xs
xsm
sm
md
lg

แก้ไข รธน.“ฉบับไอติม” เจตนาเงื่อนไขป่วน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ธนาธร จึงรุ่งรืองงกิจ - ปิยบุตร แสงกนกกุล - คำนูณ สิทธิสมาน
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณากันตามสถานการณ์และความเป็นจริงแล้ว ถือว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า “ฉบับประชาชน” เนื่องจากเป็นการร่วมกันเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวม 135,247 คน เข้าชื่อกันเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงต่อไปอีก ก็คือ เป็นการจัดร่าง และดำเนินการโดยกลุ่มรี-โซลูชัน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 4 องค์กร คือ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, กลุ่มไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน), คณะก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล

แค่เห็นรายชื่อคณะผู้จัดทำและคณะผู้นำเสนอแล้วก็สามารถคาดเดาถึงเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่านี้ และยังรวมไปถึงการคาดเดาอนาคตล่วงหน้าได้ไม่ยาก ว่าผลจะออกมาเช่นไร จะผ่าน หรือไม่ผ่าน อีกทั้งยังมองข้ามช็อตได้อีกว่า “เจตนาที่แท้จริง” ของคนพวกนี้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบไหนตามมาอีกด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า หากเห็นชื่อ “ทีมงานคุณภาพ” ที่ว่านี้แล้ว มีชื่อของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล รวมอยู่ในทีมแล้วก็ย่อมมองเห็นใบหน้าของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ลอยมาแต่ไกล และแน่นอนว่า เป้าหมายของร่างแก้ไข ก็ต้องพุ่งตรงไปที่ “สถาบันพระมหากษัตริย์” รวมไปถึงการรื้อศาล องค์กรอิสระ ส.ว.ในลักษณะที่ต้องการ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็ต้องพิจารณาถึงหลักการและเป้าหมายของการเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวนี้ ว่า มีความต้องการให้ออกมาแบบไหน โดยก่อนหน้านี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ได้เคยชำแหละออกมาให้พิจารณาราว 15 ข้อเท็จจริงโดยระบุว่า เป็นการ “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” ระบบตรวจสอบถ่วงดุล ใน 15 ข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบด้วย

หนึ่ง - รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอำนาจของรัฐสภามาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะผู้ตรวจการ 3 ชุด คือ คณะผู้ตรวจการกองทัพ, คณะผู้ตรวจการศาล และศาล รธน. และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ แต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน

สอง - ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติห้ามศาล รธน. และศาลทั้งปวงวินิจฉัย หรือพิพากษารับรองการรัฐประหาร และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากการรัฐประหาร และห้ามศาล รธน.วินิจฉัยขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามของคณะผู้ตรวจการศาลและศาล รธน. เข้ามามีส่วนในการบริหารงานภายในของศาล โดยให้คัดเลือกกันเอง 1 คน เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอีก 1 คน เข้าไปเป็นกรรมตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) รวมทั้งการกำหนดให้คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรธน. ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพของคำพิพากษา และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ

สาม - ลดทอนความเป็นอิสระขององค์กรอิสระทุกองค์กร โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทำนองเดียวกันกับศาล
สี่ - กำกับควบคุมกองทัพโดยตรง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ในนามของคณะผู้ตรวจการกองทัพ เข้าไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง

ห้า - บัญญัติกระบวนการถอดถอนประธานศาล รธน. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาล รธน. ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขึ้นมาใหม่ในบททั่วไปของศาล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คน เข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง และให้มีองค์คณะพิจารณาถอดถอนจำนวน 7 คน เป็นองค์คณะพิจารณาถอดถอน โดยในองค์คณะนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงข้างมากในองค์คณะ (4 ใน 7) มติถอดถอนใช้เสียงข้างมากขององค์คณะ

หก - บัญญัติกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นองค์กรตัดสิน และยังมีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/10 เข้าชื่อกันขอให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีที่พบว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม โดยให้ศาลรธน. เป็นองค์กรตัดสิน

เจ็ด - ยกเลิกวุฒิสภาเป็นการถาวร ให้สมาชิกวุฒิสภา ที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันที รวมถึงการยกเลิกสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยโอนบุคคลรกรอำนาจและหน้าที่ไปให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

แปด - Set zero ศาล รธน. และองค์กรอิสระ โดยให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 สิ้นผลใช้บังคับ ให้สภาผู้แทนราษฎร ยกร่างขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติมนี้ และให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ทุกฉบับ ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทุกองค์กรใหม่ โดยสภาผู้แทนราษฎร ให้สอดคล้องกับร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ที่ปรับโครงสร้างที่มาและกระบวนการเลือกตุลาการศาลรธน. และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใหม่หมด ทั้งนี้ มีสาระสำคัญว่าในโครงสร้างใหม่สัดส่วนผู้ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นเสียงข้างมากในคณะตุลาการศาลรธน. และกรรมการองค์กรอิสระ ทุกแห่ง (4 ใน 7 และ 6 ใน 9) รวมทั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาล รธน. และ กรรมการในองค์กรอิสระทุกองค์กร ในปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันที ให้เลือกใหม่ภายใน 30 วัน

