เอเจนซีส์ – ซัมมิตจีน-อเมริกาตึงเครียดตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการ หลังบลิงเคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกดดันของปักกิ่งต่อไทเป และถูกรัฐมนตรีต่างประเทศจีนตอกกลับว่า การแสดงท่าทีที่ดูเหมือนสนับสนุนการประกาศเอกราชของดินแดนมังกรน้อยอาจกลายเป็นบูมเมอแรง และบ่อนทำลายสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน
การประชุมเสมือนระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมีขึ้นในวันจันทร์ (15 พ.ย.) ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในประเด็นไต้หวันที่จีนอ้างว่า เป็นมณฑลของตน ตลอดจนถึงประเด็นการค้า สิทธิมนุษยชน และอีกมากมาย
ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ (12 พ.ย.) เพื่อจัดเตรียมการประชุมสุดยอด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา กล่าวกับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เกี่ยวกับความกังวลที่ปักกิ่งกดดันทางทหาร การทูต และเศรษฐกิจต่อไต้หวัน
ด้านหวังเตือนอันตรายจากการกระทำของอเมริกาที่อาจดูเหมือนเป็นการสนับสนุน “การประกาศเอกราช” ของไต้หวัน
ทั้งนี้ วอชิงตันยกเลิกการให้การยอมรับทางการทูตต่อไทเปและเปลี่ยนเป็นยอมรับปักกิ่งแทนในปี 1979 แต่ในปีเดียวกันนั้นรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้อเมริกาต้องจัดหาอาวุธเพื่อให้ไต้หวันสามารถป้องกันตนเองได้
อเมริการะมัดระวังท่าทีในการยอมรับไต้หวัน ทว่า คองเกรสส์ให้การสนับสนุนไทเปอย่างท่วมท้นด้วยการส่งสมาชิกรัฐสภาไปเยือนดินแดนมังกรน้อยในเดือนนี้ สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อปักกิ่ง
หวังเตือนบลิงเคนว่า การส่งสัญญาณและการสนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวันบ่อนทำลายสันติภาพในช่องแคบไต้หวันและสุดท้ายจะกลายเป็นบูมเมอแรง
ช่วงหลายปีมานี้ จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารใกล้ไต้หวัน โดยมีการส่งเครื่องบินเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันจำนวนสูงสุดทำสถิติเมื่อต้นเดือนตุลาคม
ด้านวอชิงตันส่งสัญญาณตอกย้ำว่า จะสนับสนุนไทเปที่เผชิญกับสิ่งที่อเมริการะบุว่า เป็นการแสดงความก้าวร้าวของจีน
ขณะเดียวกัน ไบเดนเลือกสานต่อแนวทางแข็งกร้าวต่อจีนหลายอย่างตามคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยคณะบริหารทั้งสองชุดต่างมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21
และแม้สองประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกเปิดเผยข้อตกลงสุดเซอร์ไพรส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการร่วมมือกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่า ปักกิ่งและวอชิงตันยืนกรานว่า จะไม่ยอมอ่อนข้อในประเด็นร้อนอื่นๆ
เจ้าหน้าที่อเมริกันมองว่า การประชุมสุดยอดในวันจันทร์เป็นโอกาส “จัดการการแข่งขันอย่างมีความรับผิดชอบ” ควบคู่กับการพยายามร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศเห็นพ้อง
สัปดาห์ที่แล้ว สีเตือนเอเชีย-แปซิฟิกไม่ให้ฟื้นสถานการณ์ตึงเครียดแบบสงครามเย็นในอดีต ทั้งนี้ นับจากที่เข้ารับตำแหน่ง ไบเดนหารือทางโทรศัพท์กับสีมาแล้ว 2 ครั้ง และทั้งคู่ยังเคยพบกันสมัยที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และสีเป็นรองประธานาธิบดีภายใต้ยุค หู จิ่นเทา
ประมุขทำเนียบขาวคาดหวังพบกับผู้นำแดนมังกรในการประชุมสุดยอดจี20 เมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงโรม อิตาลี ทว่า สีไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และตกลงประชุมเสมือนกันแทนภายในปลายปีนี้