MGR Online - รัฐบาลพม่าเตรียมกลับมานั่งโต๊ะเจรจา 4 กองกำลังพันธมิตรภาคเหนืออีกครั้งในมณฑลยูนนานของจีน หลังการพูดคุยแบบเผชิญหน้าอย่างเป็นทางการหยุดชะงักมากว่า 1 ปี ด้านสภารัฐยะไข่ผ่านญัตติถอดชื่อ AA ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้าย เปิดช่องให้สามารถพูดคุยกับรัฐบาลและกองทัพได้อย่างถูกกฎหมาย
ตัวแทนรัฐบาลพม่า และตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ มีโปรแกรมจะกลับมานั่งโต๊ะเจรจากันใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังสองฝ่ายพบกันแบบเป็นทางการครั้งสุดท้ายตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 และต้องหยุดชะงักไป อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19
“กำหนดการที่วางไว้ อยู่ระหว่างวันที่ 31 มกราคมถึง 3 กุมภาพันธ์ แต่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นวันใด” อู ละไหม่ กูน ชา 1 ในคณะประสานงานการเจรจาสันติภาพ (Peace-talk Creation Group : PCG) บอกกับสำนักข่าว DMG (Development Media Group)
สำหรับสถานที่เจรจานั้น เดิมฝ่ายรัฐบาลได้เสนอว่าไม่เป็นที่เมืองมิตจีน่า รัฐคะฉิ่น ก็เป็นในเมืองเชียงตุง รัฐชานตะวันออก แต่ผู้นำพันธมิตรภาคเหนือทุกคนต่างปฏิเสธ โดยเห็นพ้องกันว่าต้องพูดคุยกันในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 รัฐบาลได้ส่งร่างสัญญาหยุดยิง 2 ฝ่าย เพื่อให้ผู้นำกองทัพของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือได้พิจารณาแล้ว
กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเป็นการร่วมตัวกันของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ได้แก่กองทัพอาระกัน (AA) กองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพโกก้าง (MNDAA) เป็นกลุ่มที่สู้รบกับกองทัพพม่าต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือสุดของรัฐชาน ลงมาถึงรอยต่อระหว่างรัฐชานกับภาคมัณฑะเลย์
การสู้รบที่รุนแรงและถูกเผยแพร่เป็นข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง เริ่มเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อพันธมิตรภาคเหนือได้ใช้อาวุธหนักโจมตีโรงเรียนนายร้อยเทคนิค ของกองทัพพม่า ในเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ และวางระเบิดสะพานก๊กตวิน ในหุบเขาก๊กเทค เมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐชาน จากนั้นได้เกิดการสู้รบต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ขึ้นไปถึงเมืองแสนหวี จังหวัดล่าเสี้ยว เมืองก๊ตขาย จังหวัดหมู่เจ้ มีการวางระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลง ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองแสนหวีกับด่านชายแดนชิงส่วยเหอ เขตปกครองตนเองโกก้าง
การสู้รบครั้งนั้น กระทบต่อการค้าขายระหว่างจีนและพม่าโดยตรง เพราะเส้นทางขนส่งสินค้าหลักที่ซื้อขายกันผ่านด่านชายแดนหมู่เจ้และชิงส่วยเหอถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้จีนต้องออกมาแสดงบทบาทเป็นตัวกลางให้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลพม่ากับผู้นำพันธมิตรภาคเหนือ
ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ (NRPC) เป็นตัวแทนรัฐบาลจัดประชุมอย่างเป็นทางการกับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ 3 ครั้ง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และหาหนทางนำไปสู่สันติภาพที่ถาวร
การประชุม 2 ครั้งแรกจัดในปลายเดือนสิงหาคมและปลายเดือนกันยายน 2562 ที่โรงแรมอเมซิ่ง เชียงตุง เมืองเชียงตุง รัฐชานตะวันออก การประชุมครั้งที่ 3 จัดในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จากนั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น และแพร่ออกไปยังอีกหลายเมืองของจีน ทำให้การเจรจาระหว่าง NRPC กับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือหยุดชะงักมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ไม่มีการเจรจากันนั้น 2 ใน 4 สมาชิกพันธมิตรภาคเหนือ ได้แก่ กองทัพอาระกัน (AA) และกองทัพตะอั้ง (TNLA) ยังคงมีการสู้รบกับกองทัพพม่าในหลายจุด พื้นที่สู้รบของ AA อยู่ในภาคเหนือของรัฐยะไข่และภาคใต้ของรัฐชิน ส่วนพื้นที่สู้รบของ TNLA อยู่ในเมืองก๊ตขาย จังหวัดหมู่เจ้ กับอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดส่าเสี้ยว รวมลงมาถึงเมืองกุ๊ต ภาคมัณฑะเลย์
เดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลพม่าได้ประกาศให้กลุ่ม AA เข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย ทำให้ AA กลายเป็นกลุ่มติดอาวุธนอกกฎหมาย มีผลให้ AA ไม่สามารถเจรจาอย่างเป็นทางการกับตัวแทนรัฐบาลพม่าได้
หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พันธมิตรภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ถอด AA ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย
ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนเป็นต้นมา AA และกองทัพพม่าได้ยุติการสู้รบกันอย่างไม่เป็นทางการ และเริ่มเปิดการเจรจากันอีกครั้ง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน
1 มกราคมปีนี้ AA ได้ปล่อยตัวประกัน 6 คน ประกอบด้วยผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรค NLD 3 คน ซึ่งถูกจับตัวไประหว่างลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม กับทหารอีก 3 นาย ที่ถูกจับไประหว่างการสู้รบในเมืองปะแลตวะ ภาคใต้ของรัฐชิน ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
ตัวประกันที่ถูกปล่อยออกมา เป็นผลจากการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ระหว่าง พล.อ.ทุน เมียต ไหน่ ผู้บัญชาการ AA กับ พล.ท.ยะ ปยี ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ ของกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม โดยทั้ง 2 ฝ่ายใช้เวลาในการพูดคุยกัน 35 นาที
วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา สภารัฐยะไข่ ได้ผ่านญัตติที่ให้ถอดชื่อ AA ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย เพื่อเปิดโอกาสให้ AA สามารถกลับเข้ามานั่งโต๊ะเจรจากับตัวแทนรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้อีกครั้ง โดยญัตตินี้จะถูกเสนอไปถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับหน้าที่ ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
ปัจจุบัน จึงเหลือเพียง TNLA กลุ่มเดียว ในสมาชิกพันธมิตรภาคเหนือที่ยังคงสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐชาน