เบื้องลึกเกมปูทางนิรโทษกรรม “ทักษิณ” เคยหมิ่น “สถาบันฯ” ถูกฟ้อง 112 เหตุ พท.หนุนยกเลิก? “ท่านใหม่” เสียดาย อดีตทนายแผ่นดินรับใช้คนหนีคดี? “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ฟาดนักการเมือง ก่อนแก้ 112 คืนเครื่องราชฯก่อนดีมั้ย?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 พ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น เบื้องลึกครั้งอดีต “ทักษิณ” เปิดเกมรุก “สถาบันฯ” ยืมมือสื่อใหญ่ TIMES พาดพิง ในหลวง ร.๙
โดยระบุว่า หลายๆ คนต่างตั้งคำถามว่า เหตุใด พรรคเพื่อไทย ถึงขยับตัวรุนแรง ในเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งมองได้ว่า อาจจะเป็นการเปิดทางเพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรม “ทักษิณ ชินวัตร” เพราะขณะนี้ ยังไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์การที่จะได้รับนิรโทษกรรม เนื่องจากติดคดีที่ไม่อาจจะแก้ตัวได้ นั่นคือ มาตรา 112
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 52 หลายคนคงจำได้ เมื่อ ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ สื่อใหญ่อังกฤษ ซึ่ง นายริชาร์ด ลอยด์ แพร์รี เดินทางไปสัมภาษณ์ ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย ทักษิณ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์แต่งตั้ง ให้ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมถึงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ
แต่ที่สื่อใหญ่ เดอะไทมส์ ต้องนำไปพาดหัว ก็คือ ประเด็นที่ ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีส่วนรับรู้ต่อเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้ ตัวทักษิณ ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับกล่าวโจมตีองคมนตรี ว่า จับมือกับนายพลระดับสูง เพื่อทำการรัฐประหารรัฐบาลของเขา
องคมนตรี ที่ทักษิณ พูดถึงก็คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทักษิณเป็นไม้เบื่อไม้เมา และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง จึงได้รุมกันเล่นงาน พลเอก เปรม ตลอดมา
โดย เดอะไทมส์ ได้ระบุคำพูดของ ทักษิณ ว่า “ในหลวงทรงยอมรับการรัฐประหารอย่างรวดเร็ว และปฏิเสธคำถวายฎีกาที่กลุ่มคนเสื้อแดง 3.5 ล้านคน ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ ทักษิณ”
ซึ่งจากการสัมภาษณ์ของ ทักษิณ ในวันนั้น ทำให้หลายคนตาสว่างและรู้ความคิดของ ทักษิณ ว่า แท้ที่จริงแล้วมีเจตนาอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยหลายแง่มุม ในการที่เพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหว ว่า จะแก้มาตรา 112 เพื่อดึงฐานเสียงคนรุ่นใหม่ แข่งกับก้าวไกล หรือไม่ รวมทั้งอีกนัยยะหนึ่ง อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่นายทักษิณ เปิดตัวลูกสาว “อุ๊งอิ๊ง” ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในพรรค และมีการกล่าวว่า พ่ออยากกลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกต ว่า นี่อาจจะเป็นการปูทางให้นายทักษิณได้กลับบ้าน
เพราะหากย้อนไปในปี 2558 นายทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลี ทำนองพาดพิงสถาบันฯ และต่อมาในปีเดียวกัน พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเทปการให้สัมภาษณ์ของทักษิณ ถ้าผิดจริง ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ ตนเคยชี้แจงกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มีลักษณะเหมือนกฎหมายหมิ่นประมาท แต่สถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ออกมาฟ้องร้อง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะดูหมิ่นเรื่องไหน เราก็ต้องออกมาดำเนินการ ไม่เช่นนั้น ก็จะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
.
ส่วนการที่จะนำตัวผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในต่างประเทศ มาลงโทษนั้น ต้องเข้าใจว่า จะต้องมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายความแดน ต้องเป็นกฎหมายที่มีเหมือนกัน แต่หลายประเทศไม่มีพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีกฎหมายแบบนี้ และไม่สามารถส่งตัวให้ได้ เว้นแต่คนเหล่านี้กระทำผิดในด้านอื่นๆ ด้วย
.
และในวันที่ 30 ต.ค. 60 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความรับมอบอำนาจจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ถึงนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ภายหลังมีข่าวว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 58 ที่ประเทศเกาหลีแล้ว
.
