นับว่าเป็นการปิดฉากสงคราม 20 ปีในอัฟกานิสถานโดยกองทัพสหรัฐฯ แบบไม่สวย ขาดเกียรติภูมิและความภาคภูมิ จะมองว่าเป็นการสูญเปล่าด้านทรัพยากรและชีวิตมนุษย์ก็ว่าได้ เป็นการรบราฆ่าฟันที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล สุดท้ายกลับสู่สภาพเดิม
สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้ชนะสงคราม หลังจากทุ่มเงินงบประมาณไปมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดเวลา 20 ปี มีกำลังทหารมากกว่า 1 แสนคน เสียชีวิตไปกว่า 2 พันนาย ยังไม่รวมทหารของประเทศพันธมิตรในกลุ่มนาโต ซึ่งก็ต้องลงทุนไปไม่น้อยด้วยเช่นกัน
การถอนทหารสหรัฐฯ และอพยพคนอัฟกันสิ้นสุดอย่างเป็นทางการวันที่ 31 สิงหาคม มีคนมากกว่า 1 แสนคนถูกขนออกไปโดยเครื่องบินหลายร้อยเที่ยว แต่ละประเทศต่างรับผิดชอบขนประชาชน ทหาร และชาวอัฟกันที่เคยร่วมทำงานช่วงสงคราม
ยังมีตกค้างอีกหลายหมื่นคน โดยเฉพาะคนอเมริกันเป็นพันคน รวมทั้งคนอัฟกันที่เคยทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในสถานภาพต่างๆ ซึ่งต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่แน่นอนว่าจะมีการล้างแค้นโดยกลุ่มตอลิบานผู้ชนะสงครามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวทางในอนาคต
ขึ้นอยู่กับว่าตอลิบาน ซึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลในเดือนกันยายน อยากอยู่ร่วมกับประชาคมโลก และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติหรือไม่ หรือจะยังคงสภาพเป็นรัฐก่อการร้าย ส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายในประเทศอื่นด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ให้
เป็นความเสียหายเพราะอาวุธ รวมทั้งเครื่องบินรบมีจำนวนมหาศาล เป็นการลงทุนเพื่อให้กองทัพอัฟกันสามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อกองทหารต่างชาติถอนตัวออกไป
ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ประเมินว่านอกจากรถรบฮัมวีหลายหมื่นคน อาวุธปืนเอ็ม 16 และเอ็ม 4 รวมหลายแสนกระบอก ยังมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินรบของกองทัพอัฟกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าส่วนหนึ่งถูกนักบินอัฟกันใช้บินหนีออกนอกประเทศ
ทั้งนี้ต้องดูว่ากองกำลังตอลิบานจะมีขีดความสามารถในการใช้เครื่องไฮเทคหรือไม่ รวมทั้งการบินด้วย แต่มีความเป็นไปได้ที่ตอลิบานจะเรียนรู้โดยบังคับให้นักบินอัฟกันทำการบินให้โดยใช้ครอบครัวของนักบินเป็นตัวประกัน รวมทั้งการฝึกสอนให้ตอลิบานด้วย
ยังมีปัญหาการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเดิมนั้นสหรัฐฯ ได้จ้างผู้รับเหมาเอกชนเป็นผู้ดูแล ตอลิบานอาจขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ มาช่วยจัดหาให้ เช่นการฝึกสอน ซ่อมบำรุง และส่วนหนึ่งอาจถูกขายเพื่อหารายได้อีกด้วย
ที่น่าหวั่นเกรงก็คือว่าอาวุธเช่นปืนต่างๆ อาจถูกส่งไปขายในตลาดมืด หรือกลุ่มที่ต้องการอาวุธ เช่นในแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง ซึ่งยังมีการก่อการร้าย กบฏชิงอำนาจ
