เมืองไทย 360 องศา
การเมืองส่อเค้าร้อนฉ่าขึ้นมารับเปิดสภาทันที หลังจากพรรคเพื่อไทย เด้งรับความเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” ที่ขับเคลื่อนโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มก้าวหน้า รวมไปถึงบรรดานักวิชาการมีชื่อหลายคนก่อนหน้านี้ เพราะล่าสุดเริ่มมีการเคลื่อนไหวทันที โดยเตรียมเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการ “หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์
แน่นอนว่า เมื่อเปิดหัวขึ้นมา ก็ย่อมมีการโหมโรงกระตุ้นกันมาทุกรูปแบบ เริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มราษฎร” ชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์ เมื่อเย็นวันที่ 31 ตุลาคม จากนั้นในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” แกนนำม็อบ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลายคดีเคลื่อนไหวพร้อมตัวแทนของ “แอมนาสตี้ฯ” ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอของตะวันตกในประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 112
สำหรับ น.ส.ปนัสยา นั้น ศาลอาญามีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องให้เพิกถอนประกันตัวในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับพวกอีกสองสามคน ในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 หลายคดี และความผิดอื่นๆ และศาลเคยอนุญาตให้ประกันตัวออกมาระหว่างการต่อสู้คดี แต่เธอก็ยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิม และลักษณะความผิดเดิม ที่เคยถูกฟ้องดำเนินคดี ทำให้เป็นที่จับตามองว่า ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เธอกับพวกจะถูกเพิกถอนการประกันตัวเหมือนกับแกนนำหลายคนก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น เวลานี้ถูกศาลเพิกถอนประกัน และถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างถูกดำเนินคดีในเวลานี้แต่ละคนนับสิบคดี
ขณะเดียวกัน แน่นอนว่า เมื่อเปิดสภาก็จะมีความเคลื่อนไหว ทั้งกลุ่มการเมือง และพรรคการเมือง ที่เชื่อมโยงกันทันที โดยเวลานี้ พรรคเพื่อไทย ได้มีท่าทีชัดเจนว่าจะนำข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 และ มาตรา 116 เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา และคงไม่ต้องพูดถึงพรรคก้าวไกล เพราะต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ ทั้งในและนอกสภาอยู่แล้ว
โดย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ออกจดหมายเปิดผนึกผ่านเพจพรรคเพื่อไทย ยืนยันเจตนารมณ์ว่า พรรคเพื่อไทย พร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการย้ำเจตนารมณ์ที่ได้กล่าวเอาไว้ในงาน “พรุ่งนี้เพื่อไทย” ที่ได้เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิด เพื่อฟื้นฟูหลักนิติรัฐ และนิติธรรมของประเทศ
เนื้อหาในจดหมายดังกล่าว ยังอ้างอีกว่า ปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างผลกระทบให้ประชาชนเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนสงสัยว่า ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว โดยมิชอบด้วยหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมของประเทศ
“พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย” นายชัยเกษม ระบุ
ขณะที่อีกด้านหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีท่าทีชัดเจนแบบทันควันเช่นเดียวกัน โดย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ในส่วนของพรรคชัดเจน พรรคไม่มีนโยบายที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื้อหาสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวนั้น ไม่ได้ไปสร้างความเสียหายความไม่เป็นธรรมให้กับใคร ต้องมองที่การกระทำของบุคคลมากกว่าตัวบทกฎหมาย หากมีการกระทำที่เป็นความผิดให้ว่าไปตามกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดส่วนตัว ไม่ใช่กฎหมายมีปัญหา ความคิดและการกระทำของคนต่างหากที่มีปัญหา เมื่อมีการก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผิดถูกก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
นายราเมศ กล่าวว่า ชัดเจน มาตรา 112 ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดใจผู้คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง หากมีการยื่นร่างแก้ไข มาตรา 112 ต่อรัฐสภา พรรคพร้อมค้านเต็มที่ พรรคการเมืองใดยื่นแก้ไข ให้กลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ดี ที่ได้เคยวินิจฉัยอธิบายความสำคัญของ มาตรา 112 ดังนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาตามที่มีผู้บิดเบือน การเสนอแก้มาตรา 112 ต่อสภา พรรคการเมืองไหนใครอยากทำก็ไม่มีใครห้ามได้ ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรามีหลักการชัดคือ ยึดมั่นในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีแนวคิดในการยกเลิก ยื่นเข้าสภาเมื่อใด ก็ต้องสู้กัน เราสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
“ที่อ้างว่า เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก และเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย เป็นการบิดเบือนทั้งสิ้น ทำไมไม่พูดถึงการกระทำของคนทำผิดไม่ต่างจากแนวความคิดในการนิรโทษกรรมให้คนทำผิดเช่นที่ผ่านมา ความคิดและการกระทำที่ดีไม่ควรกลัวกฎหมาย เช่นกันหากคิดไม่ดีนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องกล้าหาญยอมรับผล อย่าขี้ขลาดตาขาว หลักการความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เรื่องนี้ไม่สลับซับซ้อน พรรคการเมืองนักการเมืองมืออาชีพจะรู้หลักการพื้นฐานนี้ดี ประชาชนควรจับตาพรรคการเมืองต่างๆ ให้ดี การกระทำย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนา เชื่อว่า ประชาชนจะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเช่นนั้นอย่างแน่นอน” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีท่าทีออกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เชื่อว่า คงออกมาในเร็วๆ นี้ แน่นอน แต่เมื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวเท่าที่เห็นของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล ที่เป็น “เกม” ที่ต้องการช่วงชิงมวลชนระหว่างกันเท่านั้น โดยอาศัย มาตรา 112 เป็นเครื่องมือ เนื่องจากทั้งสองพรรคดังกล่าวต่างต้องการคะแนนเสียงจาก “คนรุ่นใหม่” แต่ขณะเดียวกัน “เกมการเมือง” แบบนี้ค่อนข้างอันตราย และเสี่ยงต่อความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะจากคนที่ยังรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ !!