ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตามสภาพรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันที่ยังเหมือนมวยเมาหมัดกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกล่าสุด ที่ผ่านมาแล้วเกือบเดือน แต่อาการยังน่าเป็นห่วง
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ยังอยู่หลักพัน ตัวเลขมีขึ้นๆลงๆ แต่ยังไม่เห็นผลแบบแตกต่างหลังจากงัดมาตรการเข้มแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะไม่กล้าล็อกดาวน์ หรือ เคอร์ฟิว ที่มีผลกระทบมากกว่า
แต่ที่โดนนินทา หมาดูถูกเยอะ เห็นจะเป็นการบริหารจัดการโควิด-19 รอบนี้ ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เมื่อเทียบกับการจัดการการระบาดในรอบแรก ที่ขึ้นแท่นประเทศเบอร์ต้นๆ ของโลกในการรับมือเชื้อมรณะ
มาหนนี้ ผ่านมา 2-3 สัปดาห์ มีปัญหาที่แก้ไม่ตกเพียบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่สภาพโรงพยาบาลสนาม ที่เปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วสภาพแวดล้อมของไทยไม่โสภาสักเท่าไหร่ จนชาวเน็ตหยิบเอามาแซะหลายวัน
แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่านี้ คือเรื่องการบูรณาการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องเตียงคนไข้ ที่ครั้งนี้รัฐบาลทำแต้มติดลบ ช่วยคนไม่ทันท่วงที มีปัญหาติดๆ ขัดๆ หลายประการ บางคนติดเชื้อมาหลายวัน แต่ยังต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน จนคนในครอบครัวติดกันหมด ต้องรอให้เป็นข่าวก่อนถึงจะได้รับการช่วยเหลือ
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการติดต่ออย่างสายด่วน ที่รัฐบาลโพนทะนาว่าบูรณาการกันเรียบร้อย ให้ประชาชนต่อสายไปได้เลย แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติ มีเรื่องร้องเรียนแทบทุกวันว่า โทรยาก ติดลำบาก รอสายนาน เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ถึงขนาด“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ ยังยอมรับเลยว่า โทรไปมาแล้วเจอเองกับตัวเหมือนกัน
ขณะที่เรื่องวัคซีน แม้จะพยายามร่วมมือกับเอกชนเพื่อประสานให้ได้เร็วที่สุด แต่มันเลยจุดที่ประชาชนจะเข้าใจได้ โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศมีตัวเลขวัคซีนและผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วทิ้งห่างไทย ที่ประกาศว่าเป็นผู้นำเรื่องสาธารณสุข
มันไม่ได้ต้องการจะแข่งว่าใครเจ๋งกว่าใคร หากแต่มันกำลังเป็นหอกทิ่มแทงรัฐบาลในเรื่องของฝีมือในการจัดหาวัคซีน งานนี้เลยน้ำท่วมปากเวลาถูกฝ่ายค้านขย่ม ถึงขนาดปล่อยให้นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเร่ร่อนต่างแดนออกมาเบิ้ลบลัฟ จะใช้คอนเนกชั่นพูดคุยให้
ต้องยอมรับว่า การรับมือของรัฐบาลในรอบนี้มีปัญหา และแสดงถึงความไม่พร้อม ในอารมณ์ที่ขนาดกองเชียร์ยังไม่กล้าออกตัวปกป้อง เพราะหลักฐานมันคาตา
ดูอาการ“บิ๊กตู่”เองก็มองเห็นได้ หน้านิ่วขิ้วขมวดเหมือนแก้ปัญหาไม่ตก ไม่รู้จะจัดการอย่างไร คล้ายกับตอนดูซูบโทรมในรอบแรก
เรื่องของเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายๆ อย่างมันไม่ได้ดังใจ โดยเฉพาะทีมงานที่ต้องบอกว่าเป็นนักการเมืองอาชีพเกือบหมดคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญ บางอย่างไปก้าวก่าย แทรกแซงกันไม่ได้ เพราะเป็นมารยาทระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