สหรัฐฯ ยังเป็นผู้สูญเสียในขั้นสุดท้าย เมื่อทหาร 13 นายเสียชีวิตจากการระเบิดพลีชีพและคาร์บอมบ์โดยกลุ่มหัวรุนแรงไอซิส-เค ซึ่งแตกหน่อมาจากกลุ่มไอซิสที่พ่ายศึกในซีเรียและอิรัก และหลบเข้ามาสะสมกำลังในอัฟกานิสถานร่วมกับคนท้องถิ่น
มีชาวอัฟกันเสียชีวิตมากกว่า 180 คนในการระเบิดครั้งนั้นด้วยเช่นกัน สร้างความเสียหน้าให้กองกำลังตอลิบานซึ่งป้องกันอยู่รอบนอก และทั้งๆ ที่มีการเตือนภัยจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เตือนว่าจะมีการโจมตีสนามบินคาบูล
หลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็มีโอกาสได้เอาคืน ตามคำประกาศของผู้นำทำเนียบขาว ด้วยการใช้โดรน ยานไร้คนขับโจมตีจุดที่ผู้วางแผนก่อเหตุวางระเบิดของไอซิส-เค ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเสียชีวิต 2 ราย และมีคำเตือนว่าแผนการลอบโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายจะยังมีต่อไป
ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในชานกรุงคาบูล มีรถ 1 คันคาดว่าบรรจุระเบิดไว้สำหรับทำคาร์บอมบ์ มีผู้เสียชีวิตในบริเวณนั้น 6 ราย มีเสียงระเบิดซ้ำหลังจากการโจมตี แสดงให้เห็นว่ารถที่จอดไว้เป็นเป้านั้นบรรทุกระเบิดไว้
ถือว่าเป็นการเอาคืนที่ยังไม่คุ้ม เมื่อเทียบกับคนเสียชีวิตร่วม 200 คนที่สนามบินคาบูล ทหารอเมริกันที่เสียชีวิต 13 รายมีทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 20 ต้นๆ เท่านั้น ประสบการณ์ในสมรภูมิมีจำกัด กลุ่มนี้อยู่ในจำนวนทหารสหรัฐฯ 6 พันนาย
ช่วงก่อนสิ้นระยะเวลาอพยพ สหรัฐฯ ได้ทยอยขนทหารออกไปจำนวนหนึ่ง หลังจากความพยายามในการเจรจาต่อเวลากับฝ่ายตอลิบานไม่ประสบความสำเร็จ แม้กระนั้น สหรัฐฯ ก็ยังหวังว่ากลุ่มนาโต ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ร่วมเจรจา จะหาทางออกได้
ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ตอลิบานยอมให้คนที่เหลือมีสัญชาติต่างๆ และคนอัฟกันที่ต้องการอพยพ ได้มีโอกาสออกนอกประเทศ ตอลิบานก็จะได้ผลตอบแทน
นั่นก็คือเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลอัฟกันที่โดนยึดไว้โดยกลุ่มประเทศตะวันตกจะเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขสำหรับการต่อรอง ถ้าตอลิบานต้องการเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอายัดไว้ อาจจะตกลงก่อนหาทางพลิกลิ้นภายหลัง
หลังจากยึดกรุงคาบูลได้ กลุ่มตอลิบานได้แสดงท่าทีว่าจะไม่มีนโยบายเข้มงวดหนักเหมือนช่วงที่บริหารประเทศในปี 2006-2001 ก่อนสหรัฐฯ บุกยึดและทำสงครามนาน 20 ปี
การได้รับบทเรียนช่วงแรกอาจทำให้ตอลิบานอยากอยู่นานร่วมกับประชาคมโลก แทนการมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆ ทั้งแนวทางอิสลามหัวรุนแรงซึ่งได้สร้างทุกข์ให้ชาวอัฟกันและทำให้ประเทศล้าหลัง ขาดการพัฒนาไปหลายปี
ผู้เสียหายอย่างหนักทั้งด้านวิกฤตศรัทธา ความน่าเชื่อถือคือผู้นำทำเนียบขาว โจ ไบเดน ซึ่งถูกมองว่าประเมินสถานการณ์และตัดสินใจผิดพลาดในการจัดการเรื่องอัฟกานิสถาน ทำให้คะแนนความนิยมตกต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่อยู่มาเพียง 8 เดือน
ต้องดูว่าผลพวงของความล้มเหลวครั้งนี้จะส่งผลร้ายอย่างไรต่อสหรัฐฯ และตอลิบานจะมีบทบาทอย่างไร เป็นสมาชิกประชาคมโลกได้รับการรับรองหรือยังมีศึกในประเทศอีก