หลังจากเข้ายึดอำนาจได้เด็ดขาดผู้นำกองทัพพม่าและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ประชุมนัดแรกวันอังคารที่ผ่านมา โดยเรียกคณะผู้บริหารว่าสภาสูงสุดซึ่งครอบคลุมทุกกระทรวง
การยึดอำนาจครั้งนี้เกิดจากความรู้สึกเสียหน้าที่พรรคการเมืองยูเอสดีพีพ่ายแพ้การเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเพียง 33% ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีได้มากถึง 83%
สถานการณ์โดยรวมดูเหมือนจะเป็นใจให้กับคณะรัฐประหารเพราะความพยายามที่จะควบคุมความสงบยังไม่เผชิญกับการต่อต้านมาก เพราะมีประกาศห้ามออกนอกบ้านเวลากลางคืน
มีการรณรงค์ในกลุ่มประชาสังคมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารผ่านโซเชียล มีเดียต่างๆ เช่น Facebook แพทย์ บุคลากรของโรงพยาบาล 70 แห่งทั่วประเทศ สถานพยาบาล ได้ประท้วงด้วยการหยุดงานและผูกโบสีดำ
ประชาชนบีบแตรรถยนต์บนท้องถนน และเคาะหม้อถังกะละมังเป็นการร่วมประท้วง
ต้องดูว่าการกระทำอย่างนี้จะทำให้กองทัพมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้กระแสต่อต้านลุกลามไปเป็นการเดินขบวนบนถนน ก็จะทำให้ควบคุมลำบาก
คำถามที่จะรบกวนรัฐบาลทหารพม่าจากนี้ไปก็คือ จะสามารถรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะอยู่บริหารประเทศเพียงหนึ่งปีได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเวลาที่สั้นเกินไปจนอาจไม่สามารถแสดงฝีมือการบริหารจัดการให้ประชาชนพอใจได้
นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่จะต้องซบเซาและถดถอย อันเป็นผลกระทบจากการขาดการลงทุนแล้ว ประเทศพม่ายังเผชิญกับการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเด็ดขาด
ถ้าต้องการจะเบี้ยว ไม่รักษาคำมั่นในการคืนอำนาจให้กับพลเรือนก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากนัก เพราะย่อมหาเหตุมาอยู่ในอำนาจต่อได้โดยอ้างปัญหาความมั่นคงหรือเหตุอื่นเพราะฝ่ายกองทัพต้องเกรงเช่นกันว่า ถ้ามีการเลือกตั้งอีกรอบมีโอกาสที่จะพ่ายแพ้อีกเช่นกัน
นี่ถือว่ายังเป็นชัยชนะของคณะรัฐประหารเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติไม่สามารถผ่านญัตติประณามการยึดอำนาจของกองทัพพม่า เพราะตัวแทนของประเทศจีนใช้อำนาจวีโต้โดยอ้างว่าเป็นกิจการภายในของประเทศพม่า
เป็นการกระทำที่เสริมกับคำอ้างของคณะทหารพม่าว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพียงการปรับคณะรัฐมนตรีซึ่งตัวแทนกองทัพในกลุ่มทุกกระทรวง
ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงผ่านญัตติประณามโดยเป็นเอกฉันท์ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่มีอะไรต้องห่วงถึงจะมีมาตรการคว่ำบาตรโดยกลุ่มประเทศตะวันตกและชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
จากนี้ไปจะต้องดูว่าสหรัฐอเมริกาและเครือข่ายกลุ่มประเทศยุโรป จะมีมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการผลักดันให้พม่าเข้าไปพึ่งพาประเทศจีนมากขึ้นกว่าเดิมในแง่ของการเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าสินค้า
ประเด็นที่ยังกังวลก็คือการลงทุนจากต่างประเทศจะหดหายไป เพราะที่ผ่านมาสิงคโปร์เป็นกลุ่มลงทุนมากที่สุดถึง 36% รองลงมาคือฮ่องกงที่ 24% ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังหาช่องทางที่จะเข้าไปลงทุน แต่เมื่อมีการรัฐประหารก็ต้องทบทวนแผนทั้งหมด
กองทัพพม่าอาจจะมั่นใจว่าจะอยู่ได้แม้จะถูกคว่ำบาตรโดยนานาประเทศเพราะก่อนหน้านี้ก็เคยปิดประเทศนานถึง 50 ปีหลังจากการรัฐประหารในปี 1962 โดยรัฐบาลทหารนำโดยนายพลเนวิน
การลงจากอำนาจจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับผู้นำกองทัพ แม้จะยังอยู่ได้อีกหลายปีตามสภาพของอายุขัย ซึ่งจะทำให้การอยู่รอดเป็นไปได้เพราะแทบไม่ต้องพึ่งการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ และยังสามารถทำการค้าชายแดนกับประเทศไทยและจีนได้โดยไม่ลำบาก
การรัฐประหารจึงถูกมองว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ส่วนตน และเฉพาะกลุ่มของผู้นำทหารเพราะมีกิจการด้านพาณิชย์การค้า การลงทุนเป็นเงินอย่างมากมาย ซึ่งยังรอดพ้นจากการตรวจสอบ
ถ้าจะรักษาสัญญาด้วยการคืนอำนาจก็ต้องปรับเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้งและระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคณะทหารอย่างเช่นรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ให้กองทัพมีเสียงในสภา 25% และควบคุมกระทรวงกลาโหมมหาดไทยและชายแดน
ชะตากรรมของคณะรัฐมนตรีชุดเดิมภายใต้การนำของนางออง ซานซูจียังไม่เป็นที่ทราบชัดหลังจากมีข่าวว่าถูกคุมตัวอยู่ในเมืองหลวงใหม่กรุงเนปิดอว์ และยังไม่ทราบว่าฝ่ายกองทัพจะปล่อยตัวออกมาเมื่อไหร่
นางอองซาน ซูจีเคยถูกกักบริเวณไว้ในบ้านพักของตัวเองนานถึง 15 ปี ดังนั้นนางอองซาน ซูจีและแกนนำคนอื่นๆ อาจจะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพราะรัฐบาลทหารไม่ต้องการให้คนเหล่านี้เป็นผู้นำการต่อต้านของประชาชน
ชะตากรรมของประชาชนพม่าจึงขึ้นอยู่กับสภาพหนึ่งปีจากนี้ไป และรอดูว่าชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ จากนั้นจะรอดูว่าคณะผู้นำทหารจะรักษาสัญญาเรื่องคืนอำนาจให้กับกระบวนการประชาธิปไตยภายในหนึ่งปีหรือไม่