xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่..กษัตริย์อังกฤษมียศเป็นพลเอกกองทัพบกไทย! กลาโหมมีคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ลัทธิล่าอาณานิคมได้แผ่รัศมีเข้ามาถึงไทยในปลายรัชกาลที่ ๓ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยการเปิดประเทศ ยอมทำสัญญาเสียเปรียบหลายอย่างเพื่อรักษาประเทศให้รอด ในรัชกาลที่ ๕ มหาอำนาจตะวันตกยิ่งโหมกระหน่ำถึงขั้นนำเรือรบฝ่าป้อมปืนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงดำเนินวิเทโศบายด้วยการเสด็จไปยุโรป เพื่อให้โลกรู้ว่าสยามไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างที่นักล่าอาณานิคมอ้าง ทำให้เกิดกระแสในยุโรปจนสื่อมวลชนประณามฝรั่งเศสว่าทำกับสยามเหมือนหมาป่ากับลูกแกะ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงนำประเทศเข้าสู่เวทีโลก ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยทรงเลือกอยู่ข้างฝ่ายผู้ชนะ

ในการตัดสินพระทัยแสดงบทบาทสำคัญของประเทศครั้งนี้ หลังจากทรงติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดมาถึง ๓ ปีตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นในยุโรป ทั้งนี้จากการที่พระองค์ทรงถูกส่งไปศึกษาวิชาทหารที่อังกฤษตั้งแต่พระชนมายุ ๑๓ พรรษา หลังเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เพียงเดือนเศษ เมื่อจบจากโรงเรียนนายร้อยแซนเฮิร์ชได้ประดับยศร้อยตรี เข้าประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา ก็ได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” แทนเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระเชษฐาที่เสด็จสวรรคต และเมื่อผ่านการเป็นทหารประจำการแล้ว จึงทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ในวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย เพื่อเตรียมบริหารราชการบ้านเมือง

เมื่อถึงวาระขึ้นครองราชย์ พระสหายที่ร่วมศึกษาเหล่านี้ก็ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารราชการในยุโรปหลายประเทศ ซึ่งยังส่งข่าวคราวถึงกันเสมอ พระองค์จึงทรงล่วงรู้สถานการณ์ของสงครามเป็นอย่างดี จึงตัดสินพระทัยที่จะนำประเทศเข้าสู่เวทีโลกให้เทียมหน้าเทียมตามหาอำนาจทั้งหลาย ยืนเคียงข้างอยู่ในกลุ่มผู้ชนะ

เมื่อสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เป็นที่กล่าวขานกันมากในยุโรปและอเมริกา น.ส.พ.นิวยอร์ค เอาต์ลุก ฉบับวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ ได้ลงบทความเรื่อง “กรุงสยามและมหาสงคราม” มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ราชอาณาเขตประเทศสยามทั้งสองข้าง ทางตะวันออกติดต่อกับเมืองขึ้นฝรั่งเศส และประเทศราชของอังกฤษทางตะวันตก มีอยู่ในสมัยหนึ่งในอดีต ซึ่งคนสำคัญว่าประเทศสยามจะถูกบีบและกดอยู่ในที่ร้ายระหว่างขากรรไกรอันแข็งของฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่โดยบุญญาภินิหารอันมหัศจรรย์ ประเทศสยามหาได้ถูกย่ำยีไม่ ณ บัดนี้กาลได้มาบันดาลให้ผู้เป็นศัตรูแก่กันกลับเป็นมิตร และเป็นพันธมิตรร่วมสงครามปราบศัตรูและความทารุณโหดร้ายอันเป็นภัยสำหรับมนุษย์ทั่วไป...”

นอกจากทรงติดต่อกับพระสหายที่ร่วมศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดแล้ว ยังทรงมีพระราชหฤทัยผูกพันกับกรมทหารราบเบาเดอรัมเป็นอย่างมาก เมื่อตอนที่ประจำการอยู่ในกรมนี้ อังกฤษได้ไปทำสงครามที่อาฟริกา พระองค์ก็สมัครไปด้วย แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ยอมให้มกุฎราชกุมารสยามไปเสี่ยงเช่นนั้น

และในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทหารจากกรมนี้ก็เข้าสู่สมรภูมิ ต้องบาดเจ็บล้มตายและพิการเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่งไปช่วยเหลือครอบครัวของทหารเหล่านั้น ทำให้สื่อมวลชนตะวันตกลงข่าวเรื่องนี้อย่างเกรียวกราว และสดุดีไปถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ขณะประจำการเช่นเดียวกับทหารทั่วไปอยู่ในกรมทหารราบเบาเดอรัมด้วย

