เมืองไทย 360 องศา
สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้ ยังคงมีความอึมครึม แต่ขณะเดียวกัน ยังไม่ถึงขั้นสับสนอลหม่านมากนัก หลังจากกองทัพที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อการรัฐประหารขับไล่รัฐบาล นางอองซาน ซูจี ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และเท่าที่รับทราบจากรายงานข่าวต่างๆ ที่พอรวบรวมได้ในเวลานี้ อำนาจบริหารสูงสุด ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อยู่ในมือของเขาอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นช่วงเวลาไหน
สำหรับรูปแบบของการบริหารภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่านี้ จะเป็นลักษณะ “คณะกรรมการ” ที่เรียกว่า “คณะมนตรีปกครองแห่งรัฐ” จำนวน 11 คน มี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำ
ในการแถลงผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของกองทัพ ที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ย้ำว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ “เป็นไปตามกฎหมาย” หลังจากรัฐบาลไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง
“หลังจากข้อเรียกร้องมากมาย วิธีนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประเทศ และนั่นคือเหตุผลที่เราต้องเลือกวิธีนี้” เพจเฟซบุ๊กทางการของกองทัพเมียนมา อ้างคำกล่าวของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสำหรับหลายคนที่ต้องการทราบว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ผู้นำโดยพฤตินัยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายนั้น มีชะตากรรมเช่นไร ซึ่งตามข่าวบอกว่า เธอพร้อมทั้งประธานาธิบดี วิน มิ้น ถูกทหารบุกเข้าควบคุมตัวในบ้านพักที่กรุงเนปิดอว์ ตั้งแต่เมื่อเช้ามืด วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี คนสำคัญหลายสิบคน แต่ก็มีรายงานว่าเธอและทุกคนปลอดภัยดี
สิ่งที่คนเมียนมาหรือพม่า และทั่วโลกกำลังจับตามองว่า จะเดินไปในเส้นทางไหน การเมืองของเมียนมาจะย้อนกลับเข้าสู่เส้นทางเผด็จการเหมือนในอดีตหรือไม่ แม้ว่าแน่นอนแล้วว่าไม่ว่าฝ่ายทหารจะอ้างว่าเป็นการ “ยึดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” หรือตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อรูปแบบอย่างที่เห็นมันก็คือ “เผด็จการ” แต่จะ “แบบไหน”
แน่นอนว่าหากให้พิจารณาเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างการยึดอำนาจในยุคของ พล.อ.เนวิน ในราวปี 2505 ที่ถือว่าโหดเหี้ยมนองเลือด มาจนถึงยุคของนายพลตานฉ่วย ที่แม้ว่าจะเบาลงกว่าเดิม แต่ก็ถือว่า “โหดเอาการ” แต่ก็มีการเปิดแง้มประเทศ และนำมาสู่การมีรัฐบาลบริหารประเทศนำโดย ประธาธิบดี เต็งเส่ง ที่เริ่มผ่อนปรน และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญตามแบบทหารพม่า และนำมาสู่การเลือกตั้ง จนพรรคเอ็นแอลดี ของ นางอองซาน ซูจี ชนะถล่มทลายได้เป็นรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี จนกระทั่งมาถึงยุคการเลือกตั้งครั้งที่สอง ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ยังชนะอีก
แต่คราวนี้ฝ่ายกองทัพไม่ยอมรับอ้างว่ามี “โกงเลือกตั้ง” จนอ้างเป็นสาเหตุการณ์ยึดอำนาจในที่สุด!!
