xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ตั้งสมญาร่าง รธน.“ไอติม” เป็นฉบับปฏิวัติ ยกอำนาจสภาเหนือกติกา ถามแขนเจ็บต้องตัดหัวทิ้งหรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.คำนูณ” ตั้งสมญาร่างฉบับ ปชช.เป็น “รธน.ฉบับปฏิวัติ” รวมศูนย์-บั่นทอน-ควบคุม ยกอำนาจให้สภาผู้แทนฯเหนือกติกา แทรกแซงทุกองค์กร ถามแค่แขนซ้ายเจ็บต้องตัดหัวทิ้งหรือ?

วันนี้ (16 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายแสดงความเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชน 1 แสนกว่ารายเข้าชื่อเสนอ ว่า ตนชื่นชมวิธีการร่างที่เสนอเข้ามา ที่สามารถนำเสนอแนวความคิดมาเป็นรูปธรรม แต่ขอให้สมญาว่า “ฉบับปฏิวัติ” เพราะ 1 รวมศูนย์ 2 บั่นทอน และ 4 ควบคุม คือ รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ออกแบบระบบเลือกตั้งแบบ รธน.60 ก่อนแก้ไข และเพิ่มบางมาตรการเสริมระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายค้าน เช่น ให้รองประธานสภาคนหนึ่ง เป็นฝ่ายค้าน ประธาน กมธ.สามัญชุดสำคัญต้องเป็นฝ่ายค้าน หรือเลิกระบบพระราชบัญญัติการเงิน

ส่วน 2 บั่นทอน คือ บั่นทอนความเป็นอิสระพิพากษาคดีของศาล และบั่นทอนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยศาลและองค์กรอิสระ ส่วน 4 ควบคุม คือ ควบคุมงบประมาณ ทั้งการตั้งงบและการใช้จ่ายงบ ควบคุมคน กำหนดโครงการศาล รธน. และองค์กรอิสระ กระบวนการเลือกบุคคลเข้าไปในตำแหน่ง ควบคุมคำวินิจฉัยและพิจารณา และควบคุมระบบการถอดถอน


นายคำนูณ ไล่เรียงตัวอย่างประเด็นที่มาของความบั่นทอน เช่น การห้ามศาลพิพากษาที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร และผลของการรัฐประหาร ห้ามศาล รธน.ดำเนินการใดๆ ขัดขวางการแก้ รธน. ให้อำนาจสภาสามารถอยู่เหนือกติกา (Over Rule) เช่น คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง กรณีไม่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แม้ผู้เสนอร่างจะมีการปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาเช่นนั้น เพียงแต่ให้ศึกษาและรายงานเท่านั้น แต่จะพบกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระว่าสิทธิริเริ่มมาจากประชาชน 2 หมื่นคน หรือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 4 และต้องผ่านมติของสภา 3 ใน 5 แล้วส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งถือว่าดี แต่ปัญหาคือ หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯวินิจฉัยยกคำร้อง ให้สภามีมติให้ถอดอนได้อีกครั้ง โดยใช้มติ 3 ใน 4 อย่างนี้เรียกว่า Over Rule หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการเซตซีโร่ศาล รธน.และองค์กรอิสระทั้งหมด แล้วให้สภาผู้แทนฯคัดเลือกทุกแห่ง โดยโครงสร้างจะมีสัดส่วนเสียงข้างมาก จากผู้ได้รับการเสนอชื่อจาก ส.ส. และเพิ่มบทบัญญัติถอดถอนประธานศาล รธน. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาล รธน. ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยสภาผู้แทนฯเป็นผู้ริเริ่มหรือประชาชนจำนวน 2 หมื่นคน โดยมีองค์คณะผู้พิจารณาถอดถอน 7 คน เป็นผู้ตัดสิน ที่มาจากคนนอกและสภาผู้แทนฯ และหากองค์คณะไม่ถอดถอนสภาผู้แทนฯ ยังสามารถหยิบมาพิจารณาถอดถอนได้อีกโดยใช้มติ 3 ใน 4


นายคำนูณ กล่าวว่า ที่สำคัญ มีการตัดประเด็นการกำหนดให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ รวมทั้งสิทธิในการยื่นขอแปรงบประมาณออกไป เป็นการคุมการเงินตั้งแต่ตั้งงบประมาณ ซึ่งมีการออกแบบระบบตรวจสอบควบคุมให้มีการถอดถอนประธาน 3 ศาล แต่ไม่เห็นมีประเด็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความพยายามบอกว่า ออกแบบระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยใช้ระบบสภา คือ ให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลในมาตรการต่างๆ คำถามคือ เพียงพอและเท่ากันหรือไม่ ระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล และผู้ถืออำนาจอธิปไตยที่อยู่ต่างองค์กร ด้านที่บั่นทอนเท่ากับด้านที่เพิ่มเติมหรือไม่

“ผมชื่นชมผู้เสนอร่างทั้งสองท่าน (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล) ท่านหนึ่งในฐานะคนหนุ่มไฟแรง อีกคนแม้ไม่เคยเสวนาส่วนตัว แต่ก็นับถือในฐานะนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ แม้บางประการอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็นับถือและเคารพ แม้วันนี้จะเบียงเบนไปมากจากที่มาของ ส.ว. แต่ก็ควรแก้ไขเฉพาะจุดนี้ได้หรือไม่ การแก้ไขชนิดที่ว่าแขนซ้ายเขาบาดเจ็บ ถึงกับต้องตัดศีรษะเขาเลยหรือครับ ท่านต้องย้อนกลับไปโดยใช้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลภายในสภา ให้สภาตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น มันเพียงพอหรือครับ”

“เรามุ่งแก้แต่รัฐประหาร โดยไม่มุ่งแก้ที่สาเหตุของรัฐประหารที่เกิดจากปัญหาการเมืองในสภา และพฤติกรรมของนักการเมืองในขณะนั้น บางครั้งก็รวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา การแก้ปัญหาในด้านเผด็จการทหาร หรือด้านผลพวงของรัฐประหาร โดยละเลยที่จะพูดถึงปัญหาทางการเมืองก่อนหน้านี้ สิ่งที่จะได้มาแทนคือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือ หรือจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกังวล และเชื่อว่า ส.ว.ทั้งหมดก็มีความกังวลและใคร่ครวญก่อนที่จะตัดสินใจโหวต” นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น