xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การบันทึกประวัติศาสตร์ ที่บิดบังความล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 22) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นั้น โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน 2564 อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล

โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อยมากในระยะแรก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา

ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข...

นับได้ว่า เป็นการเขียนราชกิจจานุเบกษาที่ให้ร้าย หักหาญรานน้ำใจและกล่าวโทษประชาชนในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ซึ่งมีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต

ด้วยความหมายที่หนักแน่นชี้ชัดว่า

‘รัฐบาลไม่ผิด…ประชาชนทำให้ระบาดระลอกใหม่เอง เพราะประมาท’


ราชกิจจาฯฉบับนี้ รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงและปัดความรับผิดชอบต่อสาเหตุการระบาดที่แท้จริงว่า เกิดจากบุคคลในวงการเมืองและอภิสิทธิ์ชนที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เขียนกล่าวโทษประชาชนที่ประมาทต่อการระบาดโดยตรง

ในทางประวัติศาสตร์ ราชกิจจานุเบกษา หรือภาษาอังกฤษ คือ Royal Thai Government Gazette สามารถ

เรียกสั้นๆ ได้ว่า Government Gazette เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการ โดยเริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย นพศก จุลศักราช 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401

เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ (บางกอกรีคอเดอ) เป็นเอกสารหลักในการแจ้งประกาศ กฎหมาย และคำสั่งทางราชการให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการจวบจนปัจจุบันนี้

นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยที่มีอายุยาวนานที่สุด โดยมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์และเผยแพร่

คุณค่าของเนื้อหาในราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือ พิมพ์ของหลวงหรือของทางราชการที่สำคัญมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สามารถ ใช้เป็นเอกสาร และหลักฐานอ้างอิงค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยต่างๆ ได้ ข้อมูลเรื่องราวที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง มีคุณค่าในการศึกษาประวัติศาสตร์ การเมืองและการปกครอง ในสมัยที่ ราชกิจจานุเบกษาฉบับนั้นๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเอกสารหลักฐานชั้นต้น (หลักฐานปฐมภูมิ) หมายถึง หลักฐานที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นหรือช่วงเวลานั้น เป็นหลักฐานที่บ่งบอกให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริง ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น กฎหมาย สนธิสัญญา บันทึกคำให้การ ประกาศทางราชการ ศิลาจารึก การจดบันทึกสถิติการเขียนประวัติศาสตร์ในอนาคต

ถ้ามีการอ้างอิงราชกิจจานุเบกษานี้ เรื่องโควิด-19 รัฐบาลได้กล่าวโทษประชาชนให้ตกเป็นต้นเหตุในการเป็นผู้ร้ายหรือจำเลยในการแพร่ระบาดของโรคอย่างแน่นอน ซึ่งคนรุ่นหลังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง ดังข้อความในราชกิจานุเบกษาฉบับนี้

หากว่าไปแล้ว ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 22) นี้ เปรียบเสมือนการแก้ต่างให้ปิดบังข้อเท็จจริงของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งที่ 3 ที่รุนแรงมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย และถ้าลงมือทำเมื่อไหร่ก็เกิดความยุ่งยากทันที

เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์ของการผ่านวิกฤตการระบาดโควิดระลอก 1-2 อย่างรอบคอบถ้วนถี่ จะพบมูลเหตุของการควบคุมโรคระบาดนี้ได้ว่า เพราะประชาชนดูแลตัวเอง เนื่องจากรักตัวกลัวตาย มีการดูแลและป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด พร้อมกับพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมในระบบมาตรฐาน ซึ่งรัฐบาลก็นำไปยกย่องชื่นชมตัวเองว่าอยู่ในแถวหน้าระดับโลก

ความจริงเชิงประจักษ์ได้ถูกทำให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้ เพราะพอถึงการเกิดระบาดระลอก 3 ครั้งล่าสุดที่ดำเนินอยู่ตอนนี้ เกิดความขาดแคลนและความล่าช้าในการกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชน รวมถึงมีผลประโยชน์แอบแฝงในการจัดซื้อ ทำให้เกิดอัตราการระบาดของโรคสูง และมีการเสียชีวิตของประชาชนพุ่งสูงมาก

ซึ่งเกิดจากความบกพร่องและเพิกเฉยของรัฐบาลในการบริหารจัดการโดยตรง

จากจุดนี้ทำให้กลับไปมองภาพที่ผ่านมาได้ชัดเจนขึ้นว่า ผลงานของรัฐบาลที่เคลมว่าประสบความสำเร็จในการจัดการโรคระบาดครั้งนี้ เป็นเพียงภาพลวงตา มีเพียงการเยียวยาแบบโปรยทานและวัคซีนที่ล่าช้าแบบเสี่ยงโชค

ประชาชนไทยหรือมวลชนต่างหากที่คิดและจัดระบบดูแลป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวกันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล

เพราะฉะนั้นประชาชนควรได้เวลาปลุกจิตสำนึกและตื่นตัว เพราะต่างรู้แล้วว่าระบบบริหารประเทศและวิกฤติโรคระบาดอุบัติใหม่ครั้งใหญ่คราวนี้ของรัฐบาลที่มีรากฐานมาจากเผด็จการทหาร แล้วมาห่อหุ้มด้วยประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 เสียง เป็นที่พึ่งพาของประชาชนไม่ได้เลย

วิกฤตการณ์การะบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก เปิดเผยให้ประชาชนทั้งประเทศ ที่ทุกข์ทนจากความหวาดผวาของโรคระบาดและยากลำบากของสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดกู่ ได้เห็นถึงธาตุแท้ในศีลธรรมจรรยาที่บกพร่องของผู้บริหารบ้านเมือง

รวมถึงการทุจริตทุกอย่างที่เห็นในทุกภาคส่วน แต่ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายหรือเอาผิดได้ เพราะเป็นเครือข่ายของรัฐบาลและส่วนราชการ

โดยเฉพาะกรณีคลัสเตอร์ทองหล่อที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ไม่มีการประกาศความรับผิดชอบรวมถึงมาเขียนปิดบังบันทึกเป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาว่า ‘เกิดเพราะประชาชนประมาท’


กำลังโหลดความคิดเห็น