สำหรับ “นายพล มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำคนใหม่ของพม่าคนนี้ สำหรับคนไทยเริ่มคุ้นชื่อมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้ง “เทปหลุด” สนทนากัน ที่อ้างว่าเป็นเสียงของ อดีตรัฐมนตรีช่วยกลาโหมของไทย ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อหลายปีก่อน ที่ทางฝ่ายทักษิณต้องการ “ตีสนิท” เพื่อหาประโยชน์
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายพลพม่าผู้นี้ ยังรับรู้กันว่าให้ความเคารพนับถือ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นอย่างมาก โดยถือว่าเป็น “ลูกบุญธรรม” เลยทีเดียว
แต่เอาเป็นว่านับจากนี้สำหรับเส้นทางของเมียนมา หรือพม่า และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเป็นแบบไหน แต่ไม่มีทางเหมือนเดิม แต่ที่ต้องพิจารณาก็คือ “ไม่น่าจะซ้ำรอยเผด็จการยุคก่อน” และเชื่อว่า เป้าหมายหลักก็คือการกำจัดรัฐบาลของ นางอองซาน ซูจี เป็นอันดับแรก ส่วนการบริหารแม้ว่าจะเป็นแบบ “คณะทหาร” แต่จะไม่มีการปิดประเทศ เพราะหากสังเกตจะเห็นว่า เวลานี้การบริหารจัดการยังดำเนินไปตามเกือบปกติ แม้ว่าจะมีการปิดชายแดนกับไทย ก็เพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
อีกทั้งการยึดอำนาจคราวนี้ก็ “ไม่มีการนองเลือด” บรรยากาศในเมืองหลวงเนปิดอว์ และ ย่างกุ้ง เมืองเศรษฐกิจสำคัญ ก็ยังเป็นปกติ ระบบการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ก็กลับมาใช้การได้แล้ว แม้ว่ายังมีความอึมครึมมีประชาชนบางส่วนมีความไม่พอใจ แต่ก็ยังไม่มีการออกมาประท้วงตามท้องถนน มีแต่ข่าวเรื่องการอารยะขัดขืนของคนบางกลุ่ม แต่สถานการณ์โดยรวม ถือว่ายังปกติ
รวมไปถึงข่าวคราวอีกด้านหนึ่งที่ระบุว่า ทางกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนก็ไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล นางซูจี นั่นคือ มี “คนเกลียด” ก็ไม่น้อย ขณะที่ทางฝ่ายตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ ออกโรงประณามแทบจะในทันที พร้อมขู่ตัดความช่วยเหลือ และคว่ำบาตร แต่คำถามก็คือ ผู้นำกองทัพเขา “โดนจนชิน” แล้ว เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็คว่ำบาตร นายพลมิน อ่อง หล่าย มาตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญาแล้ว อีกทั้งความช่วยเหลือก็ถือว่าน้อยนิด แทบจะไม่มีความหมาย
แต่ที่น่าจับตาก็คือ ทางฝ่ายจีน ที่ออกคำแถลงผ่านทางสื่อของรัฐ เรียกการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “แค่ปรับคณะรัฐมนตรี” เท่านั้น และไม่ร่วมประณามไปกับพวกประเทศตะวันตก ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอาเซียนก็วางเฉย อ้างหลักที่ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น”
ดังนั้น หากให้พิจารณาตามสถานการณ์แล้ว เส้นทางของเมียนมา ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของ นายพลมิน อ่อง หล่าย น่าจะออกมาในรูปแบบการบริหารคล้ายๆ กับ “คสช.” ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอดีต แม้ว่าที่มา เหตุผลและรายและเอียดจะต่างกันมากก็ตาม อย่างน้อยก็ภายใต้ระยะเวลา 1 ปี ก็คงจะมีการจัดระเบียบใหม่ พร้อมกับ “บอนไซ” นางซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ไปเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อชัวร์แล้วค่อยเลือกตั้ง กลับมาตามเส้นทางประชาธิปไตย
แม้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะหนักหนาสาหัสกับการคว่ำบาตรของตะวันตก แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังมีจีนที่ไม่ร่วมประณาม ยังพร้อมแตะมือและอาจรวมถึงมหาอำนาจรัสเซียด้วย อีกทั้งยังมีไทย และประเทศในอาเซียนที่สงวนท่าที ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว การบริหารของคณะทหารเมียนมา ก็น่าจะใกล้เคียงกับ “คสช.” ของไทยในอดีตนั่นแหละ ในแบบที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน เราจะทำตามสัญญา” (หรือเปล่า) !!