xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนไทม์ไลน์ของ “อองซานซูจี” นักโทษการเมืองสู่ผู้นำพม่า และกำลังถูกฝ่ายทหารควบคุมตัวอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) อองซานซูจี ขณะปราศรัยที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ในเดือนพฤศจิกายน 2019
ย้อนหลังดูข้อเท็จจริงบางส่วนเกี่ยวกับ “อองซานซูจี” ที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 75 ปี นักโทษการเมืองซึ่งพลิกผันสู่ผู้นำพม่า หลังได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2015 และได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศในรอบครึ่งศตวรรษ ก่อนถูกกองทัพทำรัฐประหารและถูกควบคุมตัวอีกคำรบหนึ่ง

** ซูจีเป็นบุตรสาวของ “อูอองซาน” วีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่าที่ถูกลอบสังหารขณะที่ซูจีอายุเพียง 2 ขวบ เธอใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยได้พบกับไมเคิล อาริส นักวิชาการชาวอังกฤษ ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทั้งคู่แต่งงานกันในเวลาต่อมาและอาศัยอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด โดยมีบุตรชาย 2 คน

** ปี 1988 ซูจีเดินทางกลับย่างกุ้งเพื่อดูแลแม่ที่ป่วยหนัก และได้เข้าสู่การต่อสู้ซึ่งนำโดยนักศึกษาเพื่อต่อต้านกองทัพที่ปกครองพม่ามาตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปี 1962

** ซูจีที่มีวาทศิลป์คมคาย มีแนวโน้มได้ขึ้นเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว แต่การประท้วงถูกปราบปรามและเหล่าแกนนำถูกสังหารหรือจองจำ ไม่นานเธอถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักริมทะเลสาบของครอบครัวจนถึงปี 2010 จึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวในช่วงสั้นๆ

** ซูจีตัดสินใจอยู่ในพม่าต่อไปเพื่อนำการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย แม้กองทัพแสดงท่าทีชัดเจนยินยอมให้ซูจีเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะตอนที่สามีของเธอเสียชีวิตในต่างประเทศด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 1999 ทั้งนี้เนื่องจากเธอกลัวว่าถ้าออกไปแล้วจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาอีก

** ปี 1991 ซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งอเล็กซานเดอร์ บุตรชายคนโต เป็นผู้รับแทน

** ปี 2000 ซูจีถูกควบคุมตัวอีกครั้งนาน 19 เดือน

** ปี 2010 พรรคของกองทัพได้ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้นพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีไม่ลงแข่งด้วยเนื่องจากมองว่ากฎหมายควบคุมการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม กองทัพจึงจัดตั้งรัฐบาลกึ่งพลเรือนนำโดยอดีตนายพลเต็ง เส่ง และมีการปล่อยตัวซูจีในอีกไม่กี่วันต่อมา

** เดือนสิงหาคม 2011 เป็นครั้งแรกที่ซูจีได้พบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และเป็นจุดเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการปฏิสังสรรค์กับรัฐบาลของบรรดาอดีตนายทหารใหญ่

** ปี 2012 ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ยกเลิกมาตรการแซงก์ชันพม่า ขณะที่ เต็ง เส่ง ปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคนและเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง เดือนเมษายน ซูจีตัดสินใจลงเลือกตั้งและพรรคเอ็นแอลดีกวาดที่นั่งในสภา 43 จาก 44 ที่นั่งที่เปิดรับสมัคร

** ต้นเดือนมิถุนายน 2012 เกิดการปะทะระหว่างชาวพุทธและมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 คน

** ปี 2015 พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และซูจีขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่ง “ที่ปรึกษารัฐ” ที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ซูจียังพยายามยุติสงครามกลางเมือง ดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ และลดทอนบทบาททางการเมืองของกองทัพ เธอให้สัญญากับพันธมิตรตะวันตกว่า จะดูแลชาวโรฮิงญาด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่มีโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นผู้นำ

** ทว่า หนึ่งวันหลังจากอันนันเผยแพร่รายงานในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งแนะนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้โจมตีกองกำลังความมั่นคงหลายแห่งในรัฐยะไข่ และกองทัพพม่าตอบโต้ด้วยการเผาหมู่บ้านนับร้อยแห่งและสังหารชาวโรฮิงญา ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นระบุว่าเป็น “กรณีการล้างเผ่าพันธุ์ตามนิยามในตำรา” เหตุการณ์นี้กดดันให้ชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คนอพยพไปบังคลาเทศ

** ปี 2019 ซูจีเดินทางไปกรุงเฮกเพื่อเผชิญข้อกล่าวหารัฐบาลพม่ากระทำการล้างเผ่าพันธุ์ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยเธอยอมรับว่าอาจมีการก่ออาชญากรรมสงคราม แต่ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิบัติการทางทหารต่อผู้ก่อการร้าย ซึ่งถือว่ามีความชอบธรรม

** ปี 2020 ผลสำรวจของกลุ่มติดตามการเลือกตั้ง พีเพิลส์ อัลไลแอนซ์ ฟอร์ เครดิต อิเล็กชันส์ พบว่า ประชาชน 79% ยังไว้ใจและรักซูจี เทียบกับ 70% ในปี 2019

** ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการชี้ว่า พรรครัฐบาลของซูจีได้ที่นั่งในสภาพอจัดตั้งคณะบริหารชุดใหม่ ซึ่งเอ็นแอลดีประกาศว่า จะเป็นรัฐบาลเพื่อการปรองดองแห่งชาติ

** ทว่า หลังจากโต้แย้งเรื่องผลการเลือกตั้งมานานหลายสัปดาห์ ในที่สุดช่วงเช้าตรู่วันจันทร์ (1 ก.พ.) ซูจี, ประธานาธิบดีวิน มิ้น และเจ้าหน้าที่อาวุโสในพรรครัฐบาลอีกหลายคน ได้ถูกกองทัพเข้าควบคุมตัวและพาออกจากบ้านพัก

(ที่มา : รอยเตอร์)

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1989

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1997

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น