แค่อยากแสดงตัวตน? “ปิยบุตร” ปลุกใหญ่ แก้ รธน. ขู่ “ส.ส.-ส.ว.” โหวตคว่ำ ปชช. ลงโทษ “วันชัย” ฟันธง ร่วงคาสภาฯ ชี้ เนื้อหาสุดเคียดแค้น จ้องแต่ “ล้ม-ล้าง-โละ-เลิก” คสช. “ปชต.” ไม่เป็นแบบนี้
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 พ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น ปิยบุตร ขู่ “ส.ส.-ส.ว.” ใครโหวตคว่ำร่าง ปชช.จะถูกลงโทษ ลต.ครั้งหน้า?
โดยระบุว่า หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภานัดพิจารณาเรื่องด่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชนวันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนลงมติวาระแรกวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสนอโดย “กลุ่มรีโซลูชัน” (Re-solution) ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน ตามเงื่อนไขธรรมนูญมาตรา 256(1) ตามขั้นตอนวันที่ 16 พ.ย. ที่ประชุมรัฐสภา แบ่งเวลาอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 18 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน, วุฒิสภา ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง
ขณะที่กลุ่มรีโซลูชันในฐานะผู้เสนอร่าง ได้เวลาแถลงรายละเอียด 3 ชั่วโมง โดยมีตัวแทน 4 คน เข้าชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด วันนี้ (15 พ.ย. 64) นายปิยุบตร โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ความหวังถึงรัฐสภา : ขอให้จิตสำนึกอยู่เหนือฝักฝ่าย ทำเพื่อชาติและประชาชนจริงๆ สักครั้ง
ส.ว. มักทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองตลอด เวลาจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญๆ ที่ลดทอนอำนาจของตนเอง แต่กลับไปสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา เช่น ระบบเลือกตั้ง ส่วนอะไรก็ตามที่นำไปสู่การทำให้ตนเองเสียประโยชน์ หรือกระทั่งนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ส.ว. ก็ไม่เคยเอาด้วย
คำถามก็คือ ตกลงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลายไปอย่างนั้นหรือ โดยที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้เลย? หรือเราจะได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเฉพาะเรื่องประเด็นเล็กน้อยเท่านั้น? นี่คือ อุปสรรคใหญ่ จนนำมาซึ่งวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งเสียงเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เสียงเรียกร้องจากพี่น้องประชาชน
อุปสรรคการแก้รัฐธรรมนูญมีเยอะพอสมควร ขั้นแรกต้องมี ส.ว. เห็นด้วยจำนวน 1 ใน 3 แล้วต่อให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เราผ่านด่านนี้ไปได้ เมื่อไปถึงการลงมติวาระที่สาม ก็ยังต้องมี ส.ว. และเสียงของฝ่ายค้านด้วย สุดท้ายด้วยความที่เราแก้ไขหลายประเด็น ก็จะต้องประชามติอีก ยังไม่นับรวมว่าจะมีมือดีร้องไปศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ
การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ต้องผ่านผู้ออกใบอนุญาตไม่รู้กี่ด่าน ปัญหาก็คือแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการแบบนี้? ประชาชนซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ถึงเวลาพอประชาชนจะใช้อำนาจจริงกลับถูกสกัดขัดขวางตลอดเวลา
ครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า “ระบบผู้แทน” จะสนองต่อความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน? เปิดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ทำตามกระบวนการทั้งหมด แต่แล้วแต่ถึงเวลา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีอำนาจที่จะขัดขวางได้ตลอด
ชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตา พรรคไหน-ส.ส. คนไหน โหวตล้มร่างของประชาชนอีกครั้ง
การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ #รื้อระบอบประยุทธ์ ของ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมี 4 ข้อเสนอหลัก คือ
– ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว
– โละ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มาอำนาจการตรวจสอบ
– เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
– ล้าง มรดกรัฐประหาร
อยากให้สมาชิกรัฐสภามองข้ามมิติเรื่องของฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เพราะร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลเลย นี่คือร่างที่พี่น้องประชาชน แสนกว่าคนเสนอเข้าสู่สภา เป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบกัน คนที่จะเสียเปรียบแน่ๆ คือ ส.ว. 250 คน อันนี้ก็ต้องขอให้เขาเห็นแก่อนาคตประเทศ
ตัวเองก็เป็นมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว ส.ว. บางคนนี่เป็นตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรกๆ ออกมา จนวันนี้ยังเป็นอยู่เลย แค่นี้ก็ผิดปกติแล้ว ดังนั้นผมก็เลยอยากจะเชิญชวนให้ฟังการอภิปราย การนำเสนอของเรา เหตุและผลที่เราเสนอร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้มา ลองอ่านศึกษาดู อย่าคิดแต่เพียงแค่ว่าฉันจะโหวตล้ม เพราะว่าร่างนี้มันเป็นของฝ่ายตรงข้ามร่างขึ้นมา ถ้าได้ลองศึกษาดูแล้วอาจจะตัดสินใจโหวตรับก็ได้
สุดท้าย อยากให้พี่น้องประชาชนทั้งที่เข้าชื่อกับเราหรือที่เข้าชื่อกับเราไม่ทัน แต่สนับสนุนร่างนี้ ช่วยกันเรียกร้อง ส่งสัญญาณไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพวกท่าน ไปถึง ส.ส. เขตบ้านท่าน ช่วยส่งสัญญาณไปบอกเขาหน่อยว่าช่วยโหวตให้ไปก่อน เสร็จแล้วคุณยังมีโอกาสปรับปรุงอะไรกันอีกรอบในชั้นกรรมาธิการ
วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นี้ ลองเปิดการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฟังดู อย่าคิดแต่เพียงว่าไม่ผ่านแน่ๆ การอภิปรายในสภามีประโยชน์อยู่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วลองใช้วิจารณญาณของพี่น้องประชาชนในการฟังว่าน้ำหนักเหตุผลของใครดีกว่าใคร ในท้ายที่สุดแน่นอนว่าสภาฯจะต้องเป็นคนโหวต แต่พี่น้องประชาชนจะเป็นคนตัดสิน เพราะพี่น้องมีอำนาจลงโทษเขาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ขณะเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....ฉบับภาคประชาชนดังกล่าว ว่า ตนเชื่อว่า ส.ว. จะลงมติไม่รับหลักการ เพราะมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และปฏิวัติการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทั้งตัวบุคคล และองค์กร เพราะกลุ่มที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโฆษณาไว้ว่า เป็นฉบับ “ล้ม-ล้าง-โละ-เลิก” อีกทั้งยังกำหนดเนื้อหาที่ไม่เกิดการถ่วงดุลตามหลักการของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สภาฯ มีอำนาจสูงสุดขยายไปยังกลไกของกองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ
“ผมเชื่อว่า ผู้เสนอร่างแก้ไข มีเจตนาทำเนื้อหาให้ไม่ผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว และมีเนื้อหาเคียดแค้น ทำเพื่อความสะใจมากกว่าต้องการนำไปสู่การแก้ไขอย่างแท้จริง ผมมองว่าด้วยว่ารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแบบนี้ และเมื่อดูประเด็นรายละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะผ่านไม่ได้”
เมื่อถามว่า หากรัฐสภาไม่ผ่าน จะเปิดโอกาสให้ถูกนำไปขยายประเด็นสร้างการชุมนุมวุ่นวายหรือไม่ นายวันชัย กล่าว่า ตนเชื่อว่า ไม่มีประเด็นที่นำไปสู่การปลุกระดมได้ อีกทั้งเนื้อหาที่เสนอนั้นรับรู้ได้โดยทั่วไป ว่า ผู้เสนอมีเจตนาไม่ให้ผ่าน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ส.ว.ควรฟังเหตุฟังผลก่อนลงมติคว่ำนั้น ยืนยันว่าส.ว.รับฟังและอ่านอย่างละเอียดแล้ว
เมื่อถามว่า มีคนนำ ส.ว.ชุดปัจจุบันเปรียบเทียบว่า องค์กรวุฒิสภา อยู่ไปไม่มีประโยชน์เพราะตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ นายวันชัย กล่าวว่า การตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบวุฒิสภา เป็นไปตามกลไก ทั้งกลั่นกรองกฎหมาย ตั้งกระทู้ถาม ที่ผ่านมา วุฒิสภาเคยมีไม่เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่...) พ.ศ.... ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่า เหตุที่ผู้เสนอร่างต้องการโละ ส.ว. เพราะมีที่มาจาก คสช. เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ (14 พ.ย. 64) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้อย่างน่าสนใจ หัวข้อเรื่อง “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” ระบบตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งระบุเนื้อหาไว้ 15 ประเด็น