อนึ่ง ห้ามบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์การใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดย รธน. 2549 หรือประกาศ/คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ และ รธน. 2557 หรือประกาศ/คำสั่ง คสช. เป็นตุลาการศาล รธน.ตลอดไป โดยบัญญัติไว้เป็นลักษณะต้องห้ามใน มาตรา 11 มาตราย่อยที่ มาตรา 203(2)
เก้า - ยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการถาวร โดยโอนอำนาจที่มีให้ไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

สิบ - ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA (Mixed Member Apportionment System) บัตรใบเดียว 350 : 150 ตาม รธน.2560 ดั้งเดิมก่อนการแก้ไขครั้งล่าสุด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงบังคับผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง

สิบเอ็ด - นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงระบบให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองไม่เกิน 3 รายชื่อ ในวันสมัครรับเลือกตั้งไว้เหมือนเดิม

สิบสอง - ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ/การปฏิรูปประเทศ
สิบสาม - ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรธน. และกฎหมายของคสช. และการกระทำที่สืบเนื่อง รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช.
สิบสี่ - สร้างระบบต่อต้านการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานรัฐประหารไม่มีอายุความ และสามารถเอาผิดย้อนหลังได้
สิบห้า - แก้ไขวิธีการแก้ไข รธน.ให้ง่ายขึ้น ไม่มีเงื่อนไขเสียง 1/3 ของสมาชิดวุฒิสภา หรือเสียง 20% ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน โดยกำหนดใหม่ให้ใช้เสียง 2/3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

นั่นคือภาพที่ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง 15 ประการ ถึงเจตนาของคณะผู้ร่าง ที่ใช้ชื่อของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ “ไอติม” กับพวกเป็นผู้เสนอ แต่ในจำนวนนั้นต้องไม่ลืมว่ามี “คณะก้าวหน้า” พรรคก้าวไกล ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งแค่เห็นชื่อคนพวกนี้ สำหรับคนติดตามการการเมืองและพิจารณาอย่างเข้าใจ ย่อมมองออกได้ไม่ยากว่า ร่างแก้ไข รธน. ฉบับที่พิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 16 พ.ย.ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ผ่านหรือ ไม่ผ่านวาระแรก

แน่นอนว่า ไม่ต้องเดาให้ยากก็ต้องฟันธงไว้ล่วงหน้าก่อนเลย คือ “ไม่มีทางผ่าน” แต่เจตนาของคณะผู้เสนอที่พอเห็นชื่อก็เข้าใจได้ทันที ว่า มีเจตนาตามมามากกว่านั้น เพราะหากไม่ใช่เป็นการกล่าวหาที่เกินเลย ก็ต้องบอกว่านี่คือ “เสนอให้ป่วน” เป็นการ “ปลุกม็อบ” หรือ “เลี้ยงม็อบ” ให้ไปต่อเท่านั้นเอง เพราะพวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่า “ไม่ผ่านแน่นอน” แต่ก็จะใช้เป็นเงื่อนไขโจมตี ส.ว.โจมตี “สถาบันพระมหากษัตริย์” โจมตีศาล โจมตีรัฐบาล โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. เป็นต้น


และที่น่าจับตาไปอีก ก็คือ ในวันที่ 16 พ.ย.ในวันประชุมรัฐสภา คณะผู้เสนอร่างแก้ไขฯ จะส่งใครมาเป็นตัวแทนในการเสนอหลักและเหตุผลในการเสนอร่างฯต่อที่ประชุม เพราะมีรายงานว่าจะมีชื่อของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และยังมีแกนนำ “ม็อบสามนิ้ว” ในระดับทัศนคติล้มเจ้า มาอภิปรายในสภาอีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหา เป้าหมาย และทิศทางในอนาคตข้างหน้าแล้ว ก็ต้องสรุปว่า “ไม่มีทางผ่าน” เพียงแต่ว่าต้องมองถึงเป้าหมายต่อไปว่า “ทีมงานล้มล้าง” ทีมนี้มี “เจตนาให้ป่วน” หรือไม่ เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าผลจะออกมาแบบไหน เนื่องจากการลงมติวาระแรก หรือขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง และต้องใช้เสียง ส.ว.โหวตหนุน 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ซึ่งถือว่ายาก แต่ก็อย่างว่างานนี้มันวางแผนไว้แล้วว่าต้องป่วน เพราะเจตนา “สร้างเงื่อนไข” ให้เห็นว่าพวก ส.ว. และ ส.ส.รักษาอำนาจ หรือพวก “กากเดนเผด็จการ” ตามศัพท์แสงของพวกนักปฏิวัติชอบนำมาปลุกระดมอะไรประมาณนี้

เอาเป็นว่าหากมองกันแบบรู้ทัน ก็ไม่ต้องพิจารณาอะไรให้ซับซ้อน นอกจากเป็นการเสนอเข้ามาแบบมีเจตนาให้ป่วน และสร้างเงื่อนไขก่อม็อบกันต่อไปแบบยาวๆ และสุดท้ายคนที่ต้องทยอยติดคุกไปเรื่อยๆ ก็เป็นพวกเด็กๆ นักศึกษา เยาวชนที่ถูกปลุกเร้าจากพวกกลุ่มการเมือง และอาจารย์มหาวิทยาลัย “อีแอบ” บางคนที่ไม่กล้าออกมายืนในที่สว่างเท่านั้นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น