xs
xsm
sm
md
lg

กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ต่อรัฐประหารพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



บางคนอาจมองว่า งานเข้าสำหรับปธน.โจ ไบเดน แค่ไม่ถึง 15 วันที่เข้ารับตำแหน่งที่ทำเนียบขาว คือ ที่รัสเซียมีการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านที่แข็งกร้าว อเล็กเซ นาวาลนี ทันทีที่เขาเดินทางกลับมอสโก และอีกเหตุการณ์คือ การทำรัฐประหารอย่างไม่คาดคิดที่พม่าในเช้ามืดวันจันทร์ที่ 1 กุมภาฯ อันเป็นวันเปิดประชุมสภาวันแรกของ ส.ส.ใหม่ เพื่อเตรียมแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ของรัฐบาลนางซูจี

ทำเนียบขาวและรมต.ต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ออกมาประณามการทำการยึดอำนาจของนายพลมิน อ่อง หล่าย ทันที และปธน.ไบเดน ซึ่งได้ดำเนินจุดยืนและหาเสียงที่จะทำให้สหรัฐฯ กลับมานั่งหัวโต๊ะ เพื่อนำหมู่พันธมิตรในการส่งเสริมประชาธิปไตยได้ออกมาพูดอย่างหนักแน่น ตอกย้ำถึงโอกาสที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรต่อพม่ามีอยู่สูงมาก เพราะการปลดมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าใน 10 ปีที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่พม่ามีความคืบหน้าในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด

ไบเดนพูดว่า “การก้าวถอยหลังของกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ทำให้เกิดความจำเป็นที่สหรัฐฯ อาจต้องทบทวนต่อกฎหมายการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในทันที”

และผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ส.ว.ชัค ชูเมอร์ ก็เปิดทางให้ประธานาธิบดีไบเดน เข้าให้ข้อมูลสรุปแก่สภาคองเกรสเกี่ยวกับการยึดอำนาจในพม่า โดยสภาคองเกรสพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลไบเดนในการคลี่คลายสถานการณ์ โดยจะทำงานร่วมกันทั้งสองพรรค (Bipartisan) เพื่อสรุปหามาตรการที่ดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของประชาชนชาวพม่า

ต่อมา 1 วัน รมต.ต่างประเทศ บลิงเคน ก็เปลี่ยนจากคำว่า “ยึดอำนาจ” เป็น “รัฐประหาร” สำหรับการเปลี่ยนแปลงล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่พรรค NLD ชนะอย่างถล่มทลาย... ทั้งนี้ เพื่อปูทางที่จะนำเอาการคว่ำบาตรมาใช้ตามกฎหมายสหรัฐฯ ที่มีบทบัญญัติให้สหรัฐฯ ตัดลดความช่วยเหลือได้อย่างเต็มตัว รวมทั้งการค้า การลงทุนกับประเทศที่มีการ “ทำรัฐประหาร”

แต่บทเรียนที่สหรัฐฯ ได้สรุปจากการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารพม่าในช่วง 20 ปีก่อนรัฐบาลโอบามา คือการผลักให้พม่ากลับไปใกล้ชิดกับจีนยิ่งขึ้นในด้านการเมือง, การค้า และการลงทุน

ซึ่งในช่วงนั้น สภาวะทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ช่างต่างกับวันนี้ คือ วันนั้นจีนก็ยังไม่เติบโตยิ่งใหญ่เท่าวันนี้ด้วยซ้ำ

มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากรัฐบาลไบเดน คือ ผบ.สส.หรือประธานเสนาธิการ(ร่วม)ทหาร พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ได้รับมอบหมายให้ยกหูโทรศัพท์ต่อสายตรงกับนายพลมิน อ่อง หล่าย ในความพยายามติดต่อระหว่างทหารต่อทหารในวันที่ 2 กุมภาฯ หลังการทำรัฐประหารเพียง 1 วัน

ปรากฏว่า นายพลมิน อ่อง หล่าย ก็รู้ว่าตัวเองถือไพ่เหนือมือ เพราะครั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯ หรือตะวันตกจะต้องชั่งใจอย่างยิ่งถึงการได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าจะคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจกับประเทศพม่า (ดังเช่นที่เคยทำมาในอดีต) เพราะทางจีนจะได้โอกาสทองที่จะรีบคาบเอาผลประโยชน์ไปได้ง่ายๆ

นายพลมิน อ่อง หล่าย ไม่ยอมรับโทรศัพท์จากพล.อ.มาร์ค มิลลีย์!!

และยังมีความพยายามจากทำเนียบขาว ที่เปิดทางให้เหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกันกดดันรัฐบาลทหาร (ชุดใหม่) ของพม่า เพื่อไม่ให้ทำร้ายประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากท่าทีการแถลงของผู้นำจากสหภาพยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ รวมทั้งบางประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ออกทำนองให้รัฐบาลทหาร (ชุดใหม่) ต้องให้ความปลอดภัยต่อรัฐบาล (เก่า) ของนางซูจี รวมทั้งการพยายามหาวิธีนำสถานการณ์เข้าสู่ความสงบโดยเร็ว ผ่านการเจรจาโดยใช้ความอดกลั้น, ไม่นำสู่ความรุนแรงต่อประชาชนพม่า ตลอดจนจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

สำหรับประชาชนชาวพม่า ที่แสนจะเต็มกลืนต่อระบอบเผด็จการทหารพม่า ที่พวกเขาต้องขมขื่นถูกปล้นเอาความมั่งคั่งของชาติมาปรนเปรอเหล่านายพลทหารพม่าในอดีตถึงเกือบ 50 ปี พอมาได้สูดหายใจลมประชาธิปไตยได้แค่ 10 ปี ก็ต้องมาเผชิญกับตระกูลทหารที่อาจจะอยู่ยาวนาน (ถ้าดูประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ก็ปาเข้าไปเกือบ 7 ปีเต็มแล้ว) ถ้าเป็นแบบนายพลซูฮาร์โต ที่เป็นเผด็จการอยู่ยาวนานถึง 33 ปี และปล้นความมั่งคั่งของชาวอินโดนีเซียไปหมด โดยลูกๆ ของซูฮาร์โตที่ยึดครองธุรกิจสาธารณูปโภคของชาติไว้ในกำมือ

และชาวพม่าที่ต้องประเมินว่า จะออกมาประท้วงรัฐประหารครั้งนี้เต็มถนนเหมือนครั้งก่อนๆ (หลังเลือกตั้งวันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 ที่ทหารไม่ยอมรับและปราบปรามประชาชนอย่างป่าเถื่อนหรือไม่)

ปรากฏเขาเลือกประท้วงทันทีในต่างประเทศ มีจุดใหญ่ๆ ที่ญี่ปุ่น และที่ไทย ส่วนที่ย่างกุ้งมีการนัดกันเคาะอุปกรณ์ในครัวคือ หม้อ และกระทะ, ส่งเสียงดังปัดรังควานขับไล่ภูตผีปิศาจซึ่งก็ได้แก่นายพลมิน อ่อง หล่าย และคณะทหารนั่นเอง

และแพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาล 80 แห่งทั่วพม่า ได้ทำอารยะขัดขืน หยุดรักษาคนไข้ (ที่ไม่เร่งด่วน) โดยชู 3 นิ้วและติดโบแดงร่วมประท้วง

การจัดการของฝ่ายตะวันตกต่อรัฐประหารในพม่าครั้งนี้ คงจะแตกต่างกับครั้งก่อนๆ แน่นอน ในภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนจากเดิมไปแล้วอย่างสิ้นเชิง


กำลังโหลดความคิดเห็น