ในที่นี้ขอหยิบมาบางประเด็น ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเคียดแค้นแบบสุดโต่ง และผู้เสนอร่างก็อาจรู้อยู่แล้วว่า จะไม่ผ่าน
หนึ่ง - รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอำนาจของรัฐสภามาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะผู้ตรวจการ 3 ชุด คือ คณะผู้ตรวจการกองทัพ, คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ แต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 121, มาตรา 122, มาตรา 123), มาตรา 6
สอง - ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองการรัฐประหาร และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนในการบริหารงานภายในของศาล โดยให้คัดเลือกกันเอง 1 คนเข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอีก 1 คนเข้าไปเป็นกรรมตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) รวมทั้งการกำหนดให้คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพของคำพิพากษา และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 121(4) มาตรา 121 วรรคสาม) มาตรา 11 (มาตรา 215) มาตรา 21 (มาตรา 259)
สาม - ลดทอนความเป็นอิสระขององค์กรอิสระทุกองค์กร โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทำนองเดียวกันกับศาล
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 123)
สี่ - กำกับควบคุมกองทัพโดยตรง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คนในนามของคณะผู้ตรวจการกองทัพ เข้าไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง
หมายเหตุ - มาตรา 4 (มาตรา 121)
ห้า - บัญญัติกระบวนการถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขึ้นมาใหม่ในบททั่วไปของศาล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง และให้มีองค์คณะพิจารณาถอดถอนจำนวน 7 คนเป็นองค์คณะพิจารณาถอดถอน โดยในองค์คณะนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงข้างมากในองค์คณะ (4 ใน 7) มติถอดถอนใช้เสียงข้างมากขององค์คณะ
หมายเหตุ : มาตรา 10 (มาตรา 193/1, มาตรา 193/2).....
เจ็ด - ยกเลิกวุฒิสภาเป็นการถาวร ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันที รวมถึงการยกเลิกสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยโอนบุคคลากรอำนาจและหน้าที่ไปให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
หมายเหตุ : มาตรา 8, มาตรา 22....
สิบสาม - ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคสช. และการกระทำที่สืบเนื่อง รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช.
หมายเหตุ : มาตรา 21 (มาตรา 257), มาตรา 23....
แน่นอน, เป้าหมายที่กลุ่ม “ปิยบุตร” ต้องการ “ปฏิวัติ” หลายองค์กร เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวเป็นหลักใหญ่ แต่แอบอ้างประชาชน เนื่องจากเชื่อว่า พวกตนถูกกลั่นแกล้งรังแกทางการเมือง ทั้งที่เป็นการทำผิดเอง อย่างกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พ้นสภาพ ส.ส. กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค รวมถึง นายปิยบุตร ถูกเว้นวรรคการเมือง 10 ปี
แต่พาลเคียดแค้นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตามปกติ
นอกจากนี้ การเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” และมองว่า กองทัพ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้ง คสช. เป็นอุปสรรค จึงจองลางของพลาญด้วยการเสนอแก้ รธน. ชนิด “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” อย่างเห็นได้ชัด
สรุปแล้ว ข้ออ้างรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ก็แค่ล่ารายชื่อเท่านั้น ส่วนเนื้อหาทั้งหมด ล้วนเป็นของ “ขบวน 3 นิ้ว” ทั้งสิ้น
“ประชาชน” ก็ลองคิดดูว่า พวกเขาเอาชื่อมาอ้างกันง่ายๆ อย่างนี้นี่เอง เจ็บใจมั้ย!?