xs
xsm
sm
md
lg

สีจิ้นผิงเล็งแนะไบเดน‘ถอย’ประเด็นไต้หวัน มุ่งหารือเป็นเรื่องท็อปสุดของ‘ซัมมิตเสมือนจริง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) สี จิ้นผิง และ โจ ไบเดน เมื่อครั้งที่ต่างยังเป็นรองประธานาธิบดี ถือเสื้อยืดที่พวกนักศึกษามอบให้พวกเขา ขณะไปเยือนศูนย์เรียนรู้การระหว่างประเทศศึกษา ในรัฐแคลิฟอรเนีย, สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2012  ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองกำหนดประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงกันในตอนเช้าวันอังคาร ตามเวลาในปักกิ่ง  ซึ่งตรงกับคืนวันจันทร์ ตามเวลาในวอชิงตัน
สื่อของทางการจีนคาด สี จิ้นผิง จะใช้โอกาสประชุมซัมมิต จัดในแบบเสมือนจริงครั้งแรกกับ โจ ไบเดน ในคืนวันจันทร์ (15 พ.ย.) ตามเวลาวอชิงตัน ซึ่งตรงกับเช้าวันอังคาร (16) เวลาปักกิ่ง เพื่อเตือนผู้นำสหรัฐฯ ให้ “ถอย” ในประเด็นไต้หวัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอ่านเกมว่า ที่ประมุขแดนมังกรตั้งใจหยิบยกเฉพาะประเด็นนี้ทั้งที่มีกรณีขัดแย้งมากมาย เพราะไม่ต้องการถูกดึงเข้าสู่การเผชิญหน้าทางทหารกับวอชิงตันโดยไม่จำเป็น ในเวลาที่แผนการปรับปรุงยกระดับกองทัพของตนยังไม่ทันเสร็จสิ้น อีกทั้งไม่มั่นใจ สามารถเอาชนะกองทัพอเมริกันได้ในขณะนี้

ประธานาธิบดีสีและประธานาธิบดีไบเดน กำหนดประชุมสุดยอดกันแบบเสมือนจริงครั้งนี้ ขณะที่สองมหาอำนาจเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดในประเด็นมากมายตั้งแต่การค้า เทคโนโลยี ซินเจียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวัน ที่จีนถือเป็นดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของตน

ไชน่า เดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน กล่าวในบทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์ว่า มีแนวโน้มที่ สี จะยืนยันกับ ไบเดน ว่า ปักกิ่งตัดสินใจแล้วว่า จะต้องนำเอาไต้หวันกลับมารวมเพื่อให้ชาติเป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม

สื่อของทางการ อาทิ ไชน่า เดลี่นั้น ได้รับการบรรยายสรุปสถานการณ์สำคัญต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์กับอเมริกา จากพวกเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงมักสะท้อนเป้าหมายสำคัญของผู้นำจีนได้อย่างแม่นยำ

ทางด้าน โกลบอลไทมส์ แท็บลอยด์แนวชาตินิยมที่ตีพิมพ์โดย เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ระบุในบทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์ว่า ประเด็นไต้หวันคือขีดจำกัดที่ไม่มีการถอยของจีน และเพื่อลดความเสี่ยงในการปะทะเชิงยุทธศาสตร์ อเมริกาควรถอยออกไปจากประเด็นนี้และแสดงความอดกลั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (12) ตามเวลาในปักกิ่ง หรือ คืนวันศุกร์ (12) ตามเวลาในวอชิงตัน ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เพื่อเตรียมการให้แก่การประชุมสุดยอดคราวนี้ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เตือนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า ไม่ควรส่งสัญญาณผิดๆ ในการสนับสนุนกองกำลังที่ต้องการให้ไต้หวันประกาศเอกราช

ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า การที่จีนเน้นเฉพาะประเด็นไต้หวันทั้งที่มีกรณีขัดแย้งอื่นๆ มากมายสะท้อนว่า ปักกิ่งลังเลที่จะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารกับวอชิงตันโดยไม่จำเป็น แม้ประกาศและดำเนินการหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการส่งเครื่องบินทหารจำนวนมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รุกเข้าเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน

หลี่ หมิงเจียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของ วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ ชี้ว่า ผู้นำจีนตระหนักว่า ภารกิจในการปรับปรุงกองทัพของตนให้ทันสมัยยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อีกทั้งขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศยังเผชิญความท้าทายมากมาย และสงครามอาจทำให้แผนการปรับปรุงกองทัพสะดุด นอกจากนั้น ปักกิ่งยังไม่มั่นใจว่า สามารถเอาชนะกองทัพอเมริกันได้ในขณะนี้

(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จับมือกับ โจ ไบเดน ที่เวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง วันที่ 4 ธันวาคม 2013
สำหรับอเมริกานั้นดูเหมือนไม่คาดหวังว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมีผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงใดๆ และไม่คาดว่า จะมีการประกาศข่าวสำคัญหรือการออกแถลงการณ์ร่วมกับจีน

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันศุกร์ (12) ว่า วอชิงตันมองว่า การพบกันครั้งนี้เป็นวิธีหาทางกำหนดกรอบเงื่อนไขสำหรับการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ และสำทับว่า การแข่งขันอย่างเข้มข้นในความสัมพันธ์อเมริกา-จีนนั้นต้องการการทูตที่เข้มข้นเช่นเดียวกัน โดยไบเดนจะเอ่ยถึงประเด็นที่กังวลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งรวมถึงที่มาของไวรัสโคโรนา

ไบเดนแสดงจุดยืนชัดเจนว่า จีนเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดทั้งด้านความมั่นคงแห่งชาติและเศรษฐกิจ และพยายามร่างกรอบนโยบายการต่างประเทศใหม่ที่สะท้อนความเชื่อนี้

คณะบริหารของไบเดนกดดันจีนทั้งกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยในซินเจียง การปราบปรามความพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการขัดขวางการกดดันจากทั่วโลกให้จีนร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อสืบหาต้นตอของโควิด-19

วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (11) ไบเดนลงนามกฎหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้บริษัท อาทิ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน ได้รับใบอนุญาตอุปกรณ์ใหม่ๆ จากผู้คุมกฎสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความพยายามล่าสุดของวอชิงตันในการจัดการบริษัทเทคโนโลยีจีน

วันเดียวกันนั้น สีเตือนว่า เอเชีย-แปซิฟิกไม่สามารถและไม่ควรถลำเข้าสู่การเผชิญหน้าและความแตกแยกแบบยุคสงครามเย็น และสำทับว่า ความพยายามในการขีดเส้นแบ่งทางอุดมการณ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเล็กๆ โดยอิงกับภูมิรัฐศาสตร์จะเผชิญกับความล้มเหลว ทั้งนี้เรื่องหลังนี้ เห็นชัดว่า สี มุ่งพาดพิงถึงการที่สหรัฐฯผลักดันก่อตั้ง กลุ่มออคัส และกลุ่มคว็อด

และแม้ไบเดนประกาศว่า จะยึดมั่นนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งหมายถึงการยอมรับจีน แต่ขณะเดียวกันก็เปิดรับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการและความสัมพันธ์ทางทหารกับไต้หวัน

เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของไบเดนบางคนคาดว่า การที่ปักกิ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงต้นปีหน้า รวมทั้งการที่พรรคคอมมิวนิสต์มีแผนอนุมัติให้สีเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ต่ออีก 5 ปีในการประชุมสมัชชาพรรคเดือนตุลาคมปีหน้า ทำให้มีเหตุผลอย่างมากที่ผู้นำจีนจะต้องการความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับอเมริกาในระยะสั้น

ขณะเดียวกัน ไบเดนที่คะแนนนิยมในประเทศกำลังดิ่งลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่จบ ภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ก็กำลังหาวิธีใช้นโยบายการต่างประเทศ เพื่อผ่อนคลายความลำบากเหล่านี้

ไบเดนนั้นต้องการพบกับ สี แบบเห็นหน้าค่าตากันจริงๆ แต่ผู้นำจีนนั้นงดเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด และมีการเสนอการประชุมแบบเสมือนจริง หลังจากประมุขทำเนียบขาวเกริ่นว่า ต้องการพบกับ สี ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

(ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น