โดยขอให้อัยการสูงสุด มีคำสั่งทบทวนความเห็นดังกล่าว เเละให้มีการสอบคำให้การพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก ว่า ได้เสนอหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายทักษิณขึ้นไปยังอัยการสูงสุดแล้ว ขณะนี้รออัยการสูงสุดสั่งการลงมา ซึ่งโดยหลักปฏิบัติเเล้ว อัยการสูงสุดจะสั่งให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา ก่อนส่งความเห็นมาให้ อสส.พิจารณาสั่งการต่อไป
ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ” ตามที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เงื่อนไขคือ การนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน....
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น “ท่านใหม่” เสียดาย ทนายเปลี่ยนเป็น..รับใช้คนหนีคดี?
เนื้อหาระบุว่า จากกรณี นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการพิจารณาปล่อยนักโทษทางความคิดที่เห็นต่างทางการเมือง เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม และปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจำกัดความคิดเห็นประชาชนที่แตกต่างจากรัฐบาล ว่า
ประเด็นหลักของพรรค คือ การเรียกร้องให้มีการพิจารณาปล่อยนักโทษทางความคิด ซึ่งทุกคนควรมีเสรีภาพทางความคิด และควรได้รับการประกันตัวตามสิทธิอย่างเท่าเทียม และได้ประกาศยืนยันเจตนารมณ์ พร้อมนำข้อเสนอแก้ไข ป.อาญามาตรา 112 และ 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา
ต่อมา ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า เป็นกบฏต่อพระราชบัลลังก์ จากทนายเก่งที่สุดของแผ่นดิน คนหนึ่ง เมื่ออายุมาก ยอมเสียศักดิ์ศรีของตัวเอง และวงศ์ตระกูล ยอมถวายตัว เพื่อเป็น..รับใช้คนหนีคดีหรืออย่างไร ?
เสียดายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เคยได้รับมา อายุมาก หลงลืมอดีต ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และเกียรติยศ ที่เคยได้รับมา ขนาดไม่เห็นสถาบันฯอยู่ในสายตา ถึงโอหัง ประกาศแก้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ เพื่อทำลายความมั่นคงของสถาบันฯ เป็นกบฏต่อพระราชบัลลังก์ เสียดาย เคยนับถือว่าเป็นคนดี คนเก่งคนหนึ่งของแผ่นดิน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นกบฏต่อความมั่นคงของสถาบันฯ และพระราชบัลลังก์ ก็เพื่อคนหนีคดีคนเดียว
#ชีวิตพี่ถึงทางตันถึงยอมไร้ศักดิ์ศรีแล้วหรือคะ ?
#มิจฉาทิฐิเข้าครอบงำหรือคะ ?
#เงินสะสมและบำนาญพี่ไม่พอใช้หรือคะ ?
#ระวังไม่มีแผ่นดินจะกลบหน้าฐานเป็นกบฏต่อความมั่นคงต่อสถาบันและราชบัลลังก์
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน THE TRUTH โพสต์ประเด็น ซัดเดือด..อย่าย้อนแย้ง! “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ฟาดนักการเมือง ก่อนแก้ ม.112 คืนเครื่องราชฯก่อนดีมั้ย?
โดยอ้างถึงแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย หนุนแก้ ม.112 ต่อมา นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า
“จำชื่อไว้นักการเมืองพรรคใดเสนอแก้ไข ม.112 อย่าไปเลือกมัน” ทำให้มีกระแสในโซเชียลเห็นด้วยอย่างมาก ว่า จะไม่เลือกคนที่โจมตีสถาบันฯ รวมทั้งรับไม่ได้ที่นักการเมือง ร่วมมือกับกลุ่ม 3 นิ้ว ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวลาใกล้ๆ กัน เพื่อเรียกร้องยกเลิก 112
วันนี้ นายนันทิวัฒน์ เคลื่อนไหวถึงประเด็นนี้อีกครั้ง โดยระบุว่า ส.ส. ที่จะขอแก้ ม.112 คืนเครื่องราชฯ ที่ได้รับพระราชทาน ก่อนดีมั้ย
นอกจากนี้ นายศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ หรือ กาณฑ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แนวร่วมคณะราษฎร 63 เคยโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า นักการเมืองใครได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นเรื่องปกติ ทุกพรรคได้หมด ทุกประเทศมีเครื่องราชฯ ยิ่งอังกฤษ นักการเมืองคนไหนมีความดีความชอบ ผลงานทำประโยชน์แก่ประชาชน ควีนเอลิซาเบธพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นสูง พร้อมสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็น “อัศวิน” เลย ผู้ชายมียศนำหน้าเป็น Sir ถ้าเป็นผู้หญิงจะมียศนำหน้าด้วย Dame
