xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จ่อคว่ำร่าง ปชช.ชี้หวังผลการเมืองรู้อยู่ว่าไม่ผ่าน “สาทิตย์” แนะอย่าอคติยก 6-7 ปี เป็นตัวตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวโน้ม ปชป. เล็งคว่ำ รธน. ฉบับ “ไอติม” และประชาชน 1 แสนกว่าคนเข้าชื่อเสนอ มองรู้อยู่แล้วว่าไม่ผ่าน แต่เสนอเพื่อหวังผลการเมือง “สาทิตย์” ห่วงกระทบดุลาการตรวจสอบ แนะ อย่ายกเหตุการณ์ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวตั้ง อคติจะบดบังความมีเหตุผล

วันนี้ (16 พ.ย.) รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 พ.ย. ส.ส.ของพรรคจะไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และประชาชน 1 แสนกว่าคน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ทั้งการยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว หลายคนเป็นห่วงว่า ถ้าไม่มีวุฒิสภาจะไม่มีฝ่ายทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย นอกจากนี้ พรรคยังห่วงว่า การเสนอเปลี่ยนแปลงการได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ โดยเฉพาะที่มาของศาลจะเป็นการก้าวล่วง อีกทั้งตุลาการศาลก็มีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว เมื่อครบวาระก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปเอง ส่วนการเสนอยุบมาตรา 279 รับรองการทำรัฐประหารนั้น แน่นอนว่า พรรคไม่เห็นด้วยให้มีการทำรัฐประหาร แม้จะเขียนห้ามลงไปในรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้าย เมื่อมีการทำรัฐประหารก็จะมีการฉีกแล้วเขียนใหม่อยู่ดี สำหรับการเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปฏิรูปประเทศนั้น สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เห็นว่าผู้เสนอร่างทราบดีอยู่แล้วว่าเสนอมารัฐสภาจะไม่ให้ผ่าน ฉะนั้น จึงเป็นการเสนอเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ร่างแก้ไขฉบับนี้ ท้าทายสังคมไทยอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์เปราะบางทางความคิด พรรคประชาธิปัตย์มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยหยิบร่างฉบับนี้พิจารณาด้วยเหตุผลไม่อคติ แต่ที่ตนกังวลคือ รัฐธรรมนูญมักถูกนำมาผูกโยงความขัดแย้งตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแท้จริงความขัดแย้งตลอด 7 ปี มีรากความขัดแย้งต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ท่านเสนอรูปแบบสภาเดี่ยวให้ตัดวุฒิสภาออก และให้มีกลไกเพิ่มอำนาจ ส.ส. ตนกังวลว่า จะเป็นการขยายอำนาจนิติบัญญัติ จนอาจกระทบดุลยภาพการตรวจสอบถ่วงดุลองค์อำนาจทั้ง 3 การตั้งคณะผู้ตรวจการอาจมีปัญหาได้ ที่ผ่านมา เวลาตรวจสอบระหว่างศาล กับสภาผู้แทนราษฎร จะเกี่ยวกับงบประมาณ การรายงานกฎหมาย และกองทัพ แต่เมื่อตั้งคณะผู้ตรวจการ ตนกังวลว่า คณะผู้ตรวจการกองทัพ ที่ให้มี ส.ส.10 คน จากฝ่ายค้าน 5 คน ฝ่ายรัฐบาล 5 คน โดยคัดเลือกกันเอง 2 คน ไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง จะเป็นการขยายอำนาจ ส.ส. อีกทั้งในร่างแก้ไขไม่มีการระบุเรื่องระบบตรวจสอบคณะผู้ตรวจการให้เห็นแต่อย่างใด

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนแผนปฏิรูปประเทศ เป็น 1 ในข้อเสนอของร่างแก้ไขที่ตรงกับความคิดตน เพราะขาดความยืดหยุ่นจริง การลบล้างผลพวงการปฏิวัติ รัฐประหาร ก็เป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่อยากให้ย้อนดูอดีตว่าการปฏิวัติ รัฐประหาร หลายครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะคนทำอยากทำเพียงอย่างเดียว แต่มีเหตุผลอื่นเกี่ยวเนื่องด้วย ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ตนสนับสนุนการทำรัฐประหาร แต่การลบล้างผลพวงแบบนี้ต้องนึกถึงความเป็นไปได้ และจะมีสถานะบังคับเช่นนั้นได้จริงหรือ

“หากยกเหตุการณ์แค่ช่วง 6-7 ปี มาเป็นตัวร่าง และบังคับใช้ เป็นเรื่องที่ท่านต้องคิดให้รอบคอบ ถ้ายกร่างจากอคติจะบดบังความมีเหตุผล ของการวางรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การตัดสินใจลงมติพรุ่งนี้ (17 พ.ย.) อย่าเพิ่งคาดหมายกล่าวหาด้วยอคติ ผมเชื่อดุลพินิจแต่ละฝ่าย พรรคประชาธิปัตย์รับฟังคำชี้แจงของท่าน ทุกคนมีเอกสิทธิ์ว่าจะโหวตอย่างไร สำหรับผู้เสนอเองหากร่างนี้ตกไป อยากให้ท่านได้พิจารณารับฟังกาาอภิปราย เพื่อนำไปปรับปรุงกันในอนาคต” นายสาทิตย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น