ข่าวนี้ทำให้คนอังกฤษประทับใจในพระราชหฤทัยของพระองค์ไปตามกัน รวมทั้งพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กษัตริย์ของอังกฤษ ทรงมีโทรเลขฉบับหนึ่งถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีข้อความว่า

กรุงลอนดอน
วันที่ ๒๒ กันยายน
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม
เพื่อเปนพยานแห่งความไมตรีของหม่อมฉัน และเพื่อเปนที่รฤกในการที่พระองค์ได้เกี่ยวข้องอยู่กับกองทัพบกอังกฤษ หม่อมฉันมีความปรารถนาขออัญเชิญให้พระองค์ทรงรับพระยศเปนนายพลเอกพิเศษ และแม้ต้องด้วยพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านแล้ว ก็ถวายอนุญาตให้ทรงเครื่องของกรมทหารราบเบาเดอรัมอันเปนเหล่าซึ่งพระองค์ได้เคยทรงบังคับบัญชามาแล้วนั้นด้วย
(พระบรมนามาภิธัย) ยอร์ช ป.ร.

เมื่อทอดพระเนตรพระราชโทรเลขของสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้มีพระราชโทรเลขตอบทันที มีข้อความว่า

กรุงเทพฯ
วันที่ ๒๓ กันยายน
สมเด็จพระเจ้ากรุงเกรตบริเตนและไอร์แลนด์
หม่อมฉันขอแสดงความรู้สึกอันลึกซึ้งจริงใจในการที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระราชอัธยาศัยไมตรีต่อหม่อมฉันอีกครั้งหนึ่ง คือการที่ได้ประทานยศนายพลเอกพิเศษในกองทัพบกของพระองค์ พร้อมด้วยพระราชานุญาตให้แต่งเครื่องยศของกรมทหารราบเบาดะรัม หม่อมฉันพอใจในเกียรติยศซึ่งพระองค์ประทานนี้ยิ่งนัก เพราะเปนเครื่องผูกพันในระหว่างหม่อมฉันกับกองทัพอันแกล้วกล้าของพระองค์ และกับกรมทหารซึ่งหม่อมฉันได้เคยประจำอยู่นั้นเปนพิเศษอีกขั้นหนึ่ง

เพื่อแสดงไมตรีจิตแห่งหม่อมฉัน ๆ ก็มีความปรารถนาที่จะขอเชิญให้พระองค์ทรงรับพระยศเปนนายพลเอกพิเศษในกองทัพบกของหม่อมฉัน

(พระบรมนามาภิธัย) วชิราวุธ ป.ร.”

หลังจากนั้นกระทรวงกลาโหมได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีความดังนี้

คำสั่ง
เรื่อง ตั้งนายพลเอก
ที่ ๑๓๙/๑๔๖๖ ศาลาว่าการกะลาโหมกรุงเทพฯ
วันที่ ๒๗ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๘
ด้วยพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษได้ทรงถวายยศนายพลเอกพิเศษในกองทัพบกอังกฤษ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับดำรงพระยศนายพลเอกพิเศษในกองทัพบกอังกฤษแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ได้ทรงถวายยศนายพลเอกตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกองทัพบกสยาม แด่สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงดำรงพระยศนี้แล้ว เพราะฉะนั้นให้เจ้าน่าที่ปฏิบัติการที่จะมีเกี่ยวข้องต่อไปนั้น ให้ต้องตามพระบรมราชโองการต่อไป
(ลงนาม) นายพลเอก เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต
เสนาบดีกระทรวงกะลาโหม

อีกทั้งทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบพระยาสุรินทราชา ข้าราชบริพารคนสนิท ที่ถวายรายงานเรื่องนี้ให้ทรงทราบ มีความว่า

พระยาสุรินทรา, สตูล
รับโทรเลขแล้ว ขอบใจ การที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษให้ยศนายพลเรา เห็นว่าเป็นเกียรติสำหรับชาติไทย เพราะชาวบูรพาทิศยังไม่มีใครเคยเป็นนายพลพิเศษในกองทัพยุโรป ฉะนั้นราคาไทยสูงขึ้นอีกแล้ว
วชิราวุธ ป.ร.

จากนั้นพระองค์ก็ทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบนายพลเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ ประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอังกฤษฉายพระรูปไว้

นอกจากจะพาประเทศสยามจะรอดพ้นจากกรรไกรอันแข็งแกร่งของฝรั่งเศสและอังกฤษมาได้แล้ว พระมหากษัตริย์ไทยยังทรงนำประเทศก้าวขึ้นสู่เวทีโลกอย่างสง่างามมาจนทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น