มันเป็นสิ่งที่“บิ๊กตู่”ก็อึดอัด แต่ที่ผ่านมาพยายามปรับตัวให้เข้ากับนักการเมือง เพื่อประคองเสถียรภาพรัฐบาลไปให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่ง เพียงแต่นานวันมันชักจะไม่ได้การ
ไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวเรื่องการทอดสมอ “ยุบสภา”โผล่แทรกกลางเข้ามาท่ามกลางเชื้อมรณะกำลังฮึกเหิมได้ใจ เพราะอาการรัฐบาลเหมือนคนไข้ในห้องไอซียู ที่ทางรอดเดียวที่เหลือ น่าจะคือการตัดเนื้อร้ายและอวัยวะทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตไว้
ตามจังหวะที่มีการแบ่งจังหวัดให้รัฐมนตรีดูแลกันใหม่ ที่ส่วนใหญ่รัฐมนตรีในซีกพรรคพลังประชารัฐได้เข้าไปคุมในจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีผลต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขุนพลหลักเตรียมพร้อมเลือกตั้งของ“บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.หลายเก้าอี้ และเป็นจังหวัดที่มีส.ส.หลายคน
ข้ามหน้าข้ามตาเจ้าถิ่นอย่าง"นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย ที่เป็นคนสงขลา ซึ่งปกติการให้ดูแลจังหวัด จะยึดตามฐานเสียงของแต่ละคน ดูได้ อย่าง "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.ยุติธรรม ดูสุโขทัย "อนุชา นาคาศัย" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูชัยนาท "ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูสิงห์บุรี "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม ดูบุรีรัมย์ แต่ "นิพนธ์" กลับไม่ได้ดูจังหวัดตัวเอง ปล่อยให้ร.อ.ธรรมนัส ที่มีฐานเสียงอยู่ จ.พะเยา ปาดหน้าไปดู ซึ่งมันชี้ชัดว่า เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คิวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจรุนแรงมาก เพราะไม่ใช่แค่"นิพนธ์"รายเดียว แต่ "สินิตย์ เลิศไกร" รมช.พาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่เหมาส.ส.ยกจังหวัดให้ค่ายสีฟ้า กลับโดนโยกไปโซนอีสาน คือ ร้อยเอ็ด และหนองบัวลำภู ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เลย
ใครดูก็รู้ว่า ตรรกะการแบ่งพื้นที่ครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ที่ตามไทม์ไลน์เดิมวางเอาไว้ให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่สภาจะพิจารณากันในปลายเดือน พ.ค.นี้ มีผลบังคับใช้กันเสียก่อน รวมไปถึงการจัดวางขุมกำลังในการโยกย้ายแต่งตั้งประจำปี ในเดือน ก.ย.และนั่นอาจหมายถึงการรอให้ศึกชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้นในปลายปีนี้ก่อน
แต่ด้วยภาวะคับขัน อาการรัฐบาลน่าเป็นห่วง ภูมิต้านทานต่ำ ไร้วัคซีนมาช่วย เลยถูกจับตามองว่า แค่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านสภา และจัดวางกำลังโยกย้ายข้าราชการเสร็จสิ้นในเดือน ก.ย. หากจังหวะพอได้ก็พร้อมทอดสมอเหมือนกัน
ในทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยากจะได้คนเก่งเข้ามาช่วย ตลอดจนคุมกระทรวงสำคัญๆ ที่วันนี้อยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาล จนหยิบจับมาบริหารไม่ได้ ดูทรงเลยส่อแววจะรีเซ็ตกันใหม่ ด้วยการยุบสภาแล้วไปจัดทีมใหม่ในเลือกตั้งครั้งหน้า
ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ หากกลไกสำคัญอย่างกฎหมายงบประมาณ และโยกย้ายข้าราชการประจำปีสะเด็ดน้ำแล้ว