xs
xsm
sm
md
lg

ตอลิบานฮึกเหิมกับชัยชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



กองกำลังตอลิบานฉลองชัยชนะต่อสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก หลังจากทำสงครามยาวนานกว่า 20 ปี นานกว่าสงครามเวียดนามซึ่งสหรัฐฯ พ่ายแพ้ยับเยิน จบคล้ายกัน คือการเร่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูต พลเมืองอเมริกันและผู้เคยร่วมงานด้วย

นักรบตอลิบานได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมากมายที่ถูกทิ้งไว้โดยกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งแต่เดิมหวังว่ากองทัพอัฟกานิสถานจะได้ใช้ต่อสู้กับกองทัพตอลิบาน ภาพที่น่าจะสร้างความเจ็บปวดให้ผู้นำสหรัฐฯ ก็คือทหารตอลิบานอยู่ในเครื่องแบบชุดรบของทหารอเมริกัน

ถือว่าเป็นชัยชนะเด็ดขาด เมื่อกองกำลังตอลิบานได้เข้าพื้นที่สนามบินคาบูล ควบคุมเบ็ดเสร็จ พร้อมเข้ายึดอุปกรณ์และเครื่องบินที่ถูกทิ้งไว้ โดยส่วนหนึ่งนั้นมีอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับการรบ แต่สหรัฐฯ อ้างว่าได้ถูกทำลายจนใช้การ หรือซ่อมแซมไม่ได้

ความเจ็บปวดจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ราคาแพง อย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ผลร้ายทางการเมืองในสายตาประชาคมโลกนั้นมหาศาล ในความน่าไว้ใจในความเป็นมิตรแท้ ร่วมเป็นร่วมตายแท้จริง ไม่ทอดทิ้งเพื่อนเมื่อมองว่าไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

อัฟกานิสถานไม่มีทรัพยากรมาก หรือมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ หรือผลประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ทั้งอ้างว่าภารกิจเดิมคือการไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ พร้อมกับการสังหารผู้นำ บิน ลาเดน ก็ประสบความสำเร็จแล้ว

การอ้างความสำเร็จถูกมองว่าเป็นการแก้เกี้ยว โดยผู้นำทำเนียบขาวอ้างว่าจะไม่ยอมผลักภาระสงครามไปให้ประธานาธิบดีคนต่อไป ดังนั้น ต้องให้สิ้นสุดในยุคตนเอง

สหรัฐฯ รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่มีทางที่จะชนะสงครามได้ ก่อนหน้านั้นรัสเซียได้พยายามอย่างเดียวกัน ต้องสูญเสียมหาศาล ทหารเสียชีวิตหลายหมื่นคน งบประมาณ ยุทโธปกรณ์มากมายเช่นกัน ในช่วงการสู้รบยาวนาน 10 ปี ต้องจากไปอย่างบอบช้ำ

แต่จะให้ทำอย่างไรได้ เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ก่อนกองทัพสหรัฐฯ จะขนผู้อพยพออกนอกประเทศภายใต้เส้นตาย 31 สิงหาคม แทบไม่มีทางเลือกสำหรับต่อรองโดยสหรัฐฯ เว้นแต่ขอความร่วมมือให้กองกำลังตอลิบานทำหน้าที่อารักขานอกสนามบิน

หลังจากกองทัพสหรัฐฯ เดินทางออกด้วยเที่ยวบินสุดท้าย บนเครื่อง C-17 มีพลตรีคริส โดนาฮิว และเจ้าหน้าที่สถานทูตอันดับ 2 รอส วิลสัน ก็ถือว่าเป็นการปิดเกมสงครามในประเทศซึ่งอยู่ในระดับยากจน แต่ยังไม่ปิดฉากด้านความสัมพันธ์

ทั้งนี้ยังมีคนอเมริกันตกค้างอยู่ระหว่าง 100-200 คน ที่ยังต้องรอด้วยใจระทึกว่าชีวิตอยู่ในอัฟกานิสถานจะอยู่ในสภาพอย่างไร แต่ยังไม่น่าห่วงมากนัก เพราะตอลิบานยังต้องการคบหากับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก เพื่อการฟื้นฟูพัฒนาประเทศต่อไป

