xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นรัฐประหารโชยแรง! ผบ.สส.พม่าออกความเห็นยกเลิกรัฐธรรมนูญ หลังจี้รัฐสอบโกงเลือกตั้งยังนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าได้กล่าวถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าอาจมีการยึดอำนาจโดยกองทัพจากประเด็นปัญหาการโกงเลือกตั้ง

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพได้กล่าวหาว่ามีความผิดปกติอย่างกว้างขวางกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย

รัฐบาลพลเรือนอยู่ในข้อตกลงแบ่งปันอำนาจกับนายพลของกองทัพตั้งแต่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศในปี 2558 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ทหารร่างขึ้น

เมื่อวันอังคาร (26) โฆษกกองทัพไม่ได้ตัดความเป็นไปได้เรื่องการยึดอำนาจเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาระบุว่า เป็นวิกฤตทางการเมือง และในวันนี้ (28) พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย บุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดของพม่า ได้แสดงท่าทีที่ยิ่งย้ำความรู้สึกดังกล่าวในสุนทรพจน์ของเขาที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เมียวดีของกองทัพ

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 เป็นกฎหมายแม่สำหรับกฎหมายทั้งหมด และควรได้รับการเคารพ แต่เขาเตือนว่าในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ

ความคิดเห็นนี้มีขึ้นหลังกองทัพได้เรียกร้องซ้ำหลายครั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่าให้เปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

กองทัพระบุว่า รายชื่อดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจสอบความผิดปกติ และอ้างว่ามีการโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 8.6 ล้านคนทั่วประเทศ

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกคำแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แม้จะยอมรับว่าเห็นข้อบกพร่องในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งก่อน

“ไม่สามารถที่จะเป็นสถานการณ์การโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงเพราะข้อบกพร่องในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้” คำแถลงระบุ และว่าสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อสอบสวนได้

การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ของพม่า นับตั้งแต่ประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554

การลงสมัครเลือกตั้งเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจของซูจีในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 2558 ถูกควบคุมโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางประการ เช่น บทบัญญัติที่ระบุห้ามพลเมืองที่สมรสกับชาวต่างชาติทำหน้าที่ประธานาธิบดี

ซูจี ที่สมรสกับชาวอังกฤษ ได้หลบเลี่ยงบทบัญญัติดังกล่าวหลังชนะการเลือกตั้งปี 2558 ด้วยการทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตำแหน่งผู้นำโดยพฤตินัยที่รัฐบาลของเธอสร้างขึ้น จากนั้นพรรค NLD ยังผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยแรกของรัฐบาล กระบวนการที่ไม่ค่อยคืบหน้านัก

โซ มี้น อ่อง นักวิเคราะห์การมืองกล่าวว่า กองทัพเห็นช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดความเสียหาย คำพูดเรื่องการรัฐประหารไม่ได้เป็นเพียงแค่คำขู่

“แม้จะไม่ได้ยึดอำนาจแบบสมบูรณ์ แต่ก็มีแนวโน้มที่ทหารจะดำเนินการบางอย่าง เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลจะแก้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งนี้” โซ มี้น อ่อง กล่าว

ซูจีไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยตรงถึงข้อร้องเรียนของทหารเรื่องการเลือกตั้ง

ครั้งสุดท้ายที่พม่ามีการเพิกถอนรัฐธรรมนูญคือปี 2505 และ 2531 ที่ทหารเข้ายึดอำนาจและปกครองโดยรัฐบาลทหาร.


กำลังโหลดความคิดเห็น