ขณะนี้ กลุ่มนักรบตอลิบานกำลังจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะพยายามนำกลุ่มต่างๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยสามารถยึดเมืองคาบูลกลับมาได้ทั้งหมดเพียง 15 วัน หลังบุกเข้าเมืองคาบูล...นั่นคือ หลังกองทัพอเมริกันและพันธมิตร ถอนออกหมดในเวลาเที่ยงคืนก่อนเส้นตายวันที่ 31 สิงหาคม
ทั้งโลกงงงวยต่อความรวดเร็วที่กองกำลังตอลิบานสามารถบุกรุกคืบยึดเมืองต่างๆ ในอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่ทำเนียบขาวดูจะวางใจว่า กองกำลังตอลิบานมีน้อยกว่ากองทัพอัฟกานิสถานถึง 4 เท่า และยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และด้วยปริมาณที่เทียบไม่ติดกับกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ที่ทั้งสภาของสหรัฐฯ นำโดยงบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ได้ทุ่มเทลำเลียงไปทั้งฝึกปรือให้แก่กองทัพอัฟกานิสถานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
แม้แต่ ปธน.ไบเดน และรมต.ต่างประเทศ บลิงเคน ต่างออกมายอมรับว่า คาดไม่ถึงที่กองกำลังแห่งชาติอัฟกานิสถาน จะทั้งหนีทัพและยอมศิโรราบให้แก่กองกำลังตอลิบานอย่างรวดเร็วขนาดนั้น...เดิม...ทำเนียบขาวประเมินว่า การถอนทัพทหารอเมริกันออก ณ 31 สิงหาคม ก็จะยังมีเวลาอีกยาวนาน ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนที่กองทัพอัฟกานิสถานจะสามารถยันกองกำลังตอลิบานเอาไว้ได้ เพราะมีจำนวนทหารประจำการถึง 3 แสนคน (เทียบกับตอลิบานมีแค่สูงสุด 7 หมื่น 5 พันคน) และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมากกว่า
ต่อมามีการปรับประมาณการของทำเนียบขาวหลังตอลิบานยึดเมืองเอกกันดาฮาร์ (เป็นเมืองที่ตอลิบานได้ก่อตั้งกลุ่มของตน...ในการต่อต้านกองทัพโซเวียตในอดีต)...ว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ก่อนที่ตอลิบานจะบุกยึดเมืองคาบูล (เมืองหลวง) ได้
ซึ่งทางสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตร (นำโดยอังกฤษและประเทศสมาชิกนาโต) น่าจะมีเวลาพอเพียงต่อการทยอยลำเลียงประชาชนของตน และเหล่าชาวอัฟกัน (และครอบครัว) ที่ได้ทำงานรับใช้กองทัพพันธมิตรมานานถึง 20 ปี...เพื่ออพยพออกจากคาบูลได้ทัน
ปรากฏว่า ตอลิบานเข้าถึงใจกลางเมืองคาบูลได้ภายใน 3 วัน (จากยึดกันดาฮาร์) ในเย็นวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม และทำให้สหรัฐฯ ตาลีตาเหลือก ต้องรีบจัดแผนเร่งด่วนในการอพยพพลเมืองของตนออกให้ทันเส้นตายใหม่คือ 31 สิงหาคม
ทำเอาคำแถลงแรกที่ ปธน.ไบเดน ได้พูดกับประชาชนอเมริกัน คือ อเมริกาจะถอนจากอัฟกานิสถานภายใน 31 สิงหาคม เพราะภารกิจของสหรัฐฯ ไม่ใช่ไปจมปลัก...ทุ่มเทสร้างชาติให้กับชาติที่กองทัพของชาติตัวเอง ยังไม่ยอมลุกขึ้นมาสู้กับระบอบที่ตนเองไม่เห็นด้วย
เขาพูดถึงบ้านเมืองอัฟกันที่มีการคอร์รัปชันสูงมาก และได้มีการวิเคราะห์คล้อยไปทางเดียวกันว่า กองทัพแห่งชาติอัฟกันนั้น น่าจะมีการตกแต่งตัวเลขจำนวนทหารและจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ นั่นคือ มี “ทหารผี” อยู่จำนวนมาก เพราะงบทหารที่ผ่านสภาอเมริกันเพื่อสร้างกองทัพแห่งชาติอัฟกันนั้น เป็นงบก้อนโตมหาศาล ที่ได้ทุ่มให้ต่อเนื่องจากก้อนแรกๆ ที่กองทัพสหรัฐฯ ร่วมกับกองทัพนาโตได้บุกเข้าไปเพื่อทำลายล้างกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ร่วมต่อสู้กับกลุ่มตอลิบาน (ในการขับไล่กองทัพโซเวียต)
ปธน.ไบเดน และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็เพิ่งถึงบางอ้อ...ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมกองทัพอัฟกันถึงอ่อนปวกเปียก และยอมแพ้ (หนีทัพ) แต่เนิ่นๆ เพราะไม่เพียงจิตใจที่ไม่แข็งแกร่งเด็ดเดี่ยวเท่านักรบตอลิบาน แต่เพราะรู้ความจริงว่า กองทัพตนเองมีแต่ “โพรง”...ไม่มีกำลังรบที่แท้จริงนั่นเอง!
เหตุการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นในยุคที่สหรัฐฯ แพ้สงครามเวียดนามเช่นเดียวกัน
ทั้งรัฐบาลหุ่นที่คาบูล ก็ไม่ต่างกับรัฐบาลหุ่นที่ไซ่ง่อน ซึ่งมีการคอร์รัปชันสูงมาก เนื่องจากสภาสหรัฐฯ ยอมผ่านงบก้อนมหึมา เพื่อทั้งส่งจีไอและอาวุธทันสมัยมากมายเข้ามารบต่อสู้กับพวกเวียดกง เพื่อต่อสู้กับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายอิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คำสารภาพของนายพลเหงียน เกากี ถึงการคอร์รัปชันในกองทัพ เพื่อดูดเงินจากสหรัฐฯ ที่เขาบอกว่า มีอยู่เกลื่อนกลาด ทั้ง “ทหารผี” ที่นำชื่อทหารที่ตายแล้ว และที่ไม่มีตัวตน กลายมาเป็นนักรบในกองทัพเพื่อเบิกงบจากสหรัฐฯ รวมทั้งการซ่อมบำรุงที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อเบิกงบ...และนายพลเหงียน เกากี ก็เลยต้องทำตามน้ำไปด้วย
สำหรับทหารผู้น้อยที่อัฟกานิสถาน มีการสะท้อนที่พวกเขา (ที่เพิ่งได้เกณฑ์เข้ามา) ไม่ได้รับเงินเดือนเต็มที่ แต่มีการค้างจ่ายมากมายหรือรับจำนวนที่ถูกหักจากเจ้านาย เป็นต้น
ด้านข้อมูลที่บิดเบือน อันนำไปสู่แผนอพยพพลเมือง และกองทัพสหรัฐฯ ออกจากทั้งไซ่ง่อน และคาบูล ทำให้สหรัฐฯ ต้องเสียหน้าถึง 2 ครั้ง 2 ครา ส่งผลต่อความเป็นผู้นำของเหล่าประเทศเสรีนั่นเอง
เปิดทางให้จีนมีช่องโจมตีว่า สหรัฐฯ ทิ้งพันธมิตร คือ ต้องรีบกุลีกุจอออกจากคาบูล (เพราะมีเวลาน้อยลงกว่าคาดเดิมในการอพยพกองทัพออกมา) และไม่สามารถช่วยอพยพชาวอัฟกันที่ทำงานรับใช้กองทัพสหรัฐฯ...จีนถึงขนาดเตือนไต้หวันว่า จะโดนแบบอัฟกานิสถานคือ เมื่อสหรัฐฯ จวนตัว จะถอนออกกะทันหันทันที
การบิดเบือนข้อมูลครั้งสำคัญ ยังได้เกิดขึ้นกับการประกาศกลุ่มอักษะในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นได้ประกาศร่วมวงศ์ไพบูลย์กับเยอรมนีและอิตาลีในปี 1940
ซึ่งในปี 2020 (ปีที่แล้ว) เป็นปีที่ครบรอบ 80 ปีของสนธิสัญญานั้น และทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น (NHK) ได้จัดทำสารคดีสำคัญ...ออกอากาศเมื่อ 28 สิงหาคมนี้เอง
สารคดีนี้ได้เผยถึงการบิดเบือนข้อมูลถึงการรุกคืบ (ของกองทัพนาซี และของมุโสลินี) ที่แผ่ไปทั้งในยุโรปและแอฟริกา โดยมีทูตญี่ปุ่นคนสำคัญคือ อดีตพลโทฮิโรชิ โอชิมะ (Hiroshi Oshima) ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเบอร์ลิน ตั้งแต่ช่วงที่ฮิตเลอร์เพิ่งเข้ามามีอิทธิพลในเยอรมนี (ปี 1939) จนถึงปลายสงคราม (ในปี 1945)
เขาเป็นลูกของนายพลอาวุโสซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเป็นซามูไรอันทรงเกียรติ และเก่งกล้า ได้ผ่านการศึกษาช่วงวัยเยาว์ในประเทศเยอรมนี พูดเยอรมันได้คล่องแคล่ว และศรัทธาในระบอบนาซีเสียยิ่งกว่านาซีตัวจริงเสียอีก
จบจากโรงเรียนการทหารของญี่ปุ่น ได้ออกรบในกองทัพญี่ปุ่นที่ครอบคลุมแมนจูเรียของจีน จนมีตำแหน่งถึงพลโทในกองทัพจักรพรรดิ