ที่สำคัญคือการยอมรับโดยประชาคมโลก และการรับรองโดยสหประชาชาติ

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร เพราะต้องดูท่าที แนวทางนโยบายว่ารัฐบาลตอลิบานจะเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ ตามหลักของอิสลามในการปกครองประเทศมากน้อยเพียงใด สัญญาณเบื้องต้นส่อเค้าไม่สู้ดี

สหรัฐฯ ไม่สามารถขนคนอัฟกันหลายหมื่นคนที่เคยทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ช่วง 20 ปี ให้ไปลี้ภัยในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพราะไม่มีเวลาเพียงพอ เมื่อกรุงคาบูลตกอยู่ในความยึดครองของกลุ่มตอลิบานเร็วเกินคาด แทบจะทำลายเอกสารในสถานทูตไม่ทัน

ชะตากรรมของคนอัฟกันหลายหมื่นคนจึงเหมือนลูกไก่ในกำมือตอลิบาน ส่วนหนึ่งอาจพยายามอพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อการถูกไล่ล่า มีคนอัฟกันหลายรายที่ถูกประหารชีวิตเพราะเป็นกลุ่มรักร่วมเพศ นักดนตรี ฯลฯ

มีนักร้องเพลงพื้นเมืองรายหนึ่งถูกลากตัวออกมาจากบ้านและสังหารอย่างเลือดเย็น โฆษกตอลิบาน ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด แถลงว่าการเล่นดนตรีไม่เข้าหลักกับอิสลาม แม้กระนั้นโทษก็ไม่มีเป็นอย่างอื่น นอกจากโดนฆ่าทิ้งอย่างไร้ค่า

ด้วยเหตุนี้เอง บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวจึงมีอย่างมากมายในกลุ่มคนอัฟกันที่ไม่สามารถอพยพผ่านโครงการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ได้ แม้จำนวนผู้ที่ถูกขนออกนอกประเทศในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนนั้นมากกว่า 1 แสนคนโดยเครื่องบินหลายร้อยเที่ยว

สตรีอัฟกันถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสตรีโสด ด้านสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าโฆษกมูจาฮิดประกาศว่าสตรีอัฟกันสามารถเรียนได้ถึงระดับมหาวิทยาลัย และเดินทางออกนอกบ้านโดยไม่ต้องมีผู้ชายไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากยุคเข้มในช่วงตอลิบานกุมอำนาจครั้งแรก

สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ยังพยายามหาช่องทางเจรจาต่อรองกับตอลิบานให้อนุญาตผู้ต้องการอพยพเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่อาจจะยากเพราะตอลิบานไม่ต้องการสภาวะสมองไหล หรือให้พวกที่เคยต่อต้านตอลิบานไปรณรงค์อยู่ต่างประเทศ

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับรัฐบาลตอลิบานซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งได้ภายในระยะเวลาก่อน 11 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการทำลายอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์โดยอัลกออิดะห์ เป็นเหตุให้สหรัฐฯ บุกเข้ายึดอัฟกานิสถานในปี 2011

ผู้ที่ต้องรับความเสียหายทางการเมืองอย่างหนักที่สุด ก็คือ โจ ไบเดน ผู้นำ 8 เดือนของสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าได้ประเมินสถานการณ์ และตัดสินใจผิดพลาดอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนตอลิบานยึดประเทศ

ไบเดนได้ตกเป็นเป้าหมายของการตำหนิโดยนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านคือรีพับลิกัน เพราะเป็นความเสียหายด้านเกียรติภูมิ ความน่าเชื่อถืออย่างมาก

ความพ่ายแพ้อย่างหมดท่าถือว่าเป็นบาดแผลทางการเมืองอีกครั้งหลังจากเวียดนาม แต่จะเป็นบทเรียนให้สหรัฐฯ หรือไม่ขึ้นกับความต้องการเป็นชาติมหาอำนาจอีกต่อไปหรือไม่ เพราะยังมีเวทีท้าทายทั้งในทะเลจีนใต้และในตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น