กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะดำเนินการทบทวนความช่วยเหลือต่างชาติที่พวกเขามอบให้แก่พม่า หลังสรุปแล้วว่าการเข้ายึดอำนาจของกองทัพในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เข้าองค์ประกอบของ "รัฐประหาร" ขณะที่แกนนำระดับสูงสุดสภาคองเกรสเรียกร้องให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรบรรดาผู้นำทหารของพม่าหนักหน่วงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขู่คว่ำบาตรรอบใหม่เล่นงานเหล่านายพลที่ยึดอำนาจในพม่า และควบคุมตัวบรรดาผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหลายคน ในนั้นรวมถึงนางอองซานซูจี อดีตเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันจันทร์(1ก.พ.)
ระหว่างแถลงสรุปกับพวกผูุ้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าวอชิงตันยังไม่ได้ติดต่อโดยตรงบรรดาผู้นำรัฐประหารในพม่า หรือเหล่าผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกขับไล่
ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ คำประเมินว่าเป็น "รัฐประหาร" จะนำมาซึ่งการกำหนดข้อจำกัดด้านการช่วยเหลือของสหรัฐฯโดยอัตโนมัติ แต่พวกเจ้าหน้าที่บอกว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในนั้นรวมถึงที่มอบแด่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในพม่า และโครงการต่างๆที่สนับสนุนประชาธิปไตยหรือเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาสังคม จะเดินหน้าต่อไป
"นอกเหนือจากนี้ เราจะทบทวนอย่างกว้างขวางต่อโครงการช่วยเหลือต่างๆของเรา เพื่อรับประกันว่าพวกมันจะมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อเร็วๆนี้" เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุ
เจ้าหน้าที่เผยด้วยว่าสหรัฐฯจะดำเนินการทวนมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อบรรดาผู้นำทหารของพม่าด้วย เช่นเดียวกับบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้รายงานสรุปแก่คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฏรและคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาในวันจันทร์(1ก.พ.) เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า แต่ยังไม่ได้พูดคุยล่วงหน้าเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯบอกกับคณะกรรมาธิการฯด้วยว่ากำลังพยายามทำงานร่วมกันพันธมิตรในยุโรปและเอเชีย ที่สามารถติดต่อพูดคุยกับกองทัพพม่า แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
คำแถลงทบทวนความช่วยเหลือแก่พม่าและความเป็นไปได้ที่จะมีการคว่ำบาตรรอบใหม่ มีขึ้นในขณะที่ มิตช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำของรีพับลิกันในวุฒิสภา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ ซูจี ระบุในถ้อยแถลงในวันอังคาร(2ก.พ.) เรียกร้องให้สหรัฐฯ หาทางคว่ำบาตรบรรดาผู้นำทหารของพม่าหนักหน่วงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในนั้นรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะคว่ำบาตรผ่านสหประชาชาติ
เสียงเรียกร้องของ แม็คคอนเนลล์ สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของสหประชาชาติ ที่เร่งเร้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร(2ก.พ.) ให้ร่วมกันส่งสารที่ชัดเจนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า ในขณะที่ 15 ชาติสมาชิกขององค์การกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกถ้อยแถลงประณามเหตุรัฐประหารเมื่อวันจันทร์(1ก.พ.)
คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่า กล่าวสรุปต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประชุมลับ หลังทหารพม่าควบคุมตัวนางอองซานซูตีและคนอื่นๆ ตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาอ้างว่า "โกงการเลือกตั้ง" และส่งมอบอำนาจแก่นายพลมิน อ่อง หล่าย พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปีและให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่
"ฉันขอประณามอย่างแข็งกร้าวต่อก้าวย่างของกองทัพเมื่อเร็วๆนี้ และเรียกร้องให้พวกคุณทุกคนร่วมกันส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า" ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์กล่าว "จงส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆนี้ คือชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และไม่ควรเห็นด้วยกับข้อเสนอของกองทัพในการจัดเลือกตั้งอีกครั้ง"
ความเห็นของ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ มีขึ้นในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำลังเจรจาเกี่ยวกับการออกถ้อยแถลงที่ร่างโดยสหราชอาณาจักร ซึ่งจะประณามการรัฐประหาร เรียกร้องกองทัพพม่าเคารพหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน รวมถึงปล่อยตัวบรรดาผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในทันที อย่างไรก็ตามถ้อยแถลงดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์
จีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย เคยปกป้องพม่าจากความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังเกิดเหตุทหารเข้าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คน ต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติและชาตะวันตกกล่าวหากองทัพพม่ากำลังฆ่าล้างเผาพันธุ์ แต่พวกเขาปฏิเสธ
(ที่มา:รอยเตอร์ส)