แต่กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย ที่แสดงออกว่า เป็นพวก anti-monarchism ชัดเจนอย่างพรรคก้าวไกล ส.ส.กับทีมงานที่ได้เครื่องราชฯ คือ shame on you น่าอายและน่าสมเพช เพราะเป็นผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ พฤติกรรมที่คุณแสดงออกกับมวลชน ปากบอกสู้กับศักดินา แถมยังมาด่าพรรคเพื่อไทย ว่า สู้ไปกราบไป แต่ ส.ส. พรรคส้ม ไปสาระแนไปขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เเบบนี้เข้าข่าย “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลแต่ชอบกินน้ำแกง” ในขณะที่คุณเรียกร้องการปลดแอกจากเผด็จการ คุณกลับไปขอเครื่องราชฯ เพื่อเป็นสายรัดคอแห่งการครอบงำ แบ่งแยกคนไม่เท่ากัน เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น
ถ้าจะมาว่า เพื่อไทยขอได้ เสรีรวมไทยขอได้ ทำไมไม่ด่า พรรคฝ่ายค้านคนอื่นเขาต้านเผด็จการก็จริง แต่เขาไม่แสดงออกถึงการต่อต้านระบอบกษัตริย์ เขายังยึดตามหลักการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เคยไปทับถมพรรคคุณสักนิด ไม่ว่าพรรคคุณไม่เคยมีมารยาททางการเมืองขนาดไหนก็ตาม
และได้ยกรายชื่อ ส.ส. พรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่น
มหาวชิรมงกุฏ (ชั้นสายสะพาย- ต้องเข้าวังไปรับ)
1. พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ
ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ชั้นสายสะพาย-ต้องเข้าวังไปรับ)
1. นายชำนาญ จันทร์เรือง
2. นายคำพอง เทพาคำ
3. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์
4. สุรวาท ทองบุญ
5. อภิชาติ ศิริสุนทร
นอกจากนี้ พบชื่อของ ส.ส. คนสนิท นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวการเมืองในสังคมออนไลน์ด้วย เช่น นายวาโย อัศวรุ่งเรือง, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ที่อภิปรายพาดพิงงบสถาบันฯ ส่วนทางฝั่งเพื่อไทย พบข้อมูลในปี 2548 ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ดิเรกคุณาภรณ์ และมี ส.ส.อีกหลายคนในพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นรับขอเครื่องราชฯ อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเคลื่อนไหวจะแก้ ม.112 ของพรรคเพื่อไทย และทางฝั่งก้าวไกล ที่มีการเรียกร้องเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า หากจะยื่นแก้ ม.112 ตามข้อเรียกร้องของม็อบ ก็ควรคืนเครื่องราชฯ ที่ตนเองได้รับมาเสียก่อน จะได้ไม่ดูย้อนแย้ง
แน่นอน, หากย้อนอดีตการพาดพิงเบื้องสูง และถูกฟ้อง ม.112 ของ “ทักษิณ” ทำให้เห็นว่า “ทักษิณ” ก็ไม่ต่างอะไรกับแกนนำม็อบสามนิ้ว ที่ถูกฟ้อง ม.112 ไม่ต่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ถูกฟ้อง ม.112 นั่นหมายถึงว่า ทุกคนที่กล่าวมา อยู่ในหัวอกเดียวกัน
ดังนั้น การยกเลิก ม.112 หรือ แก้ไข ม.112 ให้เหลือแค่โทษปรับ ซึ่งเป็นโทษเบา ตามที่มีกระแสข่าวออกมาจากฝ่ายที่เสนอแก้ไข คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงก็คือ คนที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปที่ชั่วนาตาปี ไม่เคยหมิ่นสถาบันฯแม้แต่น้อย
และหากนับว่า เป็น “เกม” ทางการเมือง คนที่ได้ประโยชน์ ก็ยังเป็นแกนนำม็อบสามนิ้ว และเครือข่ายสามนิ้ว ที่จะได้พาดพิงสถาบันฯง่ายขึ้น ในการเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน”
ส่วน “ทักษิณ” ยิ่งเห็นได้ชัด ถ้าวิเคราะห์ว่า นี่คือ การปูทางเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง (เพื่อจะกลับบ้านแบบเท่ๆ) ให้ครอบคลุมตัวเองได้ง่าย เหลือก็แต่ต้องไปต่อสู้คดีอื่น ว่า มีมูลเหตุจากการถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่เจ้าตัวกล่าวอ้างมาตลอด ส่วนจะรอดพ้นได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายอย่างแน่นอน
สรุปแล้ว สำหรับ “ทักษิณ” เรื่องส่วนตัวถือเป็นเรื่องใหญ่ ผลประโยชน์ตัวเองต้องมาก่อนเสมอหรือไม่ พิจารณาจากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ชัด หรือไม่จริง!?