กองทัพพม่าเดินหน้ารวบอำนาจด้วยการประกาศปลดคณะรัฐมนตรีเดิมทั้งชุด และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 11 คน โดยไม่สนเสียงประณามจากทั่วโลกและคำขู่แซงก์ชันของไบเดน ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวซูจีทันที รวมทั้งยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรค ล่าสุดชาวเมืองย่างกุ้งพากันบีบแตรรถและเคาะกระทะเคาะหม้อเมื่อคืนวันอังคาร (2 ก.พ) ขานรับการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ช่วยกันส่งเสียงต่อต้านการรัฐประหาร
สำนักข่าวต่างประเทศทั้ง รอยเตอร์, เอเอฟพี, และเอพี ต่างรายงานว่า ในคืนวันอังคาร (2) ชาวเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่าซึ่งยังคงเป็นศูนย์กลางทางการพาณิชย์ของประเทศ ได้พากันบีบแตรรถยนต์ ตลอดจนตีหม้อ กระทะ กระป๋อง จนได้ยินไปทั่วเมือง เพื่อแสดงการคัดค้านการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหาร ทั้งนี้เป็นการขานรับการรณรงค์เรียกร้องทางโซเชียลมีเดียให้ร่วมกันประท้วง นอกจากนั้นยังมีบางคนตะโกนว่า “แม่ซู (อองซานซูจี) จงเจริญ”
ก่อนหน้านั้น เอเอฟพีรายงานเมื่อช่วงสายของวันอังคารว่า แทบไม่ปรากฏสัญญาณว่า มีการเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนในย่างกุ้ง ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของพม่าและปัจจุบันยังคงเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของประเทศ นอกจากนั้นยังไม่เห็นร่องรอยว่าจะเกิดการประท้วงขนาดใหญ่ บ่งชี้ว่า กองทัพสามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี
เช้าวันอังคาร โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ธนาคารในย่างกุ้งเปิดให้บริการตามปกติหลังจากระงับบริการเมื่อวันจันทร์เนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตขัดข้อง กระนั้น ตลาดที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงา และสนามบินในเมืองหลวงเก่ายังปิดให้บริการ
ประชาชนบางส่วนกังวลว่า สถานการณ์ทางการเมืองอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้วจากโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่า อองซาน ซูจี ผู้นำตัวจริงของคณะบริหารที่ถูกกองทัพจู่โจมยึดอำนาจเมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ (1) รวมถึงประธานาธิบดีวิน มิ้น ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด การสื่อสารเพียงอย่างเดียวจากซูจีคือคำแถลงที่ร่างทิ้งไว้โดยคาดหมายว่า จะมีการรัฐประหาร ซึ่งเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงขัดขวางไม่ให้กองทัพนำประเทศกลับสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง
สมาชิกบางคนของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) ของซูจี เชื่อว่า ผู้นำทั้งคู่ถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านพักในกรุงเนปิดอ ขณะที่พวกสมาชิกสภาของเอ็นแอลดีถูกกักบริเวณในที่พักสำหรับสมาชิกรัฐสภา โดยมีทหารเฝ้าอยู่ด้านนอก
เมื่อถึงตอนบ่าย จี โต เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของพรรคเอ็นแอลดี บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ทางพรรคยังไม่สามารถติดต่อโดยตรงกับซูจี ถึงแม้มีเพื่อนบ้านผู้หนึ่งมองเห็นผู้นำหญิงผู้นี้อยู่ในบ้านพักของเธอในกรุงเนปิดอ
“ตามคำบอกเล่าของเพื่อนบ้านของเธอที่เราติดต่อได้ เธอเดินไปเดินมาเป็นบางครั้งในเขตที่พักของเธอ เพื่อให้คนอื่นๆ ทราบว่าเธอยังคงมีสุขภาพดี” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว
เขาบอกด้วยว่า สำหรับพวกรัฐมนตรีของรัฐต่างๆ ทั่วพม่านั้น ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวจากการกักขังแล้ว แต่ยังคงถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในที่พัก
ในวันอังคาร คณะกรรมการบริหารเอ็นแอลดี ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดโดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากซูจีและวิน มิ้นแล้ว ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนของพรรค
แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้กองทัพยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนของเอ็นแอลดี และยอมให้สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ที่ตามกำหนดเดิมต้องเปิดประชุมนัดแรกเมื่อวันจันทร์ เริ่มปฏิบัติหน้าที่
ทว่า กองทัพพม่ากลับเดินหน้ารวบอำนาจภายใต้ข้ออ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้ง ด้วยการออกประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ปลดรัฐมนตรี 24 คนในคณะบริหารของซูจี และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 11 คนดูแลกระทรวง อาทิ คลัง กลาโหม ต่างประเทศ และมหาดไทย
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ถูกเฟซบุ๊กแบนและถูกอเมรกาแซงก์ชันจากปฏิบัติการกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญา เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดขณะนี้ แม้ได้แต่งตั้งอดีตนายพลมิ้น ส่วย ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดี เป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีก็ตาม
กองทัพพม่ายังให้สัญญาจะจัดการเลือกตั้งหลังครบกำหนดการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่นอน
นักการทูตเผยว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกประชุมฉุกเฉินในวันอังคารเพื่อหารือเกี่ยวกับการรัฐประหารในพม่า เนื่องจากกังวลกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาราว 600,000 คนในประเทศดังกล่าว ขณะที่ทั่วโลกรุมประณามกองทัพพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีทันที
วันจันทร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา ระบุว่า วิกฤตการณ์นี้เป็นการโจมตีโดยตรงต่อกระบวนการผ่องถ่ายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของพม่า และเสริมว่า วอชิงตันจะร่วมกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกเพื่อจัดการวิกฤตการณ์นี้ รวมทั้งขู่ฟื้นมาตรการแซงก์ชันกับพม่า
สถานการณ์ในพม่าถือเป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญของไบเดนที่ประกาศยกระดับการร่วมมือกับพันธมิตรรับมือความท้าทายทั่วโลก โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลของจีน
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯนั้น ยังไม่ออกมาเรียกการยึดอำนาจของทหารพม่าคราวนี้ว่าเป็นการรัฐประหาร โดยบอกว่ายังต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในทางกฎหมายก่อนที่จะสรุปยืนยัน ทั้งนี้ กฎหมายสหรัฐฯ มีข้อกำหนดชัดเจนให้รัฐบาลต้องตัดเงินช่วยเหลือประเทศที่มีการก่อรัฐประหาร
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าจีนดูจะใช้ท่าทีอ่อนนุ่มยิ่งกว่านี้เสียอีก โดยกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรเพียงแค่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของพม่าเคารพรัฐธรรมนูญ และสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนยังระบุว่า การรัฐประหารในพม่าเป็นเพียงการปรับคณะรัฐมนตรี
ทางด้าน ดีเร็ก มิตเชลล์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำพม่าคนแรกหลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหาร กล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกระบวนการ ไม่ใช่ตัวบุคคล ดังนั้น นานาชาติจึงต้องเคารพชัยชนะในการเลือกตั้งของซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพวัย 75 ปีที่ชื่อเสียงด่างพร้อยในสายตาชาวโลก หลังแสดงจุดยืนให้ท้ายกองทัพฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)