิบ ร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดโรงเรียนนายสิบ และมีการประชุมอีกหลายครั้ง โดยคณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการขึ้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 แต่ความเกิดแตกขึ้นมาก่อน คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์
หลังจากนั้นเป็นเวลาหกเดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความต่างๆ ตีพิมพ์ใน Siam Observer ภายใต้นามปากกา “อัศวพาหุ” ที่เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยบทความแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “กรณีของจีน” (The Affairs of China) 5 ตอน และเป็นเรื่อง “การศึกษาและความไม่สงบในโลกตะวันออก” (The Education and Unrest in The East) 2 ตอน และเรื่อง “ความล้มเหลวของ ‘ยังเติร์ก’” (The Failure of the ‘Young Turks’) 2 ตอน และเรื่อง “ผลพวงของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของตุรกี” (The Fruits of Turkish Constitutionalism) 3 ตอน และเรื่อง “ตัวอย่างของญี่ปุ่น” (Japan for Example) 7 ตอน
ถ้าใครได้อ่านพระราชนิพนธ์ “กรณีของจีน” (The Affairs of China) ทั้ง 5 ตอนก็ย่อมจะเข้าใจว่า พระองค์ทรงต้องการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในจีน และผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้นว่า จีนไม่ได้จะเป็นสาธารณรัฐที่พลเมืองมีเสรีภาพและความเสมอภาคตามตัวแบบหรือความใฝ่ฝันของสาธารณรัฐในอุดมคติได้ แต่กลับเกิดผู้ปกครองที่ไม่ต่างจากราชวงศ์ใหม่ขึ้นในจีน ซึ่งหากคณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ ก็ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นไปตามที่คาดฝันได้ เพราะแม้แต่ในจีนเองก็ยังไม่สามารถทำได้ และบ้านเมืองก็เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ตามมา
ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงจะขัดขวางไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีรัฐธรรมนูญในสยาม เพราะหลังจากเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในบันทึกของ พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) ได้กล่าวไว้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเอาเรื่องขบถ ๑๓๐ ขึ้นมากล่าวอ้างเป็นประเด็นสำคัญว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกอำนาจหน้าที่ให้เขาเสียที คือหมายความว่าควรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระเจ้าแผ่นดินอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ แต่ที่ประชุมเสนาบดีไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่ายังไม่ถึงเวลา ประชาชนพลเมืองของเรายังไม่มีการศึกษาพอที่จะทำเช่นนั้น เมื่อโดนเข้าแบบนี้ ถ้าจะพูดกันอย่างสามัญชน ก็ต้องเรียกว่าเถียงไม่ขึ้น หรือพูดไม่ออก ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ประชาธิปไตยจึงชะงักงันเป็นหมันมาตลอดรัชกาล” (ดู พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) เรียบเรียง, การศึกษาเป็นรากฐานประชาธิปไตย, มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศลในโอกาสที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงพระกรุณาโปรดประทานผ้าพระกฐินแก่มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เพื่อเชิญไปทอดถวาย ณ วัดอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันเสาร์ที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓, หน้า ๑๔. ก่อนหน้านี้ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานศพ พันโท พระนราธิราชภักดี โดยนายจิตร ทังสุบุตร วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508, 25.)
จากนั้น พระองค์จึงทรงหันไปพัฒนาการศึกษา โดยทรงโปรดขยายการศึกษาไปถึงขั้นอุดมศึกษา ทรงโปรดให้ปรับปรุงและขยายกิจการโรงเรียนมหาดเล็กที่ได้ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 ให้ยกฐานะขึ้นเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ให้ยกฐานะจากโรงเรียนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย โดยให้อยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ และต่อมาในปี พ.ศ. 2464 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2464 เพื่อบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน เพื่อให้ประชาชนได้มีการศึกษาและจะไม่ได้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลาต่อไป
ขณะเดียวกัน 6 เดือนหลังเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในจีนและในตุรกี การนำแบบอย่างของต่างประเทศมาใช้โดยไม่พิจารณาถึงเงื่อนไขที่เป็นไปได้ภายในประเทศของตน (นิทานเรื่อง อิน กับ จัน กลับจากอุตตรกุรุทวีป) ความล้มเหลวของกลุ่มนายทหารหนุ่มในตุรกี
ส่วนกรณีของญี่ปุ่นที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง 7 ตอน นับว่ามากที่สุดในบรรดาเรื่องต่างๆ พระองค์ทรงเห็นว่า การปฏิรูปการปกครองในญี่ปุ่นก็ดี การนำความรู้ที่ได้จากการไปรับการศึกษาในยุโรปมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขของบ้านเมืองก็ดี รวมทั้งการคิดสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ของญี่ปุ่นนั้น สมควรอย่างยิ่งที่คนไทยควรนำมาพิจารณา !
โดยหวังว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีและเตือนสติสำหรับคนไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลจากต่างประเทศ