หลังจากอิดออดปฏิเสธคำเชิญของปธน.ไบเดนมาหลายรอบ (ที่จะประชุมสุดยอดแบบตัวเป็นๆ-in-person; คือ ปธน.สีไม่ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำ ทั้งที่ G20 และที่ COP26 โดยอ้างโรคระบาดโควิดบังหน้า) ในที่สุด (ก่อนจะสิ้นปีแรกที่ปธน.สหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่ง-ซึ่งมักมีธรรมเนียมการเดินทางไปเยือนจีน-และสำหรับผู้นำจีนปีแรกก็เช่นกัน) ปธน.สีก็ตอบรับคำเชิญของปธน.ไบเดน เพื่อพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นการประชุมกันผ่านหน้าจออยู่ดี โดยตกลงกันว่าจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม คือ ต่างคนต่างแถลง
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่เตรียมการประชุมออกมาให้ข่าวว่า จะมีหลายประเด็นที่จะสื่อสารกัน แต่จะไม่มีเรื่องการค้า (คือภาษีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงมาก ในการตอบโต้กันตั้งแต่ปธน.ทรัมป์ ได้ฟาดฟันจีนเอาไว้) และน่าจะมีเรื่องที่สหรัฐฯ กังวลคือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งในซินเจียง, ในฮ่องกง รวมทั้งความตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวัน และอาจจะมีจุดล่อแหลมที่ทะเลจีนใต้...และความร่วมมือด้านวิกฤตโลกร้อน, เรื่องโรคโควิดระบาด และเรื่องจำกัดอาวุธปรมาณู...ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ คาดว่า ปธน.สี จะใช้โอกาสการพบกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการนี้ เพื่อเชื้อเชิญปธน.ไบเดน มาร่วมในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือนกุมภาฯ ต้นปีหน้า
การประชุมเริ่มขึ้นในเวลา 19.45 น. (ตามเวลาที่วอชิงตัน ดี.ซี.) หรือ 9.45 น. (ตามเวลาที่ปักกิ่งของวันที่ 16 พ.ย.) โดยไบเดนใช้ห้องโรสเวลต์ที่ทำเนียบขาว ส่วนสีใช้ห้องใหญ่ของศาลาประชาคมอันโอ่อ่า
ทั้งสองทีมต่างออกมารายงานว่า บรรยากาศในการประชุมเป็นแบบฉันมิตร แต่ใช้เวลาประชุมยาวถึง 3 ชั่วโมง 45 นาที...ยาวกว่าที่คาดว่า น่าจะสักหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง (แน่นอนว่า ต้องมีการแปลภาษาจีนและอังกฤษ ซึ่งจะใช้เวลาในการแปลด้วย) ที่ปักกิ่งเกือบถึงบ่ายโมง จึงจบการประชุม และดึกถึงเกือบ 5 ทุ่มที่ดี.ซี.
ทั้งสองฝ่ายดูเตรียมตัวมาดีมาก เพื่อให้เป็นการประชุมที่จะนำไปสู่ความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ถึงจุดยืนและขอบเขตการปฏิบัติของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดยัง
เริ่มด้วยทั้งคู่โบกมือโบกไม้ยิ้มแย้มทักทายกัน (ช่างต่างกับการประชุมที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา ระหว่างรมต.ต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ที่เชือดเฉือนและไม่ไว้หน้ากันจนบรรยากาศดูตึงเครียด และจบลงด้วยการระงับการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน)
สื่อหลักๆ ของโลกรายงานว่า ปธน.สี กล่าวว่า “แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่ดีเท่าการได้ร่วมนั่งในห้องเดียวกัน ได้เห็นหน้าเห็นตากันแบบตัวเป็นๆ แต่ผมก็ยินดียิ่งที่ได้พบกับเพื่อน...เก่าอีกครั้ง”
คำว่า “เพื่อนเก่า” นี้ ภายหลังการประชุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไบเดนบางคนพยายามอธิบายว่า ไบเดนไม่ใช่เพื่อนของสี ซึ่งก็ตรงกับที่ไบเดนเคยพูดตอนหาเสียงขับเคี่ยวกับทรัมป์ว่า ไบเดนแค่ได้รู้จักกับสีเท่านั้น; แต่ไม่ใช่เพื่อนกัน เพราะบรรยากาศช่วงทรัมป์ฟาดงวงฟาดงากับจีนนั้น ทำให้ไบเดน (ที่เคยพูดเสมอว่า เขาเป็นผู้นำโลกที่รู้จักสีอย่างดี เพราะใช้เวลาอยู่กับสียาวนานกว่าผู้นำคนอื่นๆ และร่วมเดินทางไกลกับสีนับเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดกว่าผู้นำคนอื่นๆ) ต้องพยายามไม่แสดงตนว่าเป็นมิตรกับผู้นำจีน เพราะหัวโขนที่เขาต้องปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ นั้น ค้ำคอเขาอยู่
แต่ก็มีรายงานด้วยว่า ไบเดนได้ยกเอาคำพูดบางตอนที่สีเคยพูดกับไบเดน ในช่วงที่ทั้งคู่เดินทางไปเยือนรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ และมณฑลต่างๆ ของจีน ในขณะที่ทั้งคู่เป็นรองปธน. ซึ่งแสดงว่า ไบเดนได้จดบันทึกความคิดเห็นของสีต่อประเด็นต่างๆ แล้วได้งัดเอาออกมาเตือนความจำและสร้างความสนิทสนมในครั้งนี้
สียังได้ปูพื้นว่า เพื่อที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกันในยุคใหม่นี้ จะต้องมีกรอบ 3 อย่างคือ 1. เคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) 2. การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Peaceful Coexistence) หรือต่างคนต่างอยู่, ไม่เข้าแทรกแซงกัน และ 3. ต้องชนะทั้งสองฝ่าย (Win-Win) ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายเดียว และอีกฝ่ายต้องแพ้ราบคาบ
ส่วนไบเดนได้ย้ำว่า “เป็นความรับผิดชอบในฐานะผู้นำของทั้งจีนและสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การแข่งขันกันระหว่างสองประเทศของเรา จะไม่นำไปสู่การพิพาท” (เล่นคำ Competition กับ Conflict ที่ขึ้นต้นด้วยตัว “C” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ (เกิดจากอุบัติเหตุ) ก็ตาม
ซึ่งสี ก็ได้เปรียบเปรย 2 ประเทศ-สหรัฐฯ และจีน-เสมือนเรือลำใหญ่ 2 ลำ ที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน โดยต้องไม่ชนกันนั่นเอง
เนื้อหาส่วนใหญ่มีเรื่องความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตอกย้ำว่ามีนโยบายรับรองจีนเดียว แต่ก็ผูกพันกับสัญญา 1992 ที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมปกป้องไต้หวันเมื่อถูกรุกราน-แต่ภายหลังการประชุมแล้ว ไบเดนได้ออกมาขยายความว่า สหรัฐฯ มีนโยบายรักษาสถานภาพปัจจุบัน (Status quo) คือ ไม่ใช่ยุยงให้ไต้หวันประกาศเอกราช! แต่จะช่วยปกป้องไต้หวันเมื่อถูกรุกรานเท่านั้น ซึ่งจีนก็ได้เตือนว่า สหรัฐฯ อย่าเล่นกับไฟในเรื่องไต้หวัน เพราะจีนจะไม่ยอมให้ไต้หวันประกาศเอกราชแน่นอน และได้พร่ำพูดในทุกๆ เวทีว่า เป็นปัญหาภายในของจีนคือ ไต้หวัน, ซินเจียง, ฮ่องกง, ทิเบต ซึ่งประเทศอื่นจะมาแทรกแซงการเมืองภายในของจีนไม่ได้; เพราะจีนไม่เคยเข้าไปยุยงปลุกปั่นในประเด็นภายในของประเทศอื่นๆ
ไม่มีการพูดถึงจุดร้อนๆ อีกแห่งคือ ทะเลจีนใต้, แต่พูดถึงเรื่องเกาหลีเหนือ, อัฟกานิสถาน และอิหร่าน โดยปธน.สีย้ำบทบาทของยูเอ็น และมองว่า กิจกรรมร่วมแบบพหุภาคีใดๆ ที่ไม่มีส่วนร่วมมือของสหรัฐฯ และจีน จะไม่มีทางจบลงอย่างสมบูรณ์ได้
มีการแตะเรื่องเศรษฐกิจการค้าด้วย โดยไบเดนได้เน้นเตือนให้จีนปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ลงนามไว้ (ปลายสมัยทรัมป์) ที่เป็นขั้นตอนที่หนึ่ง (ที่จีนจะยอมซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่าถึง 2 แสนล้านเหรียญ) เพราะจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากมาย
ไม่มีคำเชิญจากสีต่อไบเดนในงานเปิด-ปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง
โดยภาพรวม เป็นการประชุมที่พยายามนำไปสู่การสื่อสารกันให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันการเผชิญหน้าหรือก่อสงครามกันนั่นเอง โดยทั้งสองฝ่ายต่างแสดงจุดยืนและกรอบการปฏิบัติของตน ซึ่งในสิ่งที่จะร่วมมือกันได้ ก็จะเดินหน้าทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น วิกฤตโลกร้อน, เรื่องโรคระบาด และยอมรับในความแตกต่างหลายๆ อย่างที่ต้องเคารพในความแตกต่างนั้นด้วย