เนื่องจากเบอร์ลินเป็นจุดศูนย์กลางใหญ่ของกองทัพนาซี ทำให้เขามีตำแหน่งใหญ่มากกว่าทูตญี่ปุ่นประจำประเทศอื่นๆ ในยุโรป และช่วงที่กองทัพนาซีเริ่มแพ้โซเวียตอย่างหมดรูป เขาได้เรียกประชุมเหล่าทูตญี่ปุ่นทั่วยุโรป เพื่อประเมินสถานการณ์ ปรากฏว่ามีทูตญี่ปุ่นประจำฮังการี ที่อาจหาญเสนอข้อมูลที่แท้จริงว่า หลังจากได้สอบถามจากส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ, ทหาร และประชาชน ทูตประจำฮังการีประเมินว่า กองทัพนาซีกำลังพ่ายแพ้ และต้องการให้รัฐบาลที่โตเกียวได้รู้สถานการณ์ที่แท้จริง (เผื่อกลับตัวทัน)
ทูตฮิโรชิไม่พอใจมาก และได้บีบให้ทูตประจำฮังการีเขียนจดหมายขอเดินทางกลับโตเกียว เพราะถ้าไม่ยอมเขียนหนังสือขอย้ายตัวเองกลับญี่ปุ่น ทูตฮิโรชิ ก็น่าจะหาทางให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกตัวกลับให้ได้
ร่างจดหมายที่เขียนโดยทูตประจำฮังการีนี้ ฝ่ายหลานสาวของท่านได้เก็บรักษาไว้ โดยมีรอยหยดน้ำตาของท่านบนจดหมาย ทำให้หมึกมีรอยด่าง และฝ่ายนักวิชาการ+นักประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ว่า ทูตประจำฮังการีโดนปิดปาก เพื่อมิให้ข้อมูลสถานการณ์ของสงครามที่นาซีเริ่มพ่ายแพ้ เป็นข้อมูลที่โตเกียวจะพึงรู้
นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Keio (เป็นมหาวิทยาลัยชั้นระดับฮาร์วาร์ด) ได้วิเคราะห์ถึงรายงานการประเมินสภาวะเศรษฐกิจที่ได้จัดทำให้ในช่วงต้นสงครามว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนาซีมีความแข็งแกร่งสู้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และอังกฤษไม่ได้
รายงานทางนักวิชาการสมัยนั้นก็ไม่ถูกเผยแพร่ เพราะอาจทำให้ญี่ปุ่นไม่ประกาศเข้าร่วมกับกลุ่มอักษะ เมื่อเห็นว่ากำลังด้านเศรษฐกิจของฝ่ายอักษะจะสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้
ขณะนี้คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เก็บรวบรวมรายงานเหล่านั้นเอาไว้อย่างดี
ซึ่งกลุ่มที่ทำรายงานประเมิน (ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง) กำลังของฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตรในหลายๆ ด้าน (ส่วนใหญ่เป็นแง่เศรษฐกิจ) เป็นกลุ่มที่มีชื่อว่า (อากิมารู) โดยเป็นชื่อของหัวหน้าทีมคือ พันโทจิโร่ อากิมารู (Jiro Akimaru)
ในรายงานนี้ ประเมินจากข้อเท็จจริงว่า สหรัฐฯ+อังกฤษ มีกำลัง (ทางเศรษฐกิจและด้านการทหาร) มากกว่าฝ่ายอักษะ (เยอรมนี+อิตาลี-ก่อนญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วม) ถึง 20 เท่า แต่ถูกฝ่ายเหยี่ยวที่ศรัทธาในนาซี พยายามปกปิดข้อมูลนี้ไว้
ถ้าวันนั้นญี่ปุ่นไม่โจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ก่อสงครามในเอเชียมหาบูรพา ชาวญี่ปุ่นจำนวนเป็นล้านก็คงไม่ต้องตายด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูก และต้องยากลำบากมากช่วงหลังสงคราม
และเพราะมีการบิดเบือนข้อมูลอย่างใหญ่ ทำให้อเมริกาแพ้ที่ไซ่ง่อนและที่คาบูล