รอยเตอร์ - เสียงเคาะหม้อเคาะกะทะ และเสียงแตรรถ ดังก้องทั่วนครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของพม่าในช่วงค่ำของวันอังคาร (2) ในการแสดงออกถึงการประท้วงอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกที่ต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพโค่นล้มอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ (1) ปล่อยตัวเธอ และให้ยอมรับชัยชนะของเธอในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค NLD กล่าวว่าเขาทราบมาว่าซูจีแข็งแรงดี และไม่ได้ถูกย้ายออกจากสถานที่ที่เธอถูกควบคุมตัวไว้หลังเกิดการรัฐประหาร
ทั้งนี้ซูจีถูกควบคุมตัวในกรุงเนปีดอพร้อมกับบุคคลสำคัญคนอื่นๆ อีกหลายสิบคน แต่ยังคงไม่มีการระบุถึงสถานที่ที่ควบคุมตัวอย่างแน่ชัด
“ไม่มีแผนที่จะย้ายดอว์อองซานซูจีและคุณหมอเมียว อ่อง แต่ทราบว่าพวกเขายังแข็งแรงดี” จี โต เจ้าหน้าที่ของพรรค NLD โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยกล่าวถึงหนึ่งในพันธมิตรของซูจี
จี โต ยังกล่าวว่าสมาชิกรัฐสภาของ NLD ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการรัฐประหารได้รับอนุญาตให้ออกจากย่านที่ถูกควบคุมตัว แต่รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อเขาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดพบหารือกันในวันนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการตอบสนองอย่างรุนแรงจากทั่วโลกต่อการยึดอำนาจล่าสุดของกองทัพ
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นถูกกำหนดว่าเป็นการก่อรัฐประหาร ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดการให้ความช่วยเหลือจากต่างชาติ และวอชิงตันขู่ว่าจะฟื้นมาตรการคว่ำบาตรกับนายพลที่ยึดอำนาจ
ในการแสดงออกถึงความโกรธและไม่พอใจของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงขณะนี้ ผู้คนในนครย่างกุ้งต่างพร้อมใจกันเคาะหม้อเคาะกระทะ ตีถัง บีบแตรรถ และส่งเสียงร้องตะโกนว่า “สิ่งชั่วร้ายจงหายไป”
“มันเป็นธรรมเนียมของพม่าในการขับไล่สิ่งชั่วร้ายหรือกรรมเลวด้วยการตีกระป๋องเคาะถังให้ดัง” ชาวเมืองย่างกุ้ง กล่าว
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคนลงถนนชุมนุมประท้วง ด้วยประเทศมีประวัติศาสตร์การปราบปรามการประท้วงนองเลือด
การรัฐประหารเกิดขึ้นหลังพรรค NLD ของซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผลการเลือกตั้งที่กองทัพปฏิเสธจะยอมรับโดยอ้างว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
กองทัพส่งมอบอำนาจให้กับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวกับรัฐบาลใหม่ของเขาในการประชุมครั้งแรกว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กองทัพจะต้องเข้ายึดอำนาจหลังกองทัพประท้วงเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งปีก่อนมาแล้วหลายครั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สนใจคำร้องเรียนเหล่านั้น
“แม้จะมีการร้องขอซ้ำๆของกองทัพ แต่เส้นทางนี้ถูกเลือกให้กับประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนกว่ารัฐบาลชุดถัดไปจะถูกตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง เราจำเป็นต้องควบคุมประเทศ” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน การเลือกตั้งและการต่อสู้กับโควิด-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลทหาร และก่อนหน้านี้ เขาได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะ แต่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา
ที่สหประชาชาติ คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่าข้อเสนอของทหารที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ควรถูกขัดขวาง โดยระบุว่าผลการเลือกตั้งล่าสุดถือเป็นชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
คณะกรรมการบริหารพรรค NLD ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด และยังเรียกร้องให้ทหารยอมรับผลการเลือกตั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐสภาชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำหน้าที่ ซึ่งมีกำหนดประชุมครั้งแรกตั้งแต่วันจันทร์ (1)
กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้เผยแพร่ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้แบบอารยะขัดขืน และมีแพทย์ในโรงพยาบาลมากกว่า 20 แห่ง ระบุว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการรณรงค์ต่อสู้แบบอารยะขัดขืนนี้ด้วย
“เราไม่สามารถยอมรับเผด็จการและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้” เมียว เต๊ต อู หนึ่งในแพทย์ที่เข้าร่วม กล่าว
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เรียกวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า
“เราจะทำงานกับหุ้นส่วนของเราทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รวมทั้งดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการล้มล้างการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของพม่า” ไบเดนระบุในคำแถลง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าจะดำเนินการทบทวนความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่จะยังคงโครงการด้านมนุษยธรรมที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญาอยู่ต่อไป
สหประชาชาติยังประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว ความคิดเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อินเดีย และญี่ปุ่น รวมทั้งอังกฤษ
ส่วนจีนไม่ได้เข้าร่วมการประณาม แต่กล่าวเพียงว่ารับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพรัฐธรรมนูญ
การรัฐประหารถือเป็นครั้งที่ 2 ที่กองทัพปฏิเสธที่จะยอมรับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรค NLD ที่ยังปฏิเสธผลการเลือกตั้งในปี 2533 ที่มีเป้าหมายที่จะปูทางสู่การตั้งรัฐบาลแบบหลายพรรค
หลังการประท้วงใหญ่ภายใต้การนำของพระสงฆ์ในปี 2550 บรรดานายพลได้กำหนดแนวทางเพื่อประนีประนอม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยอำนาจในการควบคุม
พรรค NLD ก้าวเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2558 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับรองบทบาทของกองทัพในรัฐบาล รวมถึงการคุมกระทรวงสำคัญจำนวนหนึ่ง และอำนาจยับยั้งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลทหารชุดใหม่ได้ทำการแต่งตั้งรัฐมนตรีของตนเอง และแต่งตั้ง ตาน เญน เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอีกครั้ง จากที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2556 ภายใต้รัฐบาลทหารชุดก่อน.