xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายบิลลี่” ส.ส.ก้าวไกล ฝืนรับหลักการร่าง รธน.ฉบับ ปชช.แม้เห็นต่าง ชี้ต้องรักษาเอกภาพฝ่ายค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชน
“ทนายบิลลี่” ฝืนรับหลักการร่าง รธน.ภาคประชาชน เพื่อรักษาเอกภาพฝ่ายค้าน แม้จะยังเห็นต่างบางประการ ชี้ หลังรัฐสภาโหวตตก ส.ส.- ส.ว.โดนตีตราแยกเป็น 2 ฝ่าย

วันนี้ (17 พ.ย.) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชน ที่รัฐสภาไม่ผ่านความเห็นชอบ ว่า ที่ร่างแก้ไขนี้ต้องตกไป เพราะมีปัญหาในเชิงเนื้อหาหลายประการ ซึ่งเท่าที่ศึกษาและอ่านเนื้อหา รวมถึงติดตามสถานการณ์การเมือง ทำให้เห็นว่า วันนี้ไม่ว่าผลโหวตจะเป็นอย่างไร แต่สมาชิกรัฐสภาผู้โหวตจะถูกตีตราทางการเมืองออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่โหวตรับหลักการจะเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายที่โหวตไม่รับหลักการจะถือว่าสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เพราะการเมืองวันนี้บีบพื้นที่และแบ่งความเห็นใหญ่ๆ ออกเป็นสองฝ่าย ทั้งที่จริงๆ เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีปัญหามาก ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขบางคนต้องตกเป็นจำเลยทางการเมืองไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ สำหรับตนนั้นจำเป็นต้องโหวตรับหลักการเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งที่จริงยังมีความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างบางประการ ตัวอย่างเช่น

1. การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า แทบจะยกเครื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับระบบการเมือง ศาล และองค์กรอิสระ รวมถึงระบบตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งการยกเครื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญจำนวนมากขนาดนี้ ควรที่จะต้องใช้เวลาในการตกผลึกและมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ช่วยกันคิด เหมือนก่อนจะได้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้เวลากว่า 5 ปี ผ่านกระบวนการคิดมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาลชวน 1 รวมถึงตั้งคณะกรรมการประชาธิปไตย และต่อมาสมัยรัฐบาลบรรหาร ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง รวมถึงคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขมาตรา 211 จนนำไปสู่การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่แม้ประชาชนจะลงชื่อถึง 135,247 คน แต่กระบวนการยกร่างมาจากบุคคลเพียงไม่กี่คน

2. เป็นการเสนอแบบมัดรวมหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกัน ทำให้ตัดสินใจยาก เพราะบางอันดี บางอันละเอียดอ่อน เช่น เรื่องที่ผมให้การสนับสนุน คือ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ, ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายก ฯ, การป้องกันการรัฐประหาร, การให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ในเรื่องการเปลี่ยนให้เป็นสภาฯเดี่ยว รวมถึงการยกเครื่องเรื่องที่มา คุณสมบัติ การตรวจสอบและถ่วงดุลของ ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ นั้นจะคิดกันแก้ไขกันเฉพาะกลุ่ม หรือเอาความเห็นทางวิชาการ หรือมุมมองโลกตะวันตกโดยใช้ตรรกะความคิดของคนเพียงไม่กี่คนไม่ได้

3. การเสนอให้เป็นสภาฯเดียวนั้น ดูจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด แม้ว่าในอดีตหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะใช้ระบบสภาฯเดียว หรือหลังการรัฐประหารจะใช้แบบสภาฯเดี่ยว เช่นกันก็ตาม แต่ปัญหาของวุฒิสภาชุดนี้ คือ อำนาจที่มากแต่มีที่มาจากการแต่งตั้งของยุค คสช. ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน เพราะหลักการคือวุฒิสภา ควรมาจากการเลือกตั้งและควรมีส่วนที่เข้าไปเกี่ยวกับการเมืองให้น้อยที่สุด ประกอบกับร่างแก้ไขนี้ เขียนรวบเอาอำนาจทางการเมืองและกระบวนการตรวจสอบไว้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงองค์กรเดียวดูจะน่ากลัว และเป็นอันตราย โดยเฉพาะการให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ เข้าไปอยู่ในคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ แม้จะไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัย ก็ตาม

4. การตั้งผู้ตรวจการกองทัพเป็นการปฏิรูปกองทัพไม่ตรงจุด แต่ควรต้องแก้ไข พ.ร.บ. บริหารราชการกระทรวงกลาโหม และเสนอยุบหน่วยงาน กอ.รมน. เพราะหลังการรัฐประหารปี 2549 มีการแก้ไขพรบ บริหารราชการกระทรวงกลาโหม ทำให้ผู้บัญชาการทหารบกไม่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี กองทัพมีสถานะเป็นอิสระ จากรัฐบาลเหมือนรัฐซ้อนรัฐ ทำให้เกิดการรัฐประหารได้ง่าย และหลังรัฐประหารปี 2557 ก็แก้ไขกฎหมายขยายอำนาจ และภารกิจของพลเรือนให้ กอ.รมน. โดยเฉพาะการตั้ง กอ.รมน.ภาค หรือ กอ.รมน.จังหวัด ที่เข้าไปทับซ้อนงานของข้าราชการพลเรือน และเอาอัยการ ตำรวจ ผู้ว่าฯ มาเป็นลูกน้องนายพล

5. กระบวนการตรวจสอบและถอดถอนตุลาการโดยภาคประชาชนมีสิทธิเสนอชื่อ 20,000 ชื่อนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ปลายทางของกระบวนการที่ใช้เสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น “องค์คณะพิจารณาถอดถอน” หรือสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ถอดถอนนั้นก็สุ่มเสี่ยงที่การเมืองจะเข้าไปแทรกแซงองค์กรตุลาการ เพราะหากดูองค์ประกอบของผู้ออกเสียงล้วนมาจากสภาผู้แทนฯ ของนักการเมือง

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า แม้ร่างแก้ไขนี้จะตกไป แต่ก็ต้องขอชื่นชมคณะผู้ยกร่างที่สามารถรวบรวมเสียงของประชาชนนำเข้ามาสู่สภาฯได้ ถือว่าสำเร็จในแง่การกระตุ้นให้ประชาชนและสังคมเห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่า ในอนาคตเมื่อบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกปลดล็อก คงจะได้มีการนำเสนอเรื่